นักเศรษฐศาสตร์ห่วง เศรษฐกิจไทยฟื้น สวนทางครัวเรือนช็อตสภาพคล่องหนัก

นักเศรษฐศาสตร์ห่วง เศรษฐกิจไทยฟื้น สวนทางครัวเรือนช็อตสภาพคล่องหนัก

กอบศักดิ์” ชี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มน่ากังวล ส่งออก การลงทุน การบริโภคเริ่มแผ่ว สะท้อนเริ่มรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก " อีไอซี" คาด เงินเฟ้อสูงเกินกรอบ ธปท.ตั้งไว้ ถึงปี 67 ดัน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงสิ้นปีหน้า

      นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวในงานสัมมนา Virtual conference เศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้น วิกฤติหรือโอกาส? จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง ว่า เศรษฐกิจไทย ปัจจุบันเริ่มน่ากังวล

      เพราะล่าสุดส่งออกลดลง 2 เดือนต่อเนื่อง การลงทุน การบริโภคเอกชนเริ่มแผ่วสะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกที่กำลังแย่ได้เริ่มส่งผลมาสู่เศรษฐกิจไทยแล้ว
 

       ขณะที่ภาคท่องเที่ยวของไทย มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน และปลายปีขึ้นสู่ 1.5 - 2 ล้านคนต่อเดือนได้ ที่จะมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย เพราะน้ำหนักจากภาคท่องเที่ยว มีผลกับเศรษฐกิจไทยกว่า 10%

      และหากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง หนุนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะหนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถมีแต้มต่อ หรือขยายตัวสู่ระดับ 2-3% ได้ในระยะข้างหน้า
 

      อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง คาดว่าจะหนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในทุกรอบการประชุมไปสู่ 1.25% ในปีนี้ และ ก.พ.ปีหน้าเพิ่มเป็น 1.50%

.    ซึ่งการที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำที่ 1.25% ถือเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติซัพไพร์ม

โจทย์ยากนโยบายการเงิน

      ดังนั้นดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจพอสมควร แต่ ก.พ.ปีหน้า ที่ดอกเบี้ยแตะ 1.50% จะถือเป็น Milestone ที่สำคัญ ของการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางการชะลอตัว และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก ที่อาจเป็นโจทย์ยากสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น

      นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ภาวะถดถอยที่เป็นความเสี่ยงมากขึ้น เชื่อว่าอาจนำไปสู่ การผันผวนของเงินบาท ที่รุนแรงมากขึ้น และคาดว่าการแข็งค่าของดอลลาร์จะยังไม่จบรอบ เพราะเชื่อว่า เมื่อ fundamental หลายประเทศไม่ดี ต่างกับสหรัฐ ที่คาดเศรษฐกิจจะเข้มแข็งกว่า จีน หรือ ยูโรโซน ญี่ปุ่น ท้ายที่สุดเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย และดึงสภาพคล่องกลับ ขณะที่ประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง

      นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า   อีไอซีได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น เป็นขยายตัว 3% จาก 2.9%

     หลักๆ มาจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ที่ดีกว่าคาด โดยคาดเพิ่มเป็น 10.3 ล้านคนปีนี้ จากเดิมคาด 7.4 ล้านคน ปีนี้ และดีต่อเนื่องถึงปีหน้าที่ 28.3 ล้านคน ที่จะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง

      นายสมประวิณ กล่าวว่า ในด้าน “เงินเฟ้อ” แม้ผ่านจุดพีคแล้วหรือมีสัญญาณชะลอตัวระยะข้างหน้า แต่เงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่องที่ 3.2% ในปี 2566 ซึ่งยังเป็นระดับที่เกินกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% และกว่าที่เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย ธปท.ต้องรอถึงปี 2567 เงินเฟ้อถึงจะกลับเข้าสู่กรอบ 2.4%

      ทั้งนี้จากเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง เป็นปัจจัยฉุดรั้งครัวเรือนให้มีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาท ให้เผชิญความเปราะบางมากขึ้น

      ภายใต้เงินเฟ้อที่คาดจะอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อลดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ
       โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือปีนี้ ครั้งละ 0.25% และปีหน้า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้เป็นการขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อกระชากให้เงินเฟ้อลงมา

ชี้ “อาคม” มองโลกแง่ดี

     ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับรายการ “Street Signs Asia” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ว่าไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ตอนนี้จึงยังไม่กังวลมากเรื่องเงินทุนไหลออก

      สำหรับเงินทุนไหลออกเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนนำสินทรัพย์หรือเงินออกจากประเทศหนึ่งๆ เพื่อไปแสวงหาโอกาสดีกว่าที่อื่น เมื่อสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดความกังวลว่าอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากบางประเทศ เพราะนักลงทุนต้องการได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในสหรัฐ

      “หลายประเทศขึ้นดอกเบี้ยแค่ต้องการคุมไม่ให้ดอกเบี้ยเฟดกับอัตราดอกเบี้ยท้องถิ่นแตกต่างกันมากนัก แต่นั่นไม่ใช่กรณีไทย ผมคิดว่าเมื่อเราดูเงินทุนเข้าและออก เรายังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ อย่างที่คุณเห็น ตลาดหุ้นเราแม้จะผันผวนมากในช่วงนี้ ผู้ซื้อต่างชาติยังเป็นผู้ซื้อสุทธิสำหรับเงินทุนในไทย” นายอาคม กล่าว

      อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับเขา กาเรธ ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแผนกเอเชียของบริษัทแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า ธปท.อาจมองโลกแง่ดีเกินไปเนื่องจากเงินบาทร่วงลง 12% ตลอดปีที่ผ่านมา และทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็ว

      “ในแง่นโยบายการเงิน ธปท.กำลังเล่นเดิมพันแน่นอน เป็นความจริงที่ว่า มีหลายปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อ ทั้งอาหาร และพลังงานอยู่ในซัพพลายไซด์ และนโยบายการเงินตึงตัวจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มจาก 3.2% ในเดือนม.ค.มาอยู่ที่ 7.9% ในตอนนี้ถือเป็นความเสี่ยง”

      ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.อยู่ที่ 1% - 3% แต่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนส.ค.ทะลุ 7.86% ไปแล้ว เดือนดังกล่าวไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรอยู่ที่ 0.75% ครั้งสุดท้ายที่ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็เมื่อเกือบสี่ปีก่อน เดือนธ.ค.2561

      “แบงก์ชาติระวังมากๆ ในการขึ้นดอกเบี้ยช่วงเศรษฐกิจต้องฟื้นตัว” รัฐมนตรีคลัง กล่าวและว่า เนื่องจากเงินเฟ้อโลกมีสาเหตุมาจากความติดขัดด้านอุปทาน การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอุปสงค์อาจไม่ใช่แนวทางที่ได้ผล ตัวเขาเองไม่กังวลหนี้ต่างประเทศ แม้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เพราะไทยยังมีเครื่องยนต์ตัวอื่นขับเคลื่อนนอกเหนือจากภาคท่องเที่ยว
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์