เจาะพอร์ตหุ้น ‘3 เจ้าพ่อ’ โรงไฟฟ้าใหญ่สุดในไทย มั่งคั่งกว่าแสนล้านบาท

เจาะพอร์ตหุ้น ‘3 เจ้าพ่อ’ โรงไฟฟ้าใหญ่สุดในไทย  มั่งคั่งกว่าแสนล้านบาท

หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพบ 3 บุคคลที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ามูลค่าหลักแสนล้าน 1.สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF 2. สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA 3.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM ล้วนแล้วแต่เป็นมหาเศรษฐีหุ้นที่มีความมั่งคั่งของเมืองไทย

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ออกมาประกาศ ขึ้นค่า Ft ภาคธุรกิจงวดใหม่รอบเดือนมกราคม -เมษายน 2566 ขยับขึ้นเป็น 5.69 บาท/หน่วย ขณะที่ผู้ใช้ไฟบ้านยังคงจ่ายเท่าเดิม ซึ่งในการปรับขึ้นส่วนภาคธุรกิจนั้นจะทำให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ด้วย เพราะจะทำให้ในปีหน้าหุ้นกลุ่มนี้อาจมีกำไรเติบโตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 30 หลักทรัพย์ ทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังานงานฟอสซิส ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าน้ำมันเตาและกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ, โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงไฟฟ้าขยะ, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น

 

‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้สำรวจหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพบ 3 บุคคลที่น่าสนใจที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ามูลค่าหลักแสนล้านบาท คือ

1.สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2. สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

3.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

ล้วนแล้วแต่เป็นมหาเศรษฐีหุ้นที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยของเมืองไทยด้วยกันทั้งสิ้น 

เจาะพอร์ตหุ้น ‘3 เจ้าพ่อ’ โรงไฟฟ้าใหญ่สุดในไทย  มั่งคั่งกว่าแสนล้านบาท

1.สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ก่อตั้ง GULF และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของเมืองไทย ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ขึ้นแท่นครองแชมป์อันดับ 1 เศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 จากการจัดอันดับของนิตยสารวารสารทางการเงิน ขณะที่ฟอร์บส์จัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022 อยู่อันดับที่ 162 กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศไทย แซงหน้า เจ้าสัวธนินท์ และเจ้าสัวเจริญ ด้วยทรัพย์สิน 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 421,260 ล้านบาท

ปัจจุบัน GULF มีมาร์เก็ตแคป 627,723.52 ล้านบาท พี/อี 69.32 เท่า ราคา ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ปิดที่ 53.50  บาท อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 0.82% และจากข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565 พบ สารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 4,171,077,797 หุ้น หรือ 35.55% เท่ากับว่า สารัชถ์ จะมีเงินลงทุนในหุ้น GULF มูลค่าทั้งสิ้น 223,152.66 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบ บริษัทในเครือเข้าถือหุ้นใหญ่ด้วยกัน 3 บริษัท คือ

1. GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED เป็นบริษัทในเครือของสารัชถ์ที่เข้าไปลงทุนในฮ่องกง เข้าถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จำนวน 1,160,431,363 หุ้น หรือ 9.89%

2. GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. เป็นบริษัทในเครือของสารัชถ์ที่เข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ เข้าถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 จำนวน 877,250,502 หุ้น หรือ 7.48%

3. บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของสารัชถ์ที่เข้าไปลงทุนในประเทศไทย เข้าถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 จำนวน 551,729,877 หุ้น หรือ 4.70%

ช่วงที่ผ่านมา สารัชถ์ยังเข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดของยักษ์ใหญ่ในกิจการโทรคมนาคมไทย คือ INTUCH เจ้าของเครือข่ายมือถือเอไอเอสและดาวเทียมไทยคม ที่ในอนาคต GULF มีแผนจะเข้าไปลงทุน THCOM AIS และ ADVANC เป็นกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว เพื่อขยายกิจการ นอกจากนี้ GULF ยังร่วมทุนจัดทำแพลทฟอร์มในการดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยและในประเทศอื่น ๆ ในรูปเหรียญ BNB และไบแนนซ์ สหรัฐ

2.สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ปีนี้ถูกจัดอันดับ 5 เศรษฐีหุ้นไทย จากนิตยสารวารสารทางการเงิน ขณะที่ฟอร์บส์จัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022 อยู่อันดับที่ 792 มูลค่าทรัพย์สิน 1.31 แสนล้านบาท

ปัจจุบัน EA มีมาร์เก็ตแคป 354,350.00 ล้านบาท พี/อี 48.45 เท่า ราคา ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ปิดที่ 95.00 บาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 0.32% และจากข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565 พบ สมโภชน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 412,082,386 หุ้น หรือ 11.05% เท่ากับว่า สมโภชน์จะมีเงินลงทุนในหุ้น EA มูลค่าทั้งสิ้น 39,147.82 ล้านบาท

EA นอกจากจะลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันยังเข้าไปลงทุนกำลังเร่งสร้างเทคโนโลยี Ultra Fast Charge ด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรม EV ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 5 ปี เพื่อพัฒนาการชาร์จให้เร็ว และใช้งานได้นานมากขึ้น ล่าสุดมีสถานีชาร์จ 490 แห่ง มีหัวชาร์จมากกว่า 2,000 หัว โดยมีหัวชาร์จ DC มากที่สุดในประเทศมากกว่า 1,000 หัว พร้อมกับผลักดันเป็นยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา

3.ฮาราลด์ ลิงค์ หรือ หรัณ เลขนะสมิทธิ์ ชาวเยอรมันหัวใจไทยเกินร้อย บิ๊กบอสแห่ง BGRIM บริษัทเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยกว่า 144 ปี  ที่ยึดปรัชญา การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ปัจจุบันเป็นประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ฟอร์บส์จัดอันดับขึ้นทำเนียบมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022 อยู่อันดับที่ 1,445 มูลค่าทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังเป็นเศรษฐีหุ้นที่มีความมั่งคั่งอันดับ 10 และมีความมั่งคั่งเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มเจ้าของโรงไฟฟ้า

ปัจจุบัน BGRIM มีมาร์เก็ตแคป 102,320.83 ล้านบาท พี/อี - เท่า ราคา ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ปิดที่ 39.25 บาท อัตราเงินปันผลตอบแทน 1.07% และจากข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565 พบ ฮาราลด์ ลิงค์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 621,399,700 หุ้น หรือ 23.84% เท่ากับว่า ฮาราลด์ ลิงค์ จะมีเงินลงทุนในหุ้น BGRIM มูลค่าทั้งสิ้น 24,389.93 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบ บริษัทในเครือและลูกสาวเข้าถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ B. GRIMM POWER (SINGAPORE) PTE. LTD. ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 698,502,000 หุ้น หรือ 26.79% , บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จำนวน 235,997,750 หุ้น หรือ 9.05% และ น.ส. คาโรลีนโมนิคมารีครีสตีน ลิงค์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 9 จำนวน 28,350,000 หุ้น หรือ 1.09%

ล่าสุด BGRIM จะมีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการใหม่อีก 2 แห่ง ประกอบด้วย BGPAT2-3 ขนาดกำลังการผลิตรวม 196 mw  และโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ ESS และโรงก๊าซฯ กำลังการผลิตรวม 105 mw ขณะที่ บี.กริม เฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นธุรกิจด้านสุขภาพของกลุ่ม บี.กริม ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท เมดไลน์ หรือ Medline, บริษัทในเครือ Unison  กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์ ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทย ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การสร้างความเติบโตให้แก่กลุ่มธุรกิจ บี.กริม เฮลท์แคร์ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้ไทยให้เป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา และผลิตเวชภัณฑ์ ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ