‘Bed Bath & Beyond’ ขายหุ้นเพิ่มทุน 7.5 พันล้านบาท เพื่อระดมทุน หนีล้มละลาย

‘Bed Bath & Beyond’ ขายหุ้นเพิ่มทุน 7.5 พันล้านบาท เพื่อระดมทุน หนีล้มละลาย

เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ ค้าปลีกสัญชาติอเมริกัน ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 225 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.425 พันล้านบาท) หลังเผชิญปัญหายอดขายทรุดตัว ขาดแคลนกระแสเงินสด และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ด้านนักวิเคราะห์ชี้ทุนที่ได้มาอาจอยู่ได้ไม่กี่ไตรมาส

 

Key Points:

  • เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 225 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.425 พันล้านบาท) และอาจเพิ่มอีก 800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.64 หมื่นล้านบาท) ในอีก 10 เดือน
  • ซีอีโอบริษัทลงทุนสัญชาติอังกฤษชี้เงินทุนที่ได้มาจากการระดมทุนดังกล่าวอาจอยู่ได้ไม่กี่ไตรมาส และบริษัท อาจกลับมาสู่สภาพเดิม 
  • ด้านนักวิเคราะห์ไม่แปลกใจที่เมื่อวาน (7 ก.พ.) หุ้นของบริษัท ย่อตัวลงถึง 49% เพราะที่ผ่านมาก็ผันผวนจากข่าวมากมาย จนนักลงทุนขนานนามว่า ‘หุ้นมีม’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา  เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ หรือ BBBY บริษัทค้าปลีกเครื่องเรือน และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านราคาย่อมเยา สัญชาติอเมริกัน ประกาศต่อสาธารณะว่า บริษัท กำลังเผชิญกับปัญหายอดขายทรุดตัว ขาดแคลนกระแสเงินสด และมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนกระทั่งราคาหุ้นของบริษัท ในตลาดหุ้นนิวยอร์กขณะนั้นดิ่งลงมากถึง 30% 

ต่อมา เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ ระบุต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (ก.ล.ต.) ว่า กังวลกับทิศทางของบริษัทในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น การเข้ามาในตลาดออนไลน์ของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่อย่าง วอลมาร์ท และ ทาร์เก็ต รวมถึงแอมะซอน อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของสหรัฐ 

ล่าสุด (8 ก.พ.) ฮัดสัน เบย์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นแองเจิล อินเวสเตอร์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนปิดการซื้อขายว่า เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ ได้ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 225 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.425 พันล้านบาท) และอาจประกาศเพิ่มอีก 800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.64 หมื่นล้านบาท) ในอีก 10 เดือน สาเหตุหลักคือ เพื่อป้องกันการเข้าสู่สภาวะล้มละลาย

ทั้งนี้ บริษัทระบุว่า มีแผนที่จะระดมทุนจาก ‘คอมเพล็กซ์ดีล’ เพื่อระดมทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านการขายหุ้นบุริมสิทธิ และขายใบสําคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนท์)

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์ ประเมินว่า กระแสเงินสดที่บริษัท ได้มาจากการประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้อาจอยู่ได้เพียงไม่กี่ไตรมาส ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ ทั้งยังผันผวนอาจลดโอกาสที่บริษัทฯ จะฟื้นกลับมาเติบโตแบบเดิมได้

ด้าน โรเบิร์ต กิลลีแลนด์ ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) คอนเซนเจอร์ เวลท์ แมเนจเมนท์ บริษัทให้คำปรึกษาทางการเงิน สัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า  “เงินทุนจากการประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นเหมือน ‘ผ้าพันแผล’ แบบชั่วคราว แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้งบแสดงฐานะการเงิน (บาลานซ์ชีท) ของบริษัท กลับมาสดใสได้”

 

“ปัญหาคือ ผมมองว่าบริษัท อาจไม่สามารถฟื้นกลับมาเหมือนเดิมได้ด้วยซ้ำ”

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข้อมูลในจดหมายจากบริษัท ถึงซัพพลายเออร์ ว่า ซู โกฟ ประธานบริหารบริษัท พยายามลดความกังวลเรื่องการเลิกจ้างพนักงาน ด้วยการระบุในจดหมายว่าการประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จะพลิกโฉมบริษัท ให้ไปในทางที่ดีอีกครั้ง และให้สัญญาว่าจะเปิดพื้นที่สำหรับการพูดคุยในอนาคต 

 

‘Bed Bath & Beyond’ ขายหุ้นเพิ่มทุน 7.5 พันล้านบาท เพื่อระดมทุน หนีล้มละลาย ซู โกฟ ประธานบริหารคนปัจจุบันของบริษัทเบด บาธ แอนด์ บียอนด์

 

“บริษัท หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถริเริ่มกลยุทธ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปรับใช้ในปีงบประมาณ 2566 ให้ได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทรานส์ฟอร์มบริษัท ต่อไป”

ด้านดีลเลอร์ของเบด บาธ แอนด์ บียอนด์ 2 แห่งระบุว่า กังวลกับสถานการณ์ทางการเงินของบริษัท และได้สื่อสารความกังวลดังกล่าวกับตัวแทนบริษัท มาตั้งแต่เกิดปัญหาในช่วงเดือนม.ค. โดยทางเบด บาธ แอนด์ บียอนด์ได้ขอชะลอการจ่ายเงินออกไป และบางครั้งก็ระงับการจ่ายเงินด้วย

หนึ่งในบริษัทดีลเลอร์ผลิตเสื้อผ้าเด็กให้บริษัทดังกล่าว กล่าวว่า “ทุกบิลล์ตอนนี้ต้องหยุดชะงักไปก่อน” พร้อมเสริมว่าได้หยุดส่งสินค้าไปให้เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ มาตั้งแต่ม.ค.แล้ว เพราะจ่ายเงินช้ามาก

ด้านเบด บาธ แอนด์ บียอนด์ยังไม่ตอบรับการขอสัมภาษณ์ในประเด็นข้างต้น

  • ภาวะหุ้น ‘เบด บาธ’ ในช่วงที่ผ่านมา

เว็บไซต์อินเวสติงดอทคอม ให้ข้อมูลภาวะหุ้น BBBY วันนี้ เวลา 10.00 น.  ปรับตัวลดลง 2.85 ดอลลาร์ (ประมาณ 94.05 บาท) หรือ 48.63% มาอยู่ที่ 3.01 ดอลลาร์ (ประมาณ 99.33 บาท) อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ หุ้นดังกล่าวขยับตัวขึ้น 3% ในช่วงเวลาซื้อขายแบบต่อขยาย ก่อนมาปิดตัวลบ 49%

คริส โบชอง นักวิเคราะห์ตลาดทุนอาวุโส จากไอจี บริษัทให้บริการด้านธุรกิจ และการลงทุน สัญชาติอังกฤษ กล่าวว่า “เหมือนระยะเวลาซื้อขายต่อขยายสั้นๆ ตรงนั้นจะช่วยชีวิตเบด บาธไว้แต่หลังจากนั้นไม่นานหุ้นก็ร่วงลงมาอย่างหนักเช่นเดิม” 

 

“จริงๆ ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น BBBY ผันผวนไปมาอย่างมากอยู่แล้ว จนหลายคนเรียกว่าเป็น ‘หุ้นมีม’ "

 

หรือหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาอันสั้น และปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นผมว่ามันไม่แปลกที่ข่าวปัญหาด้านการเงินของบริษัท จะทำให้ราคาหุ้นร่วงลงเกือบครึ่งหนึ่ง”

 

‘Bed Bath & Beyond’ ขายหุ้นเพิ่มทุน 7.5 พันล้านบาท เพื่อระดมทุน หนีล้มละลาย กราฟแสดงมูลค่าตลาดของบริษัท เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ โดยระบุบางช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญต่อราคาหุ้น

 

หากวิเคราะห์ภาวะหุ้น BBBY ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ราคาหุ้นผันผวนในลักษณะปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนกระทั่งปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% จากการที่ไรอัน โคเฮน นักลงทุนแบบแอคทิวิสท์ หรือนักลงทุนที่ใช้ประโยชน์จากสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทที่ตัวเองลงทุนเพื่อสร้างแรงกดดันต่อฝ่ายบริหารจัดการขององค์กรโดยมีเป้าหมายมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรนั้น ประกาศว่าครอบครองหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่ราว 10%

โดยมีสถานการณ์หลักอยู่ประมาณ 4 ครั้ง คือ ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ไรอัน โคเฮน ประกาศว่ามีหุ้นในครอบครองในเดือนมี.ค. อีกประมาณ 4 เดือนถัดมา ราคาหุ้นดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นราว 30% จนนักวิเคราะห์แนะนำให้ ‘ชอร์ตควีซ’ จากนั้นราคาหุ้นจึงปรับตัวลดลงอีกครั้งเนื่องจากไรอัน โคเฮน เริ่มทยอยขายหุ้นในปลายเดือนส.ค. และหุ้นก็ดิ่งลงอีกรอบเมื่อบริษัทประกาศต่อ ก.ล.ต.สหรัฐ ว่า กำลังประสบกับปัญหาทางการเงิน

อนึ่ง เหตุการณ์ของบริษัท เบด บาธ แอนด์ บียอนด์ เริ่มเลวร้ายตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2565 ที่สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า กัสตาโว อาร์แนล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) ของบริษัท พลัดตกจากอาคารไทรเบกา ณ เกาะแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเชื่อว่าเขาจงใจจบชีวิตตัวเองลงเนื่องจากไม่กี่วันก่อนหน้านั้นเบด บาธ แอนด์ บียอนด์ ประกาศปิดสาขา 150 แห่ง และปลดพนักงานจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินของบริษัท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์