เมื่อสหรัฐเร่งกำหนดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ | สุมาพร มานะสันต์

เมื่อสหรัฐเร่งกำหนดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ | สุมาพร มานะสันต์

ย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค.2565 ประธานาธิบดีไบเดนได้เซ็นหนังสือคำสั่งพิเศษ หรือ Executive order on Ensuring Responsible Development of Digital Assets ถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล  เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านสังคมและเทคโนโลยี

 หนังสือคำสั่งพิเศษระบุให้เร่งศึกษาและจัดทำรายงานเพื่อวิเคราะห์ประโยชน์ ความเสี่ยง และทิศทางการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยีพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ CBDC 

          ปัจจุบัน ในเดือน ก.ย. 2565 รายงานดังกล่าวได้มีความสมบูรณ์ในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหารายงานมากถึง 9 ฉบับ และถือว่าเป็นรายงานร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของสหรัฐฯ 

ภายใต้ความคาดหวังให้ผลของการศึกษา เป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการให้บริการทางการเงินของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้บริษัทสหรัฐเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวในตลาดโลก พร้อมกับศึกษาผลกระทบในด้านลบที่อาจตามมาจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในแง่มุมต่าง ๆ  

          อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐฯ จะไม่ได้เปิดเผยผลการศึกษาทั้งหมดให้กับสาธารณะชนได้รับทราบ แต่ได้มีการสรุปกรอบนโยบายที่เหมาะสมในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของสหรัฐใน 6 ประเด็นหลัก

อันได้แก่ การให้ความคุ้มครองผู้บริโภค นักลงทุน และภาคธุรกิจ, การสร้างเสถียรภาพให้ระบบการเงิน, การป้องกันการฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงิน, การส่งเสริมการแข่งขันให้สหรัฐเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลก, การสร้างความรับผิดชอบต่อการพัฒนาของนวัตกรรม และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน

เมื่อสหรัฐเร่งกำหนดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ | สุมาพร มานะสันต์

ผู้เขียนขอสรุปย่อในประเด็นสำคัญ ดังนี้

         เพิ่มความคุ้มครองให้ประชาชน
               จากข้อมูลของ FBI สหรัฐ พบว่า กรณี Digital Asset Scams หรือ การหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 600% ในปี 2564 หากเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ประกอบกับการผันผวนในด้านราคาของคริปโทเคอร์เรนซีส่งผลให้รายงานฉบับดังกล่าวกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมในหน่วยงานภาครัฐใน

การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน อันได้แก่ ให้ US SEC และ CFTC (คณะกรรมาธิการการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า) เร่งสอบสวนและดำเนินอย่างเด็ดขาดกับกรณีการกระทำความผิดว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

อีกทั้งให้ CFPB (สำนักงานคุ้มครองด้านการเงินของผู้บริโภค) และ FTC (คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง) ร่วมมือตรวจสอบข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล

รวมทั้งให้ FLEC (คณะกรรมมาธิการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน) ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

เมื่อสหรัฐเร่งกำหนดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ | สุมาพร มานะสันต์

                 ปรับปรุงกฎหมายเพื่อสร้างความปลอดภัย
           เพื่อป้องกันการฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล หนึ่งในแผนการบริหารงานที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ คือ การให้ประธานาธิบดีพิจารณาความเหมาะสมในการเสนอต่อสภาครองเกรสในการปรับปรุงกฎหมาย Bank Secrecy Act และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการให้บริการทางการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ (Unlicensed Money Transmitting) รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT

โดยกระทรวงการคลังสหรัฐจะจัดทำรายงานเพื่อประเมินความเสี่ยงจากการฟอกเงินภายใต้ระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางและความเสี่ยงจากการใช้งาน NFT ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2567 และ ก.ค. 2567 ตามลำดับ 

               นอกจากนี้ ให้มีการประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมในการพิจารณาเพิ่มบทกำหนดโทษกับการกระทำที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ในการให้บริการทางการเงินด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมทางการเงิน และให้เผยแพร่แนวทางดังกล่าวไปยังหน่วยงานตุลาการในสหรัฐทั่วกัน

เมื่อสหรัฐเร่งกำหนดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ | สุมาพร มานะสันต์

สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้สินทรัพย์ดิจิทัล
แม้สหรัฐจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังคงมีประชาชนจำนวนราว 7 ล้านคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และกว่า 24 ล้านคนที่ใช้บริการทางการเงินที่มีราคาแพง จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ Fed ในการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์ หรือ FedNow โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2567 

ดังนั้น เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการดังกล่าว รายงานฉบับนี้ จึงศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการโอนเงินระหว่างผู้ใช้งานต่างแอปพลิเคชัน โดยให้สามารถใช้ร่วมกับการชำระเงินของเอกชนรายต่าง ๆ ได้ หรืออาจเป็นการทำธุรกรรมระหว่างรัฐและเอกชนได้

นรายงานกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเร่งศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับ Non-Bank Service provider

โดยให้ NSF (มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ) ทำการศึกษาเพิ่มเติมในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินแบบเรียลไทม์อย่างปลอดภัย 

     นอกจากนี้ ในระดับระหว่างประเทศ กระทรวงการคลังสหรัฐยังมีโครงการประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น กับ OECD เพื่อสร้างกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานระหว่างประเทศสมาชิก และกับ FSB (คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

FSB เป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลภาคการเงินอยู่แล้ว

เมื่อสหรัฐเร่งกำหนดนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งใหญ่ | สุมาพร มานะสันต์

    สนับสนุนธุรกิจสหรัฐให้เติบโต
    รายงานฉบับดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันธุรกิจด้านการเงินและเทคโนโลยีให้เติบโตอย่างเหมาะสม

กล่าวคือ กระทรวงการคลังสหรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐได้ถูกเพิ่มหน้าที่ให้จัดทำคู่มือและปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทสหรัฐให้พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่เหมาะสม รวมถึงการให้ความสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Tech Sprints และ Innovation Hours 

          ในขณะเดียวกัน ให้กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเข้าพิจารณาประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital assets’ environmental impacts) ซึ่งบางกรณี อาจมีการใช้พลังงานเกินจำเป็นในการเข้าใช้งาน จึงควรมีการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อการพัฒนาของนวัตกรรม

นอกจากนี้ เพื่อให้สหรัฐเป็นผู้นำในตลาดโลก กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ช่วยแนะนำและหาช่องทางธุรกิจให้กับบริษัทสหรัฐเพื่อให้เป็นผู้นำในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในอนาคต

    ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า การพัฒนาของสหรัฐในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมาจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน อันเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ชัดเจน และน่าจับตามอง. 
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง