"บีโอเจ" ตอกย้ำให้เห็นว่า "ตลาดหุ้นโลก" พร้อมปั่นป่วน

"บีโอเจ" ตอกย้ำให้เห็นว่า "ตลาดหุ้นโลก" พร้อมปั่นป่วน

"ญี่ปุ่น" ใช้อัตรา "ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า โดยถือเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ แม้ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้

การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เมื่อวานนี้ (20ธ.ค.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจอะไรให้กับตลาดเงินมากนัก เพราะตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า ญี่ปุ่น จะยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้าอยู่ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ แม้ว่าเงินเฟ้อระยะหลังจะพุ่งขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดเงินค่อนข้างประหลาดใจกับมติที่ประชุม บีโอเจ เมื่อวานนี้ คือ การประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของรัฐบาลญี่ปุ่น รุ่นอายุ 10 ปี จากเดิมจะให้เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง -0.25% ถึง +0.25% ขยับเพิ่มเป็น -0.5% ถึง +0.5% เพื่อเป็นการเปิดทางให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรุ่นระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันให้ บีโอเจ สามารถรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ในระดับหนึ่ง 

ก่อนหน้านี้ถ้าจำกันได้ บีโอเจ ต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบไม่อั้น เพื่อคุมอัตราผลตอบแทนของรัฐบาลญี่ปุ่นให้อยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน +0.25%

เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นกับในต่างประเทศที่มากจนเกินไป ทำให้มีแรงขายพันธบัตรญี่ปุ่นออกมาต่อเนื่อง การเข้าซื้อแบบไม่อั้นของ บีโอเจ ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นพุ่งขึ้นจนทะลุระดับ 50% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวยังก่อให้เกิดการบิดเบือนในตลาดบอนด์ของญี่ปุ่นเองด้วย 

เมื่อวานนี้ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ บีโอเจ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม โดยอธิบายถึงเหตุผลของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดังกล่าวว่า ตลาดเงินของญี่ปุ่นเริ่มผันผวนมาตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา และการที่ บีโอเจ พยายามคุมบอนด์ยิลด์ไม่ให้เกิน +0.25% ได้สร้างการบิดเบือนให้กับกลไกตลาด ดังนั้นการขยายกรอบจากไม่เกิน +0.25% เป็นไม่เกิน +0.5% จะช่วยแก้ไขภาวะการบิดเบือนเหล่านี้ลงได้ และยังช่วยปรับปรุงกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย 

มติของ บีโอเจ เมื่อวานนี้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ของญี่ปุ่นรุ่นอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นทันทีเกือบ 70% มาอยู่ที่ระดับ 0.435% แน่นอนว่าผู้ที่ถือบอนด์ญี่ปุ่นจะขาดทุนยับเยิน จากราคาพันธบัตรที่ร่วงลง (ผลตอบแทนพันธบัตรกับราคาจะเคลื่อนไหวสวนทางกัน)

ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงลงกว่า 2.46% ทั้งยังลากตลาดหุ้นเอเชียติดลบถ้วนหน้า โดยดัชนีหุ้นไทยเมื่อวานนี้ก็ปิดตลาดร่วงลงเฉียด 14 จุด หรือ 0.85% ระหว่างวันมีหลุดระดับ 1,600 จุดลงมาด้วย ซึ่งมติของ บีโอเจ เมื่อวานนี้ชี้ให้เห็นว่า ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นผู้ลงทุนเองก็ควรต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออยู่ตลอดเวลา