PTT-OR ปัดเอี่ยวความรุนแรงใน "เมียนมา" จับตากองทุนต่างชาติทิ้งหุ้นต่อหรือไม่?

PTT-OR ปัดเอี่ยวความรุนแรงใน "เมียนมา" จับตากองทุนต่างชาติทิ้งหุ้นต่อหรือไม่?

กลายเป็นข่าวดังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีรายงานว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ (Norway Sovereign Wealth Fund) ได้ตัดสินใจถอดหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ออกจากพอร์ตการลงทุน

ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการจริยธรรมกองทุน หลังมีความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้จากการที่ทั้ง 2 บริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นตั้งแต่ปี 2564

คณะกรรมการจริยธรรมยังระบุว่า บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ของไทย เป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีรัฐบาลและกองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP บริษัทย่อยของ PTT ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ของรัฐบาลเมียนมา ในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของเมียนมาถึง 3 แห่ง

ขณะที่ OR ได้ร่วมทุนกับ Myanmar Economic Corporation (MEC) ของกองทัพเมียนมา เพื่อก่อสร้างคลังน้ำมันและโรงบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เท่ากับว่ากิจการของกลุ่ม ปตท. มีส่วนสร้างรายได้ให้กับกองทัพของเมียนมา เพื่อนำไปใช้สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารและก่อความรุนแรง ขัดต่อข้อปฏิบัติของกองทุน คณะกรรมการจริยธรรมจึงเสนอให้ตัดหุ้น PTT และ OR ที่กองทุนถืออยู่ทั้งในสัดส่วน 0.35% และ 0.23% 

ทันทีที่มีข่าวออกมาส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้น PTT และ OR ทันที โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้น PTT ปรับตัวลดลง 0.8% และ OR ปรับตัวลดลง 2.12% ขณะเดียวกันเกิดความวิตกกังวลว่ากองทุนต่างประเทศอื่นๆ จะสละการลงทุนในหุ้นทั้ง 2 อีกหรือไม่?

PTT-OR ปัดเอี่ยวความรุนแรงใน \"เมียนมา\" จับตากองทุนต่างชาติทิ้งหุ้นต่อหรือไม่?

ทั้งนี้ เพื่อลดความตื่นตระหนก ล่าสุด ปตท. ได้ออกมาชี้แจงถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ปตท. เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และมีความกังวลอย่างมากต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาหลังการรัฐประหารปี 2564 โดย ปตท. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ปฏิบัติตามกฎหมาย และแนวปฎิบัติสากล ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจ การบริหารจัดการ เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างเท่าเทียม

ส่วน OR ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา โดยบริษัทได้เข้าร่วมทุน 35% ในบริษัทร่วมทุน Brighter Energy (BE) เมื่อปี 2562 เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อมุ่งสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวเมียนมา

ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมา รวมทั้งมีการคว่ำบาตร (Sanctions) จากหลายประเทศ บริษัทได้แสดงเจตนารมณ์ในฐานะผู้ถือหุ้นข้างน้อยให้ BE หยุดการดำเนินการก่อสร้างคลัง โดย OR จะไม่ชำระเงินทุนเพิ่มเติม และ BE จะต้องไม่ชำระเงินให้แก่บุคคลใดๆ ที่อยู่ใน Sanctions list โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ OR ได้ยึดถือและดำเนินการตามแนวทางและนโยบายอย่างเคร่งครัดที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินกิจการของ BE ในเมียนมา

ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หากพิจารณาตามสัดส่วนการถือหุ้น OR แยกตามประเภทสัญชาตินักลงทุนพบว่าสัดส่วนหลักในการถือครองหุ้น OR มาจากนักลงทุนสัญชาติไทยสูงถึง 96.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 

และมีผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ถือครองโดยตรงคิดเป็นสัดส่วนรวมกันเพียง 3.4% โดยอันดับ 1 ได้แก่ กลุ่มสหราชอาณาจักร คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งจากการสอบถามไปยังบริษัท พบว่า Norge Bank ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย 

ส่วน PTT นักลงทุนต่างชาติที่ถือครองมากที่สุด คือ สหราชอาณาจักร เช่นกัน โดยคิดเป็นสัดส่วน 5.85% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 

ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่กลุ่มต่างชาติสัดส่วนที่เหลือขายหุ้น OR ออกมาทั้งหมดจริง คาดผลกระทบต่อราคาหุ้นจะมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่ด้านปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีผลต่อประมาณการและมูลค่าพื้นฐานแต่อย่างใด