"แบงก์ออฟไชน่า" ออกพันธบัตรสีเขียว ผูกเงินดอลลาร์ครั้งแรกในโลก

"แบงก์ออฟไชน่า" ออกพันธบัตรสีเขียว ผูกเงินดอลลาร์ครั้งแรกในโลก

กว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)โลกขึ้นอยู่กับธรรมชาติ แต่ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกทำลายมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก สถาบันทางการเงินของจีนจึงริเริ่มออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนสำหรับปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

แบงก์ ออฟ ไชน่า (บีโอซี) ออกพันธบัตรสีเขียว เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพผ่านทางสาขาของธนาคารในปารีสเป็นเงิน 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นพันธบัตรสีเขียวที่ผูกกับเงินดอลลาร์เป็นครั้งแรกของโลก ผู้บริหารของบีโอซี กล่าวว่า พันธบัตรจะถูกนำไปใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางน้ำและโครงการต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเกินกว่าเป้าหมายกว่า 2 เท่า

เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ยังคงพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายธนาคารของจีนต้องยุติการออกพันธบัตรที่ผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้ทำในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพหรือ COP15 ซึ่งจะมีขึ้นที่แคนาดาระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคมนี้ และเพื่อให้ตลาดเงินสนใจเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ธนาคารยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสอย่าง “เครดิต แอกริโคล ซีไอบี” ( Credit Agricole CIB) เป็นหนึ่งในธนาคารที่ร่วมในโครงการนี้ ซึ่งผู้บริหารกล่าวว่าข้อตกลงที่ริเริ่มโดยบีโอซีถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงนักลงทุนระดับนานาชาติให้สนใจสิ่งแวดล้อม

ปกติพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพจะออกโดยรัฐบาล แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วม ข้อมูลของ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ชี้ว่า จะต้องใช้เงินทุนสำหรับยุติความเสียหายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่าง 722,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 967,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ทุกวันนี้ทั่วโลกมีเงินทุนเพื่อการนี้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 124,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะระดมเงินทุน อาจมาจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ร่วมกันทำโครงการสนับสนุนด้านนิเวศน์ หรือใช้โมเดลประกันภัยเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสัตว์ป่า หรือ ออกพันธบัตร เพื่อลงทุนในโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้างความตระหนักและบรรเทาผลกระทบจากการทำลายธรรมชาติได้