ท่อส่งน้ำอีอีซียังวุ่น”อีสวอเตอร์”ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ให้ธนารักษ์

ท่อส่งน้ำอีอีซียังวุ่น”อีสวอเตอร์”ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ให้ธนารักษ์

ท่อส่งอีอีซียังวุ่น”อีสวอเตอร์”ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ ขณะที่ ธนารักษ์ เล็งใช้มาตรการทางปกครองหากยังยืดเยื้อ ชี้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ หลังเลยกำหนดส่งรอบแรก 6 ธ.ค. นัดหารือร่วม”วงษ์สยามก่อสร้าง”รอบสุดท้ายก่อนสิ้นปี เพื่อสรุปแนวทางส่งมอบ

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมฯได้เซ็นสัญญาในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกหรือโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีกับบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการประมูลเมื่อช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ ผู้ที่ได้รับสัมปทานรายเดิม คือบริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด(มหาชน)ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมฯ ทำให้วงษ์สยามก่อสร้างไม่สามารถเข้าบริหารจัดการพื้นที่ได้

ทั้งนี้ โครงการท่อส่งน้ำอีอีซีที่อีสวอเตอร์จะต้องส่งมอบให้กับกรมฯมีอยู่ 2 โครงการ คือ โครงการหนองปลาไหล-หนองค้อ และ โครงการหนองค้อ-แหลมฉบังระยะที่ 2 ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ ทางกรมฯไม่ได้มีสัญญาสัมปทานกับอีสวอเตอร์ เพียงแต่ให้อีสวอเตอร์เป็นผู้บริหาร เมื่อกรมฯได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ เราได้ส่งหนังสือไปยังอีสวอเตอร์ เพื่อดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมฯภายใน 60 วัน ขณะที่ สัญญาในโครงการดอกกลายนั้น มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาในสิ้นปี 2566 ซึ่งอีสวอเตอร์จะต้องส่งมอบสัญญาหลังจากสิ้นสุดสัญญาดังกล่าวทันที

“ทางอีสวอเตอร์มีกำหนดจะต้องส่งมอบพื้นที่และท่อน้ำให้รอบแรกในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ และ รอบที่สองในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ซึ่งในรอบแรกทางอีสวอเตอร์ยังไม่ส่งมอบพื้นที่และท่อน้ำให้แก่วงษ์สยามก่อสร้าง โดยเหตุผลที่อีสวอเตอร์ยังไม่ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ได้นั้นมีหลายเหตุผล หนึ่งในนั้น คือ มีความกังวลว่า การส่งมอบพื้นที่ซึ่งต้องมีการปรับปรุงท่อส่งน้ำในบางจุด อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ เนื่องจาก ท่อส่งน้ำบางจุดเป็นสมบัติของอีสวอเตอร์ ผู้รับสัมปทานรายใหม่ไม่สามารถจัดหาท่อมาทดแทนได้ทัน ขณะที่วงษ์สยามก่อสร้างยืนยันว่า ไม่มีปัญหาในการนำท่อส่งน้ำไปเชื่อมต่อ”

เขากล่าวว่า กรมฯจะเร่งให้อีสวอเตอร์ส่งมอบพื้นที่และท่อน้ำดังกล่าวให้แก่กรมฯโดยเร็วที่สุด โดยหากมีความยืดเยื้อไปมากกว่านี้ จะกระทบต่อรายได้ที่กรมฯจะได้รับจากการบริหารจัดการน้ำของวงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็น 27%ต่อปี ของรายรับค่าใช้น้ำโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ขณะที่ อีสวอเตอร์ได้จ่ายค่าเข้าบริหารจัดการน้ำใน 2 โครงการนี้เพียง 3-7% ของรายรับค่าใช้น้ำเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีรายรับที่กรมฯจะได้รับ เมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่วงษ์สยามก่อสร้างอีก 870 ล้านบาท เมื่อยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ กรมฯก็จะไม่ได้รับรายได้ดังกล่าว ทำให้กรมฯต้องเสียผลประโยชน์ดังกล่าว

“ที่เราต้องเดิน คือ ทำอย่างไรให้อีสวอเตอร์ส่งมอบพื้นที่ให้แก่เรา เพื่อให้เราส่งมอบพื้นที่แก่วงษ์สยามก่อสร้างได้ ซึ่งเราต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างอีสวอเตอร์กับวงษ์สยามก่อสร้าง แต่หากการส่งมอบพื้นที่ ยังมีความยืดเยื้อ เราอาจจะใช้มาตรการทางปกครองกับอีสวอเตอร์ ทั้งนี้ ภายในเดือนนี้ กรมฯจะนัดหารือกับอีสวอเตอร์และวงษ์สยามก่อสร้างเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง”

สำหรับโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีดังกล่าว ทางวงษ์สยามก่อสร้างเป็นผู้ชนะการประมูล มีระยะเวลาการเช่าจำนวน30ปี ให้ผลตอบแทนแก่รัฐรวมประมาณ2.5หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น1.ค่าแรกเข้าจำนวน1,450ล้านบาท ชำระครั้งแรกในการเซ็นสัญญาจำนวน580ล้านบาทและเมื่อส่งมอบทรัพย์สินอีก870ล้านบาท2.ผลประโยชน์ตอบแทน 2,908ล้านบาทและ3.ส่วนแบ่งรายได้21,335ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้จัดให้มีการประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี โดยมีอีสวอเตอร์ ผู้รับสัมปทานรายเดิมและวงษ์สยามก่อสร้างผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้าร่วมประมูล โดยคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้เห็นชอบเมื่อวันที่14มี.ค.2565ให้วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากกว่าอีสวอเตอร์ โดยอีสวอเตอร์เสนอผลตอบแทนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ทางวงษ์สยามจึงได้รับสิทธิบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำอีอีซีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อกรมฯได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ โดยได้เลื่อนการเซ็นสัญญาถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนพ.ค.2565 หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูล ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบความโปร่งใสประมาณกว่า 1 เดือน ซึ่งผลตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ และ ได้นัดเซ็นสัญญาอีกครั้งในเดือนส.ค.2565 แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งฉุกเฉินให้ระงับการเซ็นสัญญา ทำให้กรมฯไม่สามารถเซ็นสัญญาการประมูลได้

ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลปกครองยกคำร้องการคุ้มครองโครงการเป็นการชั่วคราวแล้ว ทางกรมฯจึงจัดให้มีการเซ็นสัญญากับวงษ์สยามก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ทางวงษ์สยามก่อสร้างยังไม่สามารถเข้าไปบริหารโครงการได้ โดยจะเข้าไปดำเนินการบริหารได้ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัทแล้ว 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ยังมีคดีที่อีสวอเตอร์ฟ้องร้องต่อศาลในเรื่องของการยกเลิกกระบวนการคัดเลือกครั้งที่1และ การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลในครั้งที่ 2 ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเห็นด้วยกับคำฟ้องร้องนั้น การเซ็นสัญญากับวงษ์สยามจะต้องถือเป็นโมฆะ แต่กรมฯไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายแก่บริษัทวงษ์สยามที่ได้เข้ามาดำเนินโครงการ เพราะในสัญญาได้เขียนไว้ชัดเจนแล้ว