"เบียร์- วนนท์" เทรดเดอร์ ชี้ รัฐเก็บภาษีขายหุ้น ปรับแผนเทรดหุ้นต่างประเทศ

"เบียร์- วนนท์" เทรดเดอร์  ชี้ รัฐเก็บภาษีขายหุ้น ปรับแผนเทรดหุ้นต่างประเทศ

"เบียร์- วนนท์" เทรดเดอร์ ระบุการเก็บภาษีขายหุ้นควรที่ต่ำกว่า คอมมิชชั่น -ควรทยอยเก็บเป็นขั้นบันไดอย่างน้อย 3 เฟส หากเก็บจริง ยอมรับต้องปรับกลยุทธ์ลงทุนใหม่ ศึกษาเตรียมกระจายพอร์ตไปเทรดหุ้นต่างประเทศ

รัฐบาลเตรียมที่จะเก็บภาษีขายหุ้นอัตรา 0.11%  โดยในปีแรกที่เริ่มจัดเก็บอยู่ที่อัตรา 0.055% ประมาณช่วงเดือนพ.ค.2566  ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการซื้อขายหุ้น (เทรดหุ้น)ของนักลงทุนทุกกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนต่างประเทศที่ใช้โปรแกรมเทรด (High Frequency Trading) และเทรดเดอร์ ที่เทรดเป็นรายวัน (เดย์เทรด) ต้องปรับกลยุทธ์การเทรดใหม่ 

นายวนนท์ วรรณป้าน หรือ‘เบียร์ เทรดเดอร์’กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีขายหุ้นในช่วงต้นปีหน้า เพราะ มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยขณะที่ปัจจัยการเมืองก็ยังไม่ชัด และอัตราการเก็บภาษีก็ควรที่จะยืดหยุ่นจากฎหมายดังกล่าวซึ่งมีมาตั้งแต่ 34 ปีที่ผ่านมาโดยอัตราค่าธรรมเนียม(ค่าคอมมิชชั่น)ซื้อขายหุ้นอยู่ที่ 0.5% ส่วนการเก็บภาษีอยู่ที่ 0.11% ซึ่งอัตราการเก็บภาษีต่ำกว่า ค่าคอมมิชชั่น ถือเป็นอัตราการจัดเก็บที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอัตราค่าคอมมิชชั่น สำหรับนักลงทุนรายใหญ่อยู่ที่ 0.08% และนักลงทุนรายย่อย 0.15%ดังนั้นการเก็บภาษีขายหุ้นที่ 0.11% จึงเป็นระดับที่สูงซึ่งส่วนตัวมองว่าหากเก็บภาษีขายหุ้น ก็ควรที่จะต่ำกว่าค่าคอมมิชชั่นในปัจจุบัน เพราะจะป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ลงทุนโดยที่ไม่สมเหตุสมผล

รวมถึงภาครัฐควรที่จะยืดหยุ่นในการเก็บภาษี ให้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งหากการคำนวณแล้วอัตราการเก็บภาษีขายหุ้นที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 0.02-0.04% และควรที่จะมีขั้นต่ำในการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เช่น ถ้าเทรดวันละไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อไม่ทำให้รายย่อยมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ตามหากจะต้องเก็บภาษีจริงในอัตรา 0.11% ส่วนตัวมองว่าควรที่จะเก็บภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างน้อยก็แบ่งเป็น 3 เฟส เพื่อให้ต้นทุนการเทรดหุ้นของนักลงทุนค่อยๆเพิ่มขึ้น ไม่ได้ปรับขึ้นแบบเท่าตัว

นายวนนท์ กล่าวว่า หากมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวนั้น ย่อมส่งผลกระทบกับผู้ลงทุนทุกลุ่มไม่ใช่เฉพาะแต่เทรดเดอร์ เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์เทรดหุ้นใหม่ โดยอาจเทรดเป็นรายวัน ก็ขยับเพิ่มเป็นรายสัปดาห์ และรายไตรมาสแทน ซึ่งจะกระทบทำให้มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่มเทรด)ในตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเหลือ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อวัน จากปัจจุบัน 40,000-50,000 ล้านบาทต่อวัน ในช่วงระยะสั้น

ทั้งนี้ในระยะยาวไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะ อนาคตไม่รู้ว่านักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนที่ใช้โรบอทเทรด และใช้โปรแกรมเทรด High Frequency Trading จะหายไปตลาดหุ้นไทยหรือไม่ ซึ่งหากหายออกไป ก็จะยิ่งทำให้วอลุ่มตลาดหายไประดับ 30-40% เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นลักษณะของการเก็งกำไร

“ถ้าภาครัฐมองว่าเราสมควรจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศมีรายได้ เราก็ยินดี พร้อมทำ แต่การเก็บภาษีขายหุ้นควรที่จะเป็นลักษณะขั้นบันได และควรที่จะมีขั้นต่ำในการเก็บภาษี”

สำหรับขณะนี้ส่วนตัวเริ่มเตรียมตัวที่มีการปรับแผนการลงทุนแบ่งพอร์ตไปลงทุนต่างประเทศ จากที่ผ่านมาไม่เคยคิดที่จะไปลงทุนในต่างประเทศเลย เพราะถ้าการเก็บภาษีขายหุ้นแล้วทำให้วอลุ่มเทรดของตลาดหุ้นไทยเหลือ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อวัน ทำให้การเก็งกำไรทำได้ยากขึ้น จึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เช่น ไปเทรดดิ้งหุ้นในต่างประเทศ ไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นใหม่ๆ และในโปรดักส์อื่นๆ แล้วลงทุนในตลาดหุ้นไทยแทน