Venture Capital ปรับกลยุทธ์ลงทุน “สตาร์ทอัพ” เน้นธุรกิจแกร่ง มีรายได้ทันที

Venture Capital ปรับกลยุทธ์ลงทุน “สตาร์ทอัพ” เน้นธุรกิจแกร่ง มีรายได้ทันที

เศรษฐกิจโลกชะลอเม็ดเงินในระบบวูบทำกองทุน Venture Capital ทั่วโลกเริ่มรัดเข็มขัด " พร้อมปรับกลยุทธ์ใหม่ เน้นใส่เงินรายที่สามารถสร้างกำไรได้ทันที

    เมื่อ“เศรษฐกิจทั่วโลก” ชะลอตัวในปีนี้และมีแนวโน้มปีหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย แน่นอนว่า “สตาร์ตอัปทั่วโลก"ทำธุรกิจยากขึ้น มีอัตราการขยายตัวช้าลง สะท้อนไปยังมูลค่าทางการเงินลดลงตามไปด้วย

      ทำให้กลุ่มนักลงทุนประเภทกองทุนร่วมลงทุน(Venture capitalหรือ VC)ในสตาร์ตอัปมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนดังกล่าวลดลงจนเริ่มเกิดคำถามว่า “สตาร์ตอัป” ยังมีน่าสนใจและสามารถขยายตัวต่อไปได้หรือไม่ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัปที่ชะลอตัวลงเหมือนกันทั่วโลก

       นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ปีนี้เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนของ VC ในธุรกิจสตาร์ตอัปทั่วโลก ลดลงราว20% จากปีก่อนและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในปีหน้าด้วย

      สาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแรก ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว กดดันสตาร์ตอัปทำธุรกิจยากขึ้น รายได้ลดลง ส่งผลต่อมูลค่าธุรกิจลดลง กระทบต่อความเชื่อมั่นของ VC ชะลอการลงทุน

 

        และปัจจัยต่อมาทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจากเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ส่งผลต่อการประเมินมูลค่าทางการเงิน (Valuation) ของธุรกิจ สตาร์ตอัปปรับตัวลงทันที แต่ตอนนี้ สตาร์ตอัป ยังติดกับดัก เสนอขายในราคาที่สูงอยู่

       ขณะที่VCอยากชะลอการลงทุนในภาวะเช่นนี้ และต้องเฟ้นหาสตาร์ตอัปที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติให้กับผู้ลงทุน ประกอบกับความต้องการของผู้ลงทุน ก็หันไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำแทน เพื่อถือครองระยะยาว เช่นพันธบัตรและหุ้นกู้เป็นต้น

     “ตอนนี้การลงทุนในสตาร์ตอัป เหมือนอยู่ในช่วงของไก่กับไข่ คือ ฝั่ง VCยังเชื่อใจสตาร์ตอัปอยู่ แต่เห็นราคาที่สตาร์ตอัปเสนอขายแล้ว ห่างกันถึง 10% ยังไม่สามารถไปด้วยได้ในภาวะเช่นนี้จึงเห็นเม็ดเงินลงทุนของ VC น้อยลงไป”

ปรับเกณฑ์ลงทุนสตาร์ตอัป 

    นายแซม กล่าวว่าหลังจากนี้เราปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาลงทุนให้ละเอียดและรัดกุมมากขึ้น ในแง่ของปัจจัยเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและแผนธุรกิจสตาร์ตอัปต้องมีความเป็นไปได้เช่น ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวสตาร์ตอัป มีโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างไร “ให้รอด” พร้อมทั้ง “ต้องรุ่ง” หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นด้วย , เน้นการลงทุนสตาร์ตอัปที่เห็นผลกำไรโดยเร็วและมากกว่าปกติ แม้ระยะเวลาบอกไม่ได้ชัดแต่แผนสร้างกำไรที่ชัดเจนและเป็นไปได้และชะลอการลงทุนระยะยาวในสตาร์ตอัปที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี่ไปก่อน

     “สตาร์ตอัปต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เพราะโมเดลเดิมที่เน้นเบิร์นเงินเข้ามาเยอะๆ สร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก แล้วไปกำไรปีหลังๆ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว เริ่มมีปัญหา มูลค่าธุรกิจลดลงไปมากเป็นเท่าตัว และภาวะการลงทุนไม่เอื้ออำนวย จะเห็นว่าที่ผ่านมา สตาร์ตอัปมีจำนวนน้อยลง และกลุ่มที่จะสามารถขึ้นสู่ระดับซีรีย์ B หรือ A มีน้อยลง”

จ่อเพิ่มพอร์ต"สตาร์ตอัปเชื่อมESG"

    สำหรับแผนการลงทุนสตาร์ตอัปของกรุงศรี ฟินโนเวต ช่วงที่เหลือปีนี้และปีหน้า นายแซม กล่าวว่ายังคงสนับสนุนสตาร์ตอัปไทย เพื่อมาต่อยอดทางธุรกิจให้กับกลุ่มนักลงทุนของเราเป็นหลัก

      ในปีหน้าเราเตรียมเพิ่มการลงทุนในกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัป ที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่อง ESG เข้ามามากขึ้น เพราะทุกธุรกิจต้องหาเครื่องมือให้ธุรกิจของตัวเองเข้าสู่กระบวนการของ ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ของทั้งโลก ขณะเดียวกันยังคงมุ่งลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเติบโตตามเทรนด์ของโลก

     เช่น อีคอมเมิร์ซ ออโตโมทีฟรวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวกับทคโนโลยีบล็อกเชน และ Decentralized Technology Fund เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบการจัดการรองรับสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิงของธนาคารกรุงศรี

คงเป้าปีหน้าใช้เงินลงทุน 1-2 พันล.

    ด้านเม็ดเงินลงทุนในปีหน้ายังคงวางเป้าหมายเท่าเดิมเฉลี่ย1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี แต่คงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนจะใช้ทั้งหมดได้หรือไม่ เพราะหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก อาจใช้เงินลงทุนทำได้ระดับ 1,500-1,600 ล้านบาท

    ขณะที่ช่วงเหลือปีนี้ มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงราว 2,000-2,500ล้านบาท จากที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 2,500-3,000 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท

     ในส่วน “กองทุนฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I” สิ้นปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท หรือทำได้ราว 80% จากเป้าหมาย1,000 ล้านบาท กองทุนดังกล่าวมีเงินระดมทุนทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท คาดใช้เงินลงทุนระดับ 1,000ล้านบาทในปีหน้า

      ส่วนกองทุน FINNOVERSE Investment Plan มีเม็ดเงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนโดยตรงของกรุงศรี ฟินโนเวตมีเป้าหมายการลงทุนปีละ 300 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2565 -2567 )

      นอกจากนี้ยังคงมีแผนจัดตั้งกองทุนใหม่ ในช่วงกลางปีหน้า ระดมเงินลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ผ่าน Finnoventure Private Equity เป็นกองที่ 2 มุ่งสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยในระดับ Seed stage ให้สามารถแจ้งเกิดสู่ระดับยูนิคอร์นได้ ขณะที่ผู้ลงทุนยังได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในระดับซีรีย์ A ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 25% ต่อปี

บัวหลวงเวนเจอร์สเพิ่มเงินลงทุน

    นายกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัปในปีที่ผ่านมา แม้ภาพรวมจะเห็นเวนเจอร์ส์ต่างๆลงทุนลดลง แต่ในส่วนของบัวหลวงเวนเจอร์ส มีการเข้าไปลงทุนมากกว่าเดิม โดยลงทุนไปตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันที่ราว 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น หากเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะมองว่าเป็นจังหวะในการเข้าไปลงทุนมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19ที่ผ่านมาทำให้บริษัทเห็นสตาร์ตอัปชัดเจนมากขึ้น ว่าสตาร์ตอัปใดอยู่รอด หรือไม่รอดในช่วงโควิด

      ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนหลังจากนี้ บริษัท conservative มากขึ้น จะเน้นลงทุนในสตาร์ตอัปที่ใหญ่ขึ้น เน้นซีรีส์ C ขึ้นไป เพราะสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า และเน้นสตาร์ทอัพที่สามารถดำเนินการ และมีรายได้เกิดขึ้นแล้ว ที่จะเป็นธุรกิจที่จะอยู่รอดในระยะยาวมากกว่า

      “ไตรมาส4ปีนี้ จะเห็นบริษัทเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ที่เกี่ยวกับดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นอีกราว 50-60ล้านบาท และสิ้นปีนี้เตรียมเสนอคณะกรรมการธนาคาร(บอร์ด)ในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อขอเพิ่มทุนในบัวหลวงเวนเจอร์ส เพื่อให้บริษัทมีทุนเพียงพอในการใช้ลงทุนในปีหน้าด้วย จากที่ลงทุนไปแล้ว 2 พันล้านบาท

     โดยกลุ่มที่ธนาคารสนใจยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในฟินเทค อีคอมเมิร์ซ ฯลฯทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในเซาส์อีสเอเซีย”
เดินหน้าลงทุนสตาร์ตอัปต่อเนื่อง

      นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในส่วนของ Beacon VC ยังคงดำเนินการลงทุนสตาร์ตอัปต่อเนื่อง และยังมุ่งเน้นมองหาสตาร์ตอัป เพื่อมาเสริมศักยภาพการสร้างประโยชน์ให้ลูกค้า

       ทั้งนี้การพิจารณาเข้าไปลงทุน Beacon VC ยังใช้เกณฑ์การพิจารณาเช่นเดิม คือสตาร์ตอัป ที่มีศักยภาพเติบโต และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยบริษัทจะมองหาบริษัทที่ใช้เงินในการแข่งขันและเติบโตอย่างชาญฉลาด มีความรู้ความเข้าใจในการธุรกิจและมีมุมมองต่อการแนวโน้มตลาดในอนาคตที่ดี มีทีมดำเนินงานที่เข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาและเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ดี ปรับตัวเร็ว

      สำหรับการเข้าไปลงทุนของบริษัทปีนี้ เข้าไปลงทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 25 ล้านดอลาร์ ลงทุนหลากหลาย เช่นในอุตสหกรรม Digital Asset, Payment Capability, และ Customer Relationship Solutions ขณะที่ปีหน้ายังมุ่งลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สามารถช่วยต่อยอดธุรกิจธนาคารได้เช่น Digital Asset, ESG, หรือ Infrastructure

แนะปรับโมเดลธุรกิจรับโลกใหม่

    นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่า ธุรกิจสตาร์ตอัปนับแต่วินาทีนี้ ต้องปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และเป็นให้ได้มากกว่าแค่ธุรกิจที่ทำกำไรอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางการเผชิญการถดถอยของเศรษฐกิจ และคลื่นลูกใหญ่ที่จะซัดมาอีกระลอกคือ “ภาวะโลกร้อน” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

    โดยหนึ่งในรูปแบบที่โดดเด่น คือ Impact Innovation การสร้างนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของคน ไม่ใช่แค่สร้างกำไรเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ด้วย

    เขามองว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาสร้างโอกาสให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัป ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของ Venture Capital ระดับโลก สะท้อนจากตัวเลขการลงทุน Venture Capital อันดับหนึ่งของโลกที่ลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล ก็เห็นโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใส่เงินลงทุนในภูมิภาคนี้ในปี 2563-2564 ผ่าน Venture funding มูลค่าทุนกว่า 850 ล้านดอลลาร์

     ในอดีต เขาบอกว่า สตาร์ตอัป ต้อง Repeatable, Scalable และ Growth คือ การทำสูตรซ้ำๆ และเติบโตแต่ปัจจุบันสตาร์ทอัพต้องเป็น Repeatable, Scalable Profitable, Responsible และ Sustainable ด้วย

        สะท้อนจากสตาร์ตอัปที่เริ่มปรับตัวในการมีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น นโนบาย Net Zero นโนบายลดการใช้พลังงาน นโยบายสมาร์ทแอนด์กรีนซัพพลายเชน นโยบายเกี่ยวกับ Bio,Circular ฯลฯ อย่างจริงจัง

ต้องDisruptive สร้างการเปลี่ยนแปลง

     ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks วิเคราะห์ ว่าธุรกิจสตาร์ตอัปที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ และเติบโตในอนาคตจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ Impact & purpose driven สร้างผลกระทบ และขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ เติบโต ผลตอบแทนดี แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้โลกภูมิใจ

      Capital efficiency ใช้เงินของนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในอนาคตเงินจะไม่ได้มากเหมือนเดิมอีกแล้ว ต้องDisruptive สร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจเดิม รวมถึงสามารถสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อผลักดันตามเป้าหมายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้มากขึ้น

      Profitable Growth สร้างการเติบโตที่มีกำไรได้ไปพร้อมๆกับการไปถึงเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลก ต้องมีอCustomer Obsession ที่สามารถตอบสนองความปรารถนาของลูกค้าได้ที่สำคัญต้อง Tech Savvy มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

       ขณะที่ นับจากนี้ผู้ลงทุนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการมากกว่าผลกำไรอย่างเดียว แต่ยังมองหาสิ่งเหล่านี้จากสตาร์ตอัป ต่างๆ โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคมความยั่งยืน สร้างผลกระทบในภาคธุรกิจ 

      ปัจจุบันสตาร์ตอัปในเมืองไทย80% ใช้เงินลงทุนก้อนแรกของกองทุน 500 Tuktuks ส่วนการเลือกว่าจะไปลงทุนกับบริษัทไหน จะดูจากตัว Founder เป็นหลัก จากนั้นดูว่าสิ่งที่ทำตลาดใหญ่พอไหม ดูความเป็นไปได้ของธุรกิจ 

       ขณะที่ตัวเร่งที่จะดันให้สตาร์ตอัปก้าวไปได้เร็ว คือการสนับสนุนจากรัฐบาล จะเห็นบริษัทสตาร์ตอัปไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ เพราะเขาได้เรื่องภาษีที่ดีกว่า เรื่องนี้สตาร์ตอัปทำเองไม่ไ่ด้ ก็ต้องให้รัฐบาลสนับสนุน