คลังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีเป็น16%ใน5ปี

คลังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีเป็น16%ใน5ปี

คลังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีเป็น 16% ใน 5 ปีข้างหน้า ผ่านการปฏิรูปจัดเก็บรายได้ ลดรายจ่าย ดึงเอกชนร่วมลงทุน ระบุ เป้าหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นท้าทายการดูแลเศรษฐกิจควบคู่ไปกับปัญหาโลกร้อน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและสังคมสูงวัย

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับ 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากที่สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีได้ทยอยปรับลดลงต่ำกว่าศักยภาพของประเทศจาก 17% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 14.9% ในปี 2564

“เราจะทำให้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่ทยอยปรับลดลงนั้น ปรับขึ้นมาให้ได้ โดยการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และการขยายฐานภาษีจะทำให้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีกลับมาอยู่ที่ประมาณ 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องปรับปรุงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งในส่วนของรายจ่ายด้านการลงทุนนั้น เราจะเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมากขึ้น อย่างไรก็ดี สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณนั้น ก็จะพยายามเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 23% เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับการดำเนินนโยบายด้านการเงินการคลังนั้น ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายการดำเนินงาน โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยการดำเนินนโยบายการคลังนั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว เราก็จะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะต้องลดลง ขณะที่ การปรับลดดอกเบี้ยของ ธปท.นั้นก็จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโต และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

“การบริหารเศรษฐกิจมหภาคเป็นหนึ่งประเด็นที่ท้าทายการบริหารงาน โดยที่ผ่านมาในช่วงวิกฤตินโยบายการคลัง และการเงินประสานกันอย่างต่อเนื่อง โดยนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมากในช่วงโควิด เพื่อช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมา ก็ต้องมาดูการใช้นโยบายดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้น การใช้เงินฉุกเฉินในการออกมาตรการต่างๆ ก็คงจะลดลงไป และจะเป็นการใช้งบประมาณที่มีอยู่แทน ขณะที่การลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) มากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ท้าทายการบริหารงานในอนาคต ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการในหลายเรื่อง ขณะที่แบงก์พาณิชย์ ก็มีการตั้งพอร์ตสินเชื่อด้านโครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการใช้ชีวิตประจำวัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนด้วย ซึ่งภาคธุรกิจ รัฐบาล และประชาชน จะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลด้วย และ ปัญหาสังคมสูงอายุ ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในเรื่องของสังคมสูงอายุนั้น ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงวัยถึง 31.3% ขณะที่ ประชากรวัยทำงานจะลดลงจาก 65.11% มาอยู่ที่ 56%ในช่วงปี 2563-2583 และอัตราการเกิดจะลดลงมาก โดยใน 20 ปีข้างหน้าสัดส่วนแรงงานต่อผู้สูงอายุจะเหลือ 1.8 ต่อ 1 จาก 3.1 ต่อ 1 ทั้งนี้ เมื่อบวกกับอนาคตการใช้แรงงานจากAI ที่จะเข้ามาแทนที่แรงานคนมากขึ้น ดังนั้น แรงงานไทยจะต้องเพิ่มศักยภาพการทำงานให้มากขึ้น

“ขณะนี้ ประเทศไทยและโลกกำลังจะเข้าสู่ปีแห่งการท้าทาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก  แต่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังฟื้นตัว หลังจากเกิดวิกฤตโควิดในช่วง 2 ปีทีผ่านมา โดยปีนี้ และปีหน้าเศรษฐกิจไทย ยังคงเติบโตในกรอบ 3-4% โดยปีนี้เติบโต 3.2% ปีหน้า 3.8% ตามลำดับ”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์