เงินบาทต้นปีกระต่าย “กระโดดแข็งค่า”…สัญญาณบอกอะไร?

เงินบาทต้นปีกระต่าย “กระโดดแข็งค่า”…สัญญาณบอกอะไร?

วันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงได้เดินทางไปท่องเที่ยวหรือพักผ่อนกับครอบครัวเพื่อรีชาร์จพลังกันมาพอสมควรนะครับ ผมสังเกตเห็นรถติดมากขึ้น ห้างร้านต่างๆ คึกคักมากขึ้น ผมก็รู้สึกดีใจ และมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะไปได้สวยเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้

อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องยอมรับว่าปี 2566 ยังเต็มไปด้วยความท้าทายอยู่มาก ล่าสุดประเด็นที่สร้างความกังวลให้หลายฝ่ายอีกครั้งคือ เงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 10 เดือน ทั้ง ๆ ที่ผมจำได้ว่าไม่กี่เดือนก่อนปีใหม่

ช่วงที่เงินบาทวิ่งอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ บางฝ่ายยังพูดกันอยู่เลยว่าอาจได้เห็นเงินบาททะลุ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความผันผวนของค่าเงินที่ยากจะคาดการณ์ ทั้งนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า เงินบาทที่แข็งค่าในรอบนี้น่าจะเป็นสัญญาณบอกอะไรได้บางอย่าง

•   สัญญาณบวก…ไทยกำลังเนื้อหอม จากเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวที่ Hot Hit ติดลมบนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาต่อเนื่อง จนหลายฝ่ายคาดว่าปีนี้อาจได้เห็นตัวเลข 25 ล้านคนไม่ยาก ล่าสุด Goldman Sachs คาดว่าไทยจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุดอันดับ 2 ของโลกจากการเปิดประเทศของจีน รองจากฮ่องกงเท่านั้น

ปัจจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ ไทยก็ยังเนื้อหอมในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติปี 2565 ที่ขยายตัว 36% นำโดยนักลงทุนจีนที่ก้าวขึ้นมาแซงนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

EXIM_name7

รวมไปถึงตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิครั้งแรกในรอบ6 ปีที่ราว 2 แสนล้านบาทในปี 2565 และซื้อสุทธิอีกราว 2 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2566 เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาทในครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2566

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าต่างชาติมีมุมมองเชิงบวกต่อไทยมากขึ้นในทุกมิติ ซึ่งผมก็หวังว่าเงินทุนดังกล่าวจะไม่ใช่เงินที่แค่มาพัก แต่เป็นเงินเย็นที่เข้ามาลงทุนระยะยาว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็น Regional Hub ของการระดมทุนและการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

• สัญญาณชะลอ…ของเงินเฟ้อ ต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีความแตกต่างจากเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วอยู่พอสมควร เพราะเงินเฟ้อไทยเกิดจากด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) เป็นหลัก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่ไทยต้องนำเข้าในสัดส่วนสูงกว่า 70% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมด

ทำให้นับจากนี้หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ประกอบกับราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานของไทยได้บางส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลงเร็วขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของแบงก์ชาติที่ 1-3% ในช่วงครึ่งหลังของปี ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนธันวาคม 2565 แม้จะยังวิ่งอยู่แถว ๆ 5% (y-o-y) แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) พบว่าลดลง 0.1% ซึ่งเป็นการลดลงเดือนที่สองติดต่อกันแล้ว

• สัญญาณสวนทาง…ของทฤษฎีอัตราดอกเบี้ยกับเงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% เทียบกับอินเดียที่ 6.25% เวียดนาม (6%) อินโดนีเซีย (5.5%) ฟิลิปปินส์ (5.5%) เกาหลีใต้ (3.5%)เป็นต้น 

ซึ่งตามทฤษฎีฯ แล้ว เมื่อเงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ หลัง Fed เริ่มปรับลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5% ในการประชุมเดือนธันวาคม 2565 จากก่อนหน้าที่ปรับขึ้นครั้งละ 0.75% ถึง 4 ครั้งติดต่อกัน เงินทุนน่าจะไหลเข้าตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐฯ หรือตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

แม้เงินทุนจะไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น แต่กลับไหลเข้าไทยมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ทั้งที่ไทยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายประเทศ เห็นได้จากเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5% แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กำหนดการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อาทิ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงิน อัตราเงินปันผลและคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
•  สัญญาณเตือน…ส่งออก แม้ในอดีตที่ผ่านมา เงินบาทที่แข็งค่าอาจไม่ได้ทำให้การส่งออกไทยหดตัวเสมอไป อย่างในปี 2559-2561 ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 10% แต่การส่งออกไทยก็ยังขยายตัวได้ 6% ต่อปี แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบรายได้ผู้ส่งออก (Income Effect) เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท

โดยเฉพาะ SMEs ที่ส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงก็อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (Price Effect) อย่างไรก็ตาม หากมองกลับกัน เงินบาทที่แข็งค่าในรอบนี้ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนอีกครั้งว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ส่งออกต้องเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบของ Income Effect ผ่านการซื้อ Forward Contract หรือ FX Options ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Price Effect โดยอาศัยจังหวะที่เงินบาทแข็งค่านี้นำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าให้มีจุดเด่นที่โดนใจผู้บริโภค เพื่อขายของที่ “ถูกใจ” มากกว่าขายของ “ราคาถูก” ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง และช่วยให้ผู้ส่งออกรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในทุกสภาวะค่าเงิน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความผันผวนและป้องกันความเสี่ยงด้วยวินัย ดังคำกล่าวของ Warren Buffet สุดยอดนักลงทุนของโลกที่ว่า “We do not have to be smarter than the rest, we have to be more disciplined than the rest” หรือเราไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าคนอื่น แต่เราต้องมีวินัยกว่าคนอื่น เพื่อที่จะได้เป็นผู้ชนะในโลกการค้าการลงทุนที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงแทบทุกวินาที 

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK