"บิทคับ" ชวนเปิดมุมมอง กรณีศึกษา Dogecoin กับความสำคัญของ Network Effect

"บิทคับ" ชวนเปิดมุมมอง กรณีศึกษา Dogecoin กับความสำคัญของ Network Effect

เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะทราบข่าวเกี่ยวกับการเข้าซื้อบริษัท Twitter ของนายอีลอน มัสก์ กันไปแล้ว และข่าวนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เหรียญ Dogecoin ที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีสกุลหนึ่งมีราคาสูงขึ้นทันที

แม้ดูเผินๆ การเข้าซื้อบริษัทดังกล่าวจะไม่เกี่ยวอะไรกับ Dogecoin เลยก็ตาม แต่ทำไมกลับส่งผลต่อราคาได้ขนาดนั้น หากจะอธิบายสิ่งนี้ได้ ก็ต้องว่าด้วยเรื่องของ Network Effect และในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า Network Effect เกี่ยวกับ Dogecoin และคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ อย่างไร เรามาเรียนรู้กันได้เลย

Dogecoin คืออะไร?

Dogecoin คือ คริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 โดยนาย Jackson Palmer และ Billy Markus ที่เกิดไอเดียต้องการสร้างเหรียญเพื่อล้อเลียน Bitcoin โดยนำรูปมีม Doge (โดช) ที่เป็นเจ้าหมาพันธุ์ชิบะอินุชื่อ Kabosu ที่ทำท่ามองด้วยหางตาซึ่งกำลังเป็นมีม (Meme) ยอดฮิตของอินเทอร์เน็ตช่วงนั้นมาเป็นโลโก้ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ Dogecoin (DOGE) นั่นเอง

ไม่แปลกที่ Dogecoin จะถูกเรียกว่าเหรียญมีม เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียน และสร้างเสียงหัวเราะ แถมยังไม่มีธุรกิจใดนำไปใช้จริง แต่เพราะด้วยความน่ารักดูเป็นมิตรต่างกับคริปโทเคอร์เรนซี สกุลอื่น รวมถึงสามารถใช้แลกเปลี่ยนผ่านบล็อกเชนได้จริง เพราะมันถูกสร้างขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจาก Litecoin ที่ต่อยอดมาจาก Bitcoin อีกทีหนึ่ง

จากคุณสมบัติที่ว่าด้วยความน่ารัก ดูเป็นมิตร และสามารถใช้แลกเปลี่ยนผ่านบล็อกเชนได้จริง ทำให้ช่วงแรก Dogecoin ถูกจ่ายเป็นทิปให้กับผู้ใช้บนโซเชียลมีเดียอย่าง Reddit แต่ต่อมาอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีเจ้าของ Tesla และ SpaceX ก็ดันไปถูกใจเจ้า Dogecoin และนำมาพูดถึงบ่อยๆ ใน Twitter จน Dogecoin กลายเป็นที่รู้จักไม่น้อยหน้าเหรียญอื่นๆ

Network Effect คืออะไร?

"บิทคับ" ชวนเปิดมุมมอง กรณีศึกษา Dogecoin กับความสำคัญของ Network Effect

 

Network effect คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มคนหรือผู้ใช้เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้มูลค่าของสินค้าหรือบริการสูงขึ้น เพราะเมื่อมีจำนวนผู้ใช้สูงขึ้น ก็จะดึงดูดผู้ใช้รายใหม่ๆ ให้เข้ามา และมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เกิดเป็น Network effect ที่ทรงพลัง เป็นผลดีต่อทั้งเครือข่าย และยังเป็นการยากที่คู่แข่งหรือสินค้าอื่นจะมาแทนที่อีกด้วย

ยกตัวอย่าง Network Effect ที่แข็งแกร่ง นั่นคือ แอปพลิเคชัน LINE ที่คนไทยนิยมใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่ใช้เพื่อแชทเรื่องส่วนตัวไปจนถึงการทำงานในบางองค์กร ยิ่งมีคนใช้ LINE มากเท่าไร คนที่ยังไม่มีบัญชี LINE ก็จะถูกกดดันให้ต้องมีบัญชีมากขึ้นเท่านั้น เพราะการใช้แอป เดียวกันจะทำให้สื่อสารกันง่ายกว่า และยังไม่นับเหล่าครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์สติกเกอร์หรือธีมมาให้อุดหนุนกันจำนวนนับไม่ถ้วน เกิดเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ทำให้คนไทยเกือบทุกคนต้องหันมาใช้ LINE กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นแอปพลิเคชันแชทหรือโซเชียลที่ไม่มีคนใช้หรือมีคนใช้น้อยมาก ทั้งผู้ใช้ทั่วไปรวมถึงเหล่าครีเอเตอร์ก็แทบไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องใช้หรือสร้างผลงานบนแอปนั้นเลย กลายเป็น Network Effect ที่อ่อนแอ และอาจส่งผลให้แอป นั้นต้องปิดตัวลงไปได้

Network Effect เกี่ยวกับ Dogecoin อย่างไร?

ก่อนเราจะมาดูความเกี่ยวข้องกันระหว่าง Network Effect และ Dogecoin ก่อนอื่นต้องอธิบายหลักการทำงานของบล็อกเชนที่เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง Dogecoin รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ กันก่อน

บล็อกเชน (Blockchain) ถือเป็นฐานข้อมูล (Database) รูปแบบหนึ่ง แต่แทนที่จะเป็นฐานข้อมูลที่จัดเก็บข้อมูลไว้ที่ตัวกลางเพียงคนเดียว บล็อกเชนกระจายสำเนาข้อมูลออกไปตามผู้ที่อยู่ในเครือข่าย ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าโหนด (Node) ซึ่งแต่ละโหนดจะถือสำเนาเหมือนกันเสมอ และจะมีการตรวจสอบให้ข้อมูลในสำเนาเหมือนกัน ทำให้ไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลบนบล็อกเชนได้

ในกรณีที่ต้องการเพิ่มข้อมูลชุดใหม่ลงไป บล็อกเชนจะมีกลไกที่ทำให้ทุกโหนดในเครือข่ายสามารถเห็นตรงกันว่าข้อมูลชุดใหม่ที่จะถูกเพิ่มลงไปนั้นถูกต้อง เรียกว่ากลไกฉันทามติ (Consensus Algorithm) โดยกลไกฉันทามติของเครือข่าย Dogecoin เรียกว่า Proof-of-Work มีหลักการทำงานคือ เมื่อมีข้อมูลชุดใหม่ต้องการถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชน ระบบจะสุ่มโจทย์สมการขึ้นมาให้โหนดในเครือข่ายแก้โดยใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล โหนดที่สามารถแก้สมการได้ก่อนจะมีสิทธิเพิ่มข้อมูลนั้นลงไปในเครือข่าย หรือเรียกว่าสร้างบล็อกเพิ่มนั่นเอง นอกจากนี้ ยิ่งมีโหนดในเครือข่ายมากเท่าไร ระดับความยากของโจทย์สมการก็จะถูกปรับให้ยากขึ้นเท่านั้น เพื่อทำให้ระยะเวลาในการสร้างบล็อกอยู่ในระดับที่เหมาะสม

สาเหตุที่ทำให้บล็อกเชนนับเป็นฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง นั่นก็เพราะการที่จะสามารถแก้ไขข้อมูลที่ถูกบันทึกลงบนบล็อกเชนไปแล้วจำเป็นต้องมีโหนดในเครือข่ายจำนวนอย่างน้อย 51% เห็นชอบด้วย นั่นจึงทำให้การแฮกบล็อกเชนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ ยิ่งเป็นเครือข่ายที่มีโหนดเยอะเท่าไร การจะโน้มน้าวให้โหนดจำนวน 51% เห็นชอบกับข้อมูลที่เท็จก็ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้นเท่านั้น

เมื่อเข้าใจหลักการทำงานของบล็อกเชนแล้ว ผู้อ่านก็น่าจะเริ่มเดาออกแล้วว่า Network Effect เกี่ยวกับ Dogecoin อย่างไรบ้าง นั่นคือ ยิ่งเป็นเครือข่ายที่ได้รับความนิยมสูง มีจำนวนโหนด และผู้ใช้เยอะ เครือข่ายก็จะยิ่งมีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีคนต้องการใช้ Dogecoin มากขึ้นก็ส่งผลให้มูลค่าของมันสูงขึ้นตามมานั่นเอง

โดยในปี 2564 กลุ่มผู้ใช้ Reddit เคยนัดรวมตัวกันซื้อเหรียญ Dogecoin เพื่อผลักดันให้ราคา Dogecoin พุ่งสูงขึ้นถึง 1 ดอลลาร์ แม้พวกเขาจะยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่ราคา Dogecoin ก็พุ่งสูงขึ้นไปถึง 340% แถวระดับ 0.0469 ดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ซึ่งเหตุการณ์นั้นได้ทำให้ทั่วโลกรู้จักกับเหรียญเจ้าหมานี้

ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากการที่ Dogecoin เป็นเหรียญที่นายอีลอน มัสก์ ดูจะโปรดปรานเป็นที่สุด เกือบทุกครั้งที่เขาพูดถึง Dogecoin บนโซเชียลมีเดีย ราคาเหรียญก็มักจะปรับสูงขึ้นตาม ทำให้การเข้าซื้อบริษัท Twitter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่ง กลายเป็นกระแสที่นักลงทุนคาดว่าเขาจะนำ Dogecoin มาใช้บน Twitter ถึงขนาดที่บางคนแนะนำให้เปลี่ยนโลโก้นกสีฟ้าของ Twitter เป็นรูป Doge เลย อย่างไรก็ตาม นี่ก็ยังเป็นเพียงกระแสคาดการณ์เท่านั้น ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการมาจาก Twitter ที่มีอีลอน มัสก์ เป็นหัวเรือคนใหม่แต่อย่างใด (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565)

ข้อควรระวังเกี่ยวกับ Dogecoin

มาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านบางท่านอาจเกิดความสนใจอยากลงทุนในเหรียญ Dogecoin ขึ้นมา ดังนั้นผมจึงอยากเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องระวังก่อนลงทุนในเหรียญนี้ให้ผู้อ่านนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

  1. Dogecoin ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสนุก - ก่อนอื่นต้องย้ำอีกครั้งว่าแรกเริ่มเดิมที Dogecoin นั้นถูกสร้างมาสนุกๆ เท่านั้น ขนาดผู้สร้างเองก็ยังคาดไม่ถึงว่ามันจะสามารถเติบโตมาได้ถึงขนาดนี้
     
  2. Dogecoin มีอุปทานเหรียญไม่จำกัด -  Dogecoin ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่จำกัดจำนวนเหรียญใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นมา หมายความว่า Dogecoin มีอุปทาน (Supply) ไม่จำกัด ตรงกันข้ามกับ Bitcoin และเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ส่วนใหญ่ในตลาดที่มีปริมาณเหรียญจำกัด ทำให้ Dogecoin มีความเสี่ยงจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อค่อนข้างสูง

 

  1. ราคาอาจผันผวนรุนแรง - ไม่ใช่แค่ Dogecoin เท่านั้น แต่มูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีเกือบทุกสกุลสามารถผันผวนได้มากกว่า 25% ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากบล็อกเชนเป็นระบบกระจายอำนาจที่ไม่มีตัวกลางคอยดูแลการซื้อขาย ทำให้การซื้อขายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นไปตามหลักอุปสงค์ - อุปทาน

ดังนั้น หากสนใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ก่อนอื่นต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองให้ดีว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และควรพิจารณานำเงินเย็นหรือเงินที่ต่อให้สูญเสียไปก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการใช้ชีวิตเข้ามาลงทุนเท่านั้น

สรุป

จะเห็นได้ว่า Network Effect ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะต่อให้เป็นแอป ที่มีฟีเจอร์โดดเด่นแค่ไหน หากไม่มีคนใช้ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นได้

ซึ่ง Dogecoin ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียว เพราะต่อให้มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตร และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงอย่างอีลอน มัสก์  ทำให้ Dogecoin มีชุมชนที่ใหญ่ และเหนียวแน่น กลายเป็นหนึ่งในคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก

อ้างอิง Sage journals, Economics Help, CNN, Bitkub Blog

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์