'ไทยวิวัฒน์ฯ' รุกประกันภัยส่วนบุคคล ดันเป้าเบี้ยรับปีนี้ 8 พันล้าน โต 10%

'ไทยวิวัฒน์ฯ' รุกประกันภัยส่วนบุคคล ดันเป้าเบี้ยรับปีนี้ 8 พันล้าน โต 10%

ประกันภัยไทยวิวัฒน์ กางแผนปี 2566 ชูยุทธศาสตร์ เดินหน้าพัฒนาประกันภัยส่วนบุคคล เตรียมส่ง “ประกันสุขภาพ Active Health รูปแบบใหม่ๆ” - “ประกันโรคร้าย” ลุยเจรจาเพิ่มช่องทางจำหน่าย - ขยายเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วทุกภูมิภาค ตั้งเป้ามีเบี้ยรับรวมปีนี้ 8,000 ล้านบาท โต 10%

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)  หรือ TVI  เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ในปี 2566 โดยมองว่า ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้าน ทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งแรกของปีอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย บริษัทจึงมีแผนในการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เดินเกมอย่าง conservative บริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคง

 

ในส่วนของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2566 ด้วยการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “องค์กรด้านประกันภัยแห่งนวัตกรรม” โดยกลุ่ม Motor เตรียมยกระดับ การบริการ โดยมีการเพิ่มเน้นศักยภาพ และลูกเล่นใหม่ๆ ที่แตกต่างในแบบ “การประกันรถเปิดปิด” พร้อมขยายฐานลูกค้าประกันภัยรถยนต์ให้กว้างมากขึ้น ด้วยการพัฒนาประกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยรูปแบบประกันภัยทั้ง แบบ “การประกันรถเปิดปิด” และ “แบบรายปี” ที่ให้ความคุ้มครองเต็มรูปแบบครบทุกกรณี

ในส่วนของกลุ่ม Non-Motor บริษัทเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่วนบุคคล อาทิ ประกันโรคร้ายแรง และประกันสุขภาพ Active Healthในรูปแบบต่างๆ พร้อมขยายไปในตลาดในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และจังหวัดพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี จากแนวโน้มปริมาณ และราคาผลผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมขยายเครือข่ายโรงพยาบาลในทุกภูมิภาคให้ครอบคลุมทุกหย่อมหญ้าให้มากสุด
 
นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายช่องทางการขาย ทั้งกลุ่ม Motor และ Non-Motor ให้ครอบคลุมมากขึ้น อาทิ นายหน้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการประกันภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภค ไปพร้อมๆ กับการยกระดับภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสผนึกความร่วมมือพันธมิตรใหม่ๆ ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน InsurTech ที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับในปี 2566 นี้ บริษัทตั้งเป้ามีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2565 ที่ผ่านมาที่มีเบี้ยรับรวม 7,300 ล้านบาท เติบโต 10% ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะทำให้ IRR กลับมาอยู่ที่ 3-4% ด้วยการปรับพอร์ตไปที่ตลาดเงินสัดส่วน 50-60% เช่น พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว , หุ้นกู้ UOB ดอกเบี้ยสูงถึง 5-7% และ หุ้นกู้โลตัส ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นเงินฝากประจำ และ หุ้นใน SET100 อีก 15% 

นายจีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทประสบปัญหาจากการขาดทุนการรับประกันรถยนต์ ซึ่งเมื่อเจอเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลให้บริษัท มีการจ่ายสินไหมในจำนวนที่สูง โดยเฉพาะเมื่อบริษัท ประสบปัญหากับการปรับขึ้นค่าซ่อมจากศูนย์ประมาณ 20% ทำให้บริษัท ต้องปรับค่าเบี้ยประกันประเภทซ่อมศูนย์ขึ้น 20% เช่นกัน และปีนี้หากทางศูนย์มีการปรับราคาขึ้นอีกทางบริษัท ก็ต้องปรับค่าเบี้ยขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตรถ BM สูงถึง 50% โดยถือว่าสูงที่สุดในตลาด รองลงมา คือ MAZDA ซึ่งตอนนี้บริษัท กำลังลดสัดส่วนการรับประกันรถ BM ลง โดยหันมาเน้น TOYOTA , HONDA มากขึ้น ในขณะที่ประกันรถ EV บริษัทอาจต้องใช้เวลาศึกษา หรือมีราคากลางที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนตอนการแพร่ระบาดโควิดที่บริษัทประกันหลายแห่งต้องปิดกิจการลง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์