ThaiBMA เกาะติด’หุ้นกู้ไฮยิลด์’ ใกล้ชิด เชื่อยังไร้ปัญหาเพิ่ม

ThaiBMA เกาะติด’หุ้นกู้ไฮยิลด์’ ใกล้ชิด เชื่อยังไร้ปัญหาเพิ่ม

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย  คาดปี 66 ยอดออก-เสนอขายหุ้นกู้นิวไฮต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เกิน 1ล้านล้าน เหตุ เอกชนแห่ล็อกต้นทุน จากดอกเบี้ยขาขึ้น เผยมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอีก 7 แสนล้าน   จับตา “ออลล์” วันที่ 24  ม.ค.นี้ ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ALL244A ได้หรือไม่

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลงอย่างต่อนื่อง เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับในปีนี้  ประกอบกับทิศทาง  ดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุน  ส่งผลยอดการออกเสนอขายหุ้นกู้ในปี 2566 ยังเติบโตได้จากปี 2565 

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า ในปี 2566 น่าจะยังได้เห็นภาคเอกชนออกและเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องและติดต่อกันเป็นปีที่ 4 จากยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อยู่ที่1.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23 %จากปี 2564 ซึ่งปี 2565 มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่(Newcomer) 30 บริษัทจาก 15 หมวดธุรกิจ

ThaiBMA เกาะติด’หุ้นกู้ไฮยิลด์’ ใกล้ชิด เชื่อยังไร้ปัญหาเพิ่ม  
 

โดยแม้ปีนี้ภาวะตลาดการลงทุนยังมีความผันผวน แต่เชื่อว่าตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงคึกคักจากปีที่ผ่านมา ด้วยความต้องการของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน และเตรียมรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  คาดว่าจะเป็นยอดออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดปีนี้ราว 700,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ออกใหม่ไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท 

สำหรับหุ้นกู้ออกใหม่ ยังเป็นลักษณะคล้ายกับปีก่อน ที่ออกหุ้นกู้ ทั้งกลุ่ม Investment grade และกลุ่ม High yield ที่รวมถึง Non-rated  ส่วนแนวโน้มยอดออกขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG Bonds)  และการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล(Digital Bond) ยังเติบโตขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทต่างๆ เข้าสู่ NET ZERO ภายในปี 2593  และพัฒนาการของเทคโนโลยีของสถาบันการเงินต่างๆ ต้องการสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น 

ส่วนความเสี่ยงหุ้นกู้ที่จะมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยนั้น นายสมจินต์ กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ถือเป็นธรรมชาติของตลาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับการปล่อยสินเชื่อที่สามารถมีโอกาสเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งหุ้นกู้ที่มีปัญหาในปัจจุบัน ถือว่ายังอยู่บนความเสี่ยงที่ส่วนใหญ่นักลงทุนรายใหญ่รับได้ และทางสมาคมฯ ได้มีการติดตามการแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท  

โดย ณ สิ้นปี 2565 หุ้นกู้ที่มีปัญหามีมูลค่า 99,420 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.18% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน  แยกเป็น 1.หุ้นกู้ที่ฟื้นฟูกิจการ  มีจำนวน 1 บริษัท คือ การบินไทย มูลค่า 71,608 ล้านบาท 2.หุ้นกู้การปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ทั้งขอยืดชำระหนี้ หรือจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.5-1% แล้วแต่จะตกลงกับผู้ถือหุ้นกู้ มีจำนวน   16 บริษัท เช่น JCK,CDG,PHUKET,DR,IRIS  ธุรกิจอยู่ระหว่างกำลังพลิกฟื้นกลับมาหลังโควิด และยังคงสามารถออกหุ้นใหม่เพิ่มเติมได้ จึงคาดว่าไม่น่าจะสร้างปัญหาเพิ่มเติม 

3. หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ก่อนโควิด จำนวน 4 บริษัท เช่น IFEC ,EARTH และที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ปี 2563-2565 จำนวน 2 บริษัท (ACAP,APEX)  ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหานำเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ 

แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้า กรณีการแก้ไขปัญหาของ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) กรณีผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ รุ่น ALL244A กว่า 10 ล้านบาท จากปัญหาขาดสภาพคล่อง ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ จะครบกำหนด15 วัน ที่ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ยื่นหนังสือให้ ALL ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้  ซึ่งหากไม่สามารถจ่ายคืนได้ ก็จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาแนวทางแก้ไขไม่ให้หุ้นกู้ที่เหลือผิดนัดชำระไปด้วย