“อาคม”ชูนโยบายโอนเงินดิจิทัลข้ามประเทศอาเซียนประชุมรมว.คลังเอเปค

“อาคม”ชูนโยบายโอนเงินดิจิทัลข้ามประเทศอาเซียนประชุมรมว.คลังเอเปค

“อาคม”เล็งผลักดันให้เกิดระบบการโอนเงินด้วยระบบดิจิทัลข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนต.ค.นี้ เพื่อให้ระบบการค้าขายระหว่างกันมีความคล่องตัวมากขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ต้องการผลักดันให้เกิดระบบการโอนเงินด้วยระบบดิจิทัลข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ในเดือนต.ค.นี้ กระทรวงการคลัง จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค  ซึ่งมีประเด็นที่เป็นวาระการประชุมที่สำคัญในสองเรื่องคือ เรื่องDigitalization for Digital Economy กับเรื่อง Sustainable Finance 

เขากล่าวว่า ในเรื่อง Digital Economy นั้น ในปัจจุบันไทยกับสิงคโปร์ ได้มีความร่วมมือกันในเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบดิจิทัล โดยผ่านระบบพร้อมเพย์ของไทย กับเพย์นาวของสิงคโปร์  ทำให้การโอนเงินระหว่างบุคคล ของทั้งสองประเทศนี้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งตนอยากให้เกิดการระบบการโอนเงินผ่านดิจิทัลนี้ในกลุ่มอาเซียนเช่นกันไม่เฉพาะไทยกับสิงคโปร์เท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวบริการนวัตกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศในมิติใหม่ที่สามารถทำได้ง่ายผ่าน Mobile banking และได้รับเงินแบบทันทีคู่แรกของโลกระหว่างระบบพร้อมเพย์(PromptPay) ของประเทศไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของประเทศสิงคโปร์ ทำให้ระบบการโอนเงินข้ามประเทศทำได้อย่างรวดเร็วทันใจด้วยระบบพร้อมเพย์ และระบบเพย์นาว เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินรายย่อยของทั้งสองประเทศที่มีการทำงานแบบ ผู้รับเงินได้รับเงินจากต้นทางในทันที 

อีกทั้งระบบดังกล่าว ยังมีความ“สะดวกและง่ายในการใช้งาน ด้วยบริการที่มีลักษณะเหมือนกับการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือระบบเพย์นาว ภายในประเทศที่ผู้ใช้บริการมีประสบการณ์และคุ้นชิน เพียงเข้าไปที่ mobile application ของธนาคารที่ให้บริการ จากนั้นเลือกฟังก์ชันโอนเงินต่างประเทศและเลือกPromptPay International ตามด้วยการกรอกแค่หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้แล้ว และจำนวนเงิน โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลอื่นจำนวนมากเหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดของบัญชีผู้รับโอน เป็นต้น ซึ่งลดความเสี่ยงในการกรอกข้อมูลผิดได้

นายอาคม ยังกล่าวอีกว่า  ช่วงโควิดนั้น การค้าของเราหยุดชะงัก แต่การค้าชายแดนไม่ได้หยุดชะงัก นั่นคือข้อดีของการสร้าง connectivity ไว้กับประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศในกลุ่มอาเซียน สิ่งที่เหลืออยู่คือกฎกติกาของการผ่านแดน ถ้าเราทำกฎกติกาในเรื่อง cross boarder หรือ Transport agreement หรือ trade facilitation เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกทางการค้า การพึ่งพาในกลุ่มอาเซียนก็จะมีมากขึ้นก็จะเป็นเกราะป้องกันในเวลาโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งจะกระทบเราด้วย แต่อย่างน้อยการช่วยเหลือกันภายในกลุ่มอาเซียนจะมีความเข้มแข็งกันมากขึ้น

สำหรับหัวข้อการประชุมอีกเรื่องหนึ่งของการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค นั้นก็คือ เรื่องความยั่งยืนทางการเงินหรือSustainable finance ซึ่งทุกประเทศมองเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องสร้างความยั่งยืนทางการคลังไม่ทำให้เกิดการก่อหนี้ล้นพ้นตัว   เพื่อให้การคลังของประเทศ สามารถรองรับวิกฤตต่างๆในอนาคตได้ 

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มเอเปคครั้งที่ 29  ( APEC FMM) ที่กรุงเทพ โดยมีนายอาคมรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 -21 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ การประชุมระดับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจาภาพในปีนี้ โดยหัวข้อหลักของการประชุม APEC ในปีนี้คือ Open Connect Balance ซึ่งจะคำนึงถึงการสร้าง ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิ กในบริบทโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  ที่เข้มแข็ง เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล  สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในทุกมิติผ่านแนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model