ผลการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทะเลชุมพรและสงขลา

ผลการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทะเลชุมพรและสงขลา

กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยผลการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพหน้าดินในพื้นที่ทะเล จ.ชุมพร และ จ.สงขลา

ซึ่งเก็บข้อมูลโดยร่วมมือกับชุมชนประมงท้องถิ่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ตามหลักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) และนำเสนอผ่านนิทรรศการ “LIFE ON SAND : From Seabed to Protected Areas”

พื้นที่ทั้งสองจังหวัดล้วนมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนเป็นผู้นำ (Community-led marine protected areas) และปกป้องสิทธิของชุมชนชายฝั่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากอุตสาหกรรม และประมงทำลายล้าง

ผลการสำรวจใน พื้นที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.จะนะ จ.สงขลา พบว่าทั้งสองพื้นที่มีระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย โดยตรวจพบสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเล เช่น

แพลงก์ตอนในกลุ่ม Amphioxus ชนิด Branchiostoma เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสะอาดของตะกอนพื้นทะเลที่มีลักษณะเป็นทรายหยาบ แพลงก์ตอนกลุ่มนี้กรองกินแพลงก์ตอนในน้ำและตัวมันเองยังเป็นอาหารให้กับสัตว์หน้าดินขนาดใหญ่ และกลุ่มปลา ซึ่งเชื่อมโยงสายใยอาหารในระบบนิเวศให้มีความซับซ้อนมากขึ้น

หนอนธนู เป็นนักล่าที่กินแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่น เช่น copepods และตัวอ่อนของสัตว์ทะเลหลายชนิด หนอนธนูจึงช่วยควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนสัตว์ให้สมดุล หากไม่มีพวกมัน ประชากรแพลงก์ตอนบางชนิดอาจเพิ่มขึ้นจนเกินสมดุลและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ หนอนธนูยังเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่หลากหลาย จึงมีบทบาทเป็น “แหล่งพลังงาน” ที่สำคัญในมหาสมุทรอีกด้วย

กุ้งลูซิเฟอร์ (Lucifer shrimp) เป็นฐานอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด เช่น ปลาเล็ก, ปลาหมึก, สัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินแพลงก์ตอนสัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ชุมชนนิยมนำมาใช้ในการทำกะปิ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ของไทย

กุ้งเต้น เป็นสัตว์กินอินทรีย์สารเป็นอาหาร (Omnivores) และกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร พฤติกรรมการกัดกินเศษซากอินทรีย์ เป็นการช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้เร็วขึ้น มีพฤติกรรมขุดรู (burrower) เป็นถิ่นอาศัย เป็นการช่วยหมุนเวียนออกซิเจน และธาตุอาหารบริเวณหน้าดินลงสู่พื้นทะเล

ไข่ปลากระบอก ปลากระบอกเป็นปลาเศรษฐกิจพื้นบ้านที่ชาวประมงจับขายได้ตลอดทั้งปี เพราะนิยมนำมาทำอาหาร เช่น ย่าง ทอด ต้มเค็ม แกงส้ม หรือทำปลาเค็ม

ไข่ปลาทรายขาว จากปลาทรายขาวที่เป็นปลาทะเลขนาดเล็กถึงกลาง มีชื่อเสียงเรื่องเนื้อแน่น รสหวาน และมีก้างน้อย

ไข่ปลานกแก้ว ปลานกแก้วเป็นสัตว์ทะเลที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศแนวปะการัง ปลานกแก้วกินสาหร่ายที่เกาะอยู่บนปะการัง และมักกินเศษปะการังแข็งเข้าไปด้วย เศษปะการังเหล่านี้จะถูกบดและย่อยภายในระบบทางเดินอาหาร ก่อนจะถูกขับถ่ายออกมาในรูปของทรายขาวละเอียด

จากการศึกษาพบว่า ปลานกแก้ว 1 ตัวสามารถผลิตทรายได้มากถึง 100 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ปลานกแก้วยังช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายไม่ให้เจริญเติบโตจนเบียดเบียนพื้นที่ของปะการัง ทำให้ปะการังสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ไข่ปลาผีเสื้อ ปลาผีเสื้อเป็นดัชนีวัดสุขภาพแนวปะการัง การมีอยู่ของปลาผีเสื้อบ่งบอกว่าแนวปะการังในบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะอาหารหลักของมันคือ “โพลิปปะการัง” ถ้ามีปลาอยู่ในบริเวณนี้มากแสดงว่าบริเวณนั้นมีแนวปะการังอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ในเวทีเสวนาที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “ทะเลชุมชน” หรือการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนเป็นผู้นำเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย 30x30 ที่ได้ให้พันธสัญญาไว้กับนานาชาติ และสานต่อความร่วมมือในการทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล

โดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) เพื่อเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่างรัฐ นักวิจัย และชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเศรษฐกิจของชุมชน

เกตน์สิรี ทศพลไพศาล นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมและการจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งคือการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะนโยบายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร นั่นหมายถึงมีคนได้คนเสียประโยชน์จากการจัดการทรัพยากรอยู่เสมอ และหมายรวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งที่อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย

การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทำได้ทั้งแบบบนลงล่าง (top-down) เช่น การทำเขตอุทยาน เขตห้ามล่า อีกแบบหนึ่งคือแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) เช่น การทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนเป็นผู้นำ หรือที่เราเรียกว่า “ทะเลชุมชน” เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎกติกาการใช้และรักษาทรัพยากรในเขตทะเลหน้าบ้านของพวกเขาเองในแบบที่พวกเขาพอใจที่สุด

โดยมีนักวิจัยมาช่วยออกแบบวิธีการเก็บและตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้หลักการ citizen science โดยมีคนในชุมชนเป็นคนบันทึกให้เป็นระบบมากขึ้น และพื้นที่คุ้มครองประเภทนี้ควรได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐ”

นรงค์ ม่วงทองคำ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านสะพลี-ปะทิว กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านเราทำงานดูแลทะเลกันเองมานาน ตอนนี้เรามีโอกาสได้ร่วมกับนักวิจัยลงสำรวจแพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดินในทะเลหน้าบ้านเรา ได้เห็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าทะเลหน้าบ้านเรานั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและการดำเนินวิถีชีวิตชุมชน

ข้อมูลที่ได้จากนักวิจัยเหล่านี้ไม่ใช่แค่กระดาษ แต่เป็นเครื่องมือที่ชุมชนจะใช้ต่อยอดในการวางแผนดูแลทะเลของตัวเองได้ ให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ รวมถึงการคัดค้านนโยบายหรือโครงการที่อาจกระทบต่อระบบนิเวศของเรา เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้ ชุมชนจะสามารถจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น