บอร์ดอีวีเผยมาตรการหนุนแบตเตอรี่ไฟฟ้าสะดุด

บอร์ดอีวีเผยมาตรการหนุนแบตเตอรี่ไฟฟ้าสะดุด

บอร์ดอีวีเผยมาตรการหนุนแบตเตอรี่ไฟฟ้าสะดุด หลังแนวคิดการส่งเสริมยังมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างกระทรวงการคลังที่ต้องการอุดหนุนด้านภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ทันทีกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการให้มีการตั้งโรงงานผลิตก่อน ทำให้การพิจารณามาตรการยังไม่คืบหน้า

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติระบุ มาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศอาจจะสะดุดลง จากแนวคิดในระดับนโยบายของกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า 

“หลังจากที่ ครม.เมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้วได้มีมติอนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้อีวีในประเทศ โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวจะต้องมาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย  มาตรการต่อมาที่ถือเป็นหัวใจของ การเปลี่ยนผ่านจากการเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ  ก็คือ การต้องมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพราะแบตเตอรี่ ถือเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งมาตรการส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ควรจะต้องออกมาแล้วตั้งแต่ต.ค.ปีที่แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ความแตกต่างทางความคิดระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงการคลัง คือกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดต้องการให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยก่อน จึงจะได้รับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล  ขณะที่ ฝั่งของกระทรวงการคลัง ต้องการใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า กล่าวคือ ในระยะแรก เป็นการสนับสนุนให้นำเข้าด้วยการลดภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เหลือ 0% จากปัจจุบันอยู่ที่ 8% และมาตรการให้เงินอุดหนุนโดยตรงต่อแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละลูก โดยแบตเตอรี่ที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูง จะได้รับเงินอุดหนุนมากกว่า ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่า เพื่อให้ราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต่ำลงเพื่อสร้างดีมานด์ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพราะราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นมากกว่า 50 % ของราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ มีเงื่อนไขว่า จะต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยในปีที่สามของมาตรการ จะต้องมีการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนสองเท่าของการนำเข้าที่ผ่านมา และปีที่สี่จะต้องผลิตเพิ่มเป็นสามเท่า

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์อีวีภายในประเทศ เพราะหากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไม่เกิดขึ้นในประเทศหรือเกิดขึ้นช้า เราอาจเสียโอกาสให้กับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น  ซึ่งการจะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จะต้องขึ้นอยู่กับดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ  โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด 8 -16 กิกะวัตต์ชั่วโมง ( GWH) จะต้องมีดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้า มากกว่าแสนคันต่อปีขึ้นไป เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ขณะที่ ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ณ เดือนม.ค.ที่ผ่านมานี้อยู่ที่ 3.7 หมื่นคัน

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ  ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ เป็นประเทศ ในการตัดสินใจที่จะผลักดันมาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 โดยมีสาระสำคัญ คือรถยนต์อีวีที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท  กรณีเป็นรถยนต์นำเข้าจะได้รับการลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40% ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 ,ลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 2% จากปกติ 8% ตั้งแต่ปี 2565 ถึง  2568 และได้รับเงินอุดหนุนราคารถยนต์อีวีจากรัฐบาล 2565 ถึง 2568 โดยในกรณีรถยนต์อีวีที่มีแบตเตอรี่ขนาดไม่เกิน 30  KWH จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 7 หมื่นบาท และรถยนต์อีวีที่มีขนาดแบตเตอรี่ มากกว่า 30 KWH ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท

ส่วนรถยนต์อีวีที่มีราคาขายมากว่า 2 ล้านบาทถึง 7 ล้านบาท จะได้ลดภาษีนำเข้าโดยอัตราสูงสุดไม่เกิน20% ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 และลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 2% จากปกติ 8% ตั้งแต่ปี 2565 ถึง2568

ส่วนรถยนต์กระบะอีวีที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 0% และอุดหนุนราคารถยนต์คันละ 150,000 บาท กรณีที่ผลิตในประเทศและมีขนาดแบตเตอรี่  30 KWH ขึ้นไป ตั้งแต่ปี2565 ถึง 2568