สร้างไทยสู่ ‘ฟินเทค ฮับ’ เพิ่มโอกาสตลาดเงิน-ตลาดทุน

สร้างไทยสู่ ‘ฟินเทค ฮับ’  เพิ่มโอกาสตลาดเงิน-ตลาดทุน

ในโลกการเงินปัจจุบัน หนึ่งในคำที่ได้ยินบ่อย คือ “ฟินเทค” หรือ “เทคโนโลยีทางการเงิน” ซึ่งฟินเทคถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินในส่วนที่เทคโนโลยีแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้ พัฒนาการที่เห็นได้ชัด

จากการเกิดขึ้นของบริษัทฟินเทคเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่า “ฟินเทคสตาร์ทอัป” เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั่วโลกกว่า 1,600 บริษัท โดยส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ราว 500 บริษัทอยู่ในสิงคโปร์

สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฟินเทคเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เล่นจากทั้งในและนอกประเทศ โดยมีฟินเทคสตาร์ทอัปที่เป็นสมาชิกของสมาคมฟินเทคประเทศไทยจำนวนเกือบ 70 บริษัท โดยการที่มีบริษัทฟินเทคในประเทศมาก สามารถเป็นตัวสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของโลกการเงินดิจิทัลได้ดี

ดันไทยสู่ “ฟินเทคฮับ"

นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เปิดเผยกับทาง“กรุงเทพธุรกิจ”ว่า การที่ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ “ฟินเทคฮับ” เป็นการเพิ่มโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนได้ จะสามารถดึงดูดการลงทุน และเงินทุนของนักลงทุนจากทั่วภูมิภาคเอเชียหรืออาจถึงระดับโลก แต่ถ้าเทียบระดับการเติบโตฟินเทคฮับของประเทศไทยนั้น  แต่ต้องยอมรับว่า“ฟินเทค ฮับ”ในประเทศไทย ยังไม่สามารถสู้กับต่างประเทศได้ 

แม้ว่าไทยจะมีการทำธุรกรรมด้วยการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment)ที่มีผู้ใช้งานเติบโตเป็นอันดับที่ 1ของโลก แต่การสร้าง “ฟินเทค ฮับ” ในประเทศไทย จะต้องมีจำนวนสตาร์ทอัปฟินเทคในไทยเพิ่มมากขึ้น มีการระดมทุนที่มากขึ้นและการสร้างงานวิจัย บทวิเคราะห์ต่างๆเพื่อใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมฟินเทคและดิจิทัลแอสเสทมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังถือว่ามีขนาดที่เล็กกว่าสิงคโปร์มาก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องที่เรามักเห็นกันเป็นการลงทุนจากบริษัทไทย VC ไทยที่ลงทุนด้วยกันเอง ทำให้ธุรกิจหรือการลงทุนนั้นๆเติบโตเพียงแค่ในประเทศหรือไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มขั้น จึงไม่แปลกที่หลายๆบริษัทในไทยเดินทางไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศสิงคโปร์ 

ธุรกิจไทยเดินหน้าจดทะเบียนต่างประเทศ

เมื่อธุรกิจฟินเทคเติบโตขึ้น และมีความมั่นคงในประเทศไทยระดับหนึ่งแล้ว หากเป็นบริษัทสตาร์ทอัพต้องมีการเติบโตที่วางเป้าหมายไว้ว่าจะเติบโตอย่างไร ซึ่งหนึ่งในเรื่องราวของการเติบโตคือการก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ นั่นคือ “Hub” ที่สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัทฟินเทค 

หากมองดูตัวเลขประชากรศาสตร์ของประเทศสิงค์โปรแล้ว มีจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย สะท้อนได้ว่าสิงค์โปรถือเป็นฐานการจดทะเบียนบริษัทที่ดีสำหรับภูมิภาคเอเชียและระดับโกลบอล เพราะจะพึ่งพากลุ่มลูกค้าและผู้ใช้งานจากประชากรในประเทศสิงคโปร์อย่างเดียวคงไม่สามารถเพียงพอต่อการเติบโตตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

โดยหลายบริษัทที่ไปจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศ ไม่ได้แปลว่าจะเลิกกิจการในไทย  ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์การตลาด ที่เป็นการวางรากฐานบริษัทเพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเจาะกลุ่มไม่ได้มีเพียงบริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนที่บริษัทต่างประเทศ เช่นเดียวกับบริษัท skateway ก็เข้ามาจดทะเบียนในไทยเพื่อต้องการรุกตลาดในประเทศไทยมากขึ้น

กรอบการดูแลธุรกิจฟินเทค

นายชลเดชกล่าวถึง กรอบการควบคลุมธุรกิจฟินเทค ทุกเซคเมนท์ ถ้าหากต้องการให้บริการลูกค้าไทย ยังไงก็ต้องจดทะเบียนในไทย ซึ่งในไทยมีผู้ควบคุมดูแลในกลุ่มฟินเทคและไฟแนนซ์ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

โดยเรื่องของกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเกี่ยวกับบริษัทฟินเทค ในกลุ่มดิจิทัลแอสเสทของไทยและสิงค์โปร มีความคล้ายคลึงกันมากในเรื่องของกฎการกำกับดูแลคุ้มครองนักลงทุน เช่น การควบคุมการโฆษณาให้อยู่ในข้อจำกัดที่ได้วางไว้ แต่มีความแตกต่างในเรื่องของประเด็นข้อกฎหมายและความยากง่ายของการขอจดทะเบียน ที่กฎหมายในประเทศไทยยังคงมีความเข้มงวดสูงกว่า อาจเป็นหนึ่งในเหตผลที่หลายๆบริษัทเลือกที่จะไปจดทะเบียนในต่างประเทศ

หนทางสู่ “โกลบอลคอมพานี”

นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด หรือ Cryptomind เปิดเผยกับทางกรุงเทพธุรกิจว่าในโลกวงการไฟแนนซ์มีหลายๆไพรเวทฟันด์เข้าไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ ฮ่องกงและหลายบริษัทฟินเทคเริ่มจดทะเบียนเพื่อเริ่มธุรกิจในประเทศดูไบ 

โดยการเข้าไปจดทะเบียนในต่างประเทศจะต้องดูจุดประสงค์การทำธุรกิจโดยหลายๆ ครั้ง ถ้าบริษัทต้องการเติบโตไปเป็น“โกลบอลคอมพานี” หรือบริษัทระดับโลก มักจะจดทะเบียนในต่างประเทศมากกว่า เช่น การจดทะเบียนบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีเวป 3 ที่ต้องมองตัวเองเป็นโกลบอลเพลเยอร์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มธุรกิจ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ไร้พรมแดน และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด

 ทั้งนี้มีหลายบริษัทในประเทศไทยที่เดินไปจดทะเบียนบริษัทในหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละบริษัทหรือธุรกิจนั้นๆ เหมาะสมกับพื้นฐานตลาดที่ไหน แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนธุรกิจที่ไหนนั้นไม่สำคัญ เพราะเป็นการมองถึงโอกาสที่จะได้รับ ที่จะสามารถบริการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและนำเสนอแพลตฟอร์มให้คนทั่วโลกได้ง่ายยิ่งขึ้นมากกว่าที่จะจดในประเทศไหนประเทศหนึ่ง ที่มีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน และไม่สามารถทำธุรกิจได้อย่างอิสระตามที่บริษัทนั้นๆตั้งเป้าหมายไว้ ถ้าหากเป้าหมายคือการเติบโตระดับโกลบอลสุดท้ายแล้วการไปจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศก็สามารถดึงดูดลูกค้าได้เหมือนกัน