ThaiBMA คาดยอดออกหุ้นกู้ ปี66 ยังทะลุ1ล้านล้าน เอกชนล็อกต้นทุนรับศก.ฟื้น

ThaiBMA คาดยอดออกหุ้นกู้ ปี66  ยังทะลุ1ล้านล้าน เอกชนล็อกต้นทุนรับศก.ฟื้น

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดปี66 ยอดออกหุ้นกู้ ยังคึกคักทะลุ1ล้านล้าน ท่ามกลางความผันผวน ชี้เอกชนต้องการออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุน รองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมีหุ้นกู้ครบกำหนด7แสนล้าน จากปี65 ยังทำนิวไฮ ต่อเป็นปีที่ 3 อยู่ที่1.27 ล้านล้าน

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปี 2566 น่าจะได้เห็นยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องอีกปี จากยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่3 อยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท สูงขึ้น 21% 

 

ในปีนี้แม้ภาวะตลาดยังมีความผันผวน และมูลค่ายอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวอาจไม่มากเท่าปีก่อน แต่คาดว่าตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงคึกคัก จากความต้องการของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้ที่ยังมีอย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมาและมีหุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้ราว700,000 ล้านบาท 

ในขณะที่การสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาด คาดว่า กนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย2-3 ครั้งในปี 2566 สู่ระดับ 1.75-2.00% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตร( Bond yield) รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปีตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.2%-0.3%จากสิ้นปี 2565

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2565 มีการเติบโตที่โด่ดเด่น โดยเห็นได้จากพัฒนาการ 5 ด้านที่สำคัญ คือ

 1) การออกหุ้นกู้ระยะยาวทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High)  ที่ 1.27 ล้านล้านบาท นับเป็นปีที่สามที่ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากการออกของผู้ออกทั้งกลุ่ม Investment grade และกลุ่ม High yield ที่รวมถึง Non-rated จากความต้องการที่สูงของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินและเตรียมการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2565 ได้มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่ (Newcomer) จำนวน 30 บริษัท จาก 15 หมวดธุรกิจส่วนหมวดธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค  หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์  หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์  และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2) การเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน หรือ ESG Bonds (Environmental, Social and Governance) เพิ่มขึ้น 21% ในปี 2565 มีมูลค่าการออกรวม 210,994 ล้านบาท ทำให้มูลค่าคงค้างของESG Bonds ณ สิ้นปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 501,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 66% จากสิ้นปี 2564  

3) การเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล (Digital Bond) บนแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2565 รวม 11 รุ่นจากผู้ออก 8 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 29,074 ล้านบาท

 4) มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจตราสารหนี้ (New Players) จำนวน 5 บริษัท 

5) โมบายแอปพลิเคชัน MeBond ที่พัฒนาโดย ThaiBMA ได้รับความนิยมจากนักลงทุนตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มียอดดาวน์โหลดทะลุ 35,000 ครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 23,000 ดาวน์โหลดจากปี 2564

มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 15.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 2564 โดยมาจากตราสารหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตรา 14% และ 9% ทำให้มีมูลค่าคงค้างที่7.77 ล้านล้านบาทและ 4.57 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

 

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในช่วง
ไตรมาสหนึ่งก่อนจะเปลี่ยนเป็นการขายสุทธิในช่วงไตรมาสสองถึงสาม แล้วจึงกลับเข้าซื้อสุทธิอีกครั้งในไตรมาส 4 เมื่อรวมทั้งปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 4.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ระดับ 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.8% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองเท่ากับ 7.96 ปี

 

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yieldcurve) ในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของเฟด เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ทั้งปีมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง รวม 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.97% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.63% ณ สิ้นปี 2565 ส่วน Bond yield 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.74% มาอยู่ที่ 2.64% ณ สิ้นปี 2565

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อายุ 5 ปีของผู้ออกทุกอันดับเครดิตสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 59 pbs. โดย ณ สิ้นปี 2565 อันดับเครดิต AAA ขยับขึ้นมาที่2.72% AA ที่ 3.07% A ที่ 3.25%  BBB+ ที่ 4.31% และ BBB ที่ 5.03%