‘หญ้าหวาน’ ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลจากอ้อย 90%

‘หญ้าหวาน’ ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลจากอ้อย 90%

สารให้ความหวานที่สกัดจาก “หญ้าหวาน” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10% เมื่อเทียบกับน้ำตาล ลดการใช้ที่ดิน - น้ำ แต่หวานมากกว่าน้ำตาลทราย

KEY

POINTS

  • “สตีวิออลไกลโคไซด์” (Steviol glycoside) สารให้ความหวานที่สกัดจากหญ้าหวาน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาล
  • สตีวิออลไกลโคไซด์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพียงประมาณ 10% ของก๊าซเรือนกระจกที่การผลิตน้ำตาล
  • โดยการสกัด RA60 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รองลงมาคือ การเพาะปลูกหญ้าหวาน การแปรรูปใบ และการขยายพันธุ์ต้นกล้า 

หญ้าหวาน” ถูกนำมาใช้เป็น สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เนื่องจากใบของหญ้าหวานให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่ความหวานนี้ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน (0 แคลอรี/กรัม) จึงถือว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์กับสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นหญ้าหวานยังดีกับโลกด้วย 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ทำการประเมิน วงจรชีวิตของ “สตีวิออลไกลโคไซด์” (Steviol glycoside) สารให้ความหวานที่สกัดจากหญ้าหวาน ซึ่งพบว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาล ทั้งในการลดการใช้ที่ดิน และการใช้น้ำได้เมื่อเทียบกับระดับความหวานที่ผลิตได้ในระดับเดียวกัน

“สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” (Non-nutritive sweeteners) เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา ไม่ได้เกิดจากผลผลิตมาจากธรรมชาติ หรือบางส่วนอาจเกิดขึ้นเองจากพืช เช่น สตีวิออลไกลโคไซด์ สามารถสร้างรสชาติเหมือนน้ำตาลได้ แต่ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน

สารเหล่านี้สามารถให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลหลายเท่า ตัวอย่างเช่น สตีวิออลไกลโคไซด์ 4 กรัมให้ความหวานเทียบเท่ากับน้ำตาล 1,000 กรัม นั่นแปลว่าหวานกว่า 250 เท่า

ดร.เจมส์ ซัคคลิง หัวหน้าคณะผู้จัดทำผลการศึกษาวิจัยในศูนย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ กล่าวว่า การใช้สตีวิออลไกลโคไซด์ และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่คล้ายกันอาจ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้

พืชที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาล ทั้งอ้อย และบีตรูตเป็นพืชที่ใช้น้ำ และพื้นที่ในการเพาะปลูกจำนวนมาก โดยเฉพาะอ้อยที่เป็นพืชทางการเกษตรที่ผลิตมากที่สุดในโลก โดยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

ตามรายงานของ Spoonshot ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI ได้ พบว่า ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 1 กิโลกรัมจากอ้อยอยู่ที่ประมาณ 1,782 ลิตร สำหรับน้ำตาลที่ได้จากหัวบีตรูต ต้องใช้น้ำประมาณ 920 ลิตร

นอกจากนี้ การถางป่าเพื่อเพิ่มผลผลิตส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นเดียวกับปัจจัยการผลิตปุ๋ย และยาฆ่าแมลง สารเคมีเหล่านี้มีผลกระทบเชิงลบต่อดิน น้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำดื่ม รวมไปถึงการเผาไร่อ้อยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ

Spoonshot ระบุไว้ในรายงานว่า โดยสรุปแล้ว พืชที่ใช้ทำน้ำตาลมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถเติบโตได้ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ สตีวิออลไกลโคไซด์อาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับการักษาโลกใบนี้

การศึกษานี้ มุ่งเน้นไปที่การผลิตส่วนผสมของสตีวิออลไกลโคไซด์ 60% และ 95% บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า RA60 จากใบหญ้าหวานที่ปลูกในยุโรป พบว่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของ RA60 อยู่ที่ 20.25 กก./CO2e/กก. เมื่อพิจารณาจากมวล และ 0.081 กก./CO2e/กก. เมื่อพิจารณาจากความหวานที่เทียบเท่ากัน

โดยการสกัด RA60 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รองลงมาคือ การเพาะปลูกหญ้าหวาน การแปรรูปใบ และการขยายพันธุ์ต้นกล้า 

อย่างไรก็ตาม หากตัดองค์ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศออกไป ศักยภาพในการทำให้โลกร้อนจะลดลง 18.8% เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลโดยพิจารณาจากความหวานที่เทียบเท่ากัน RA60 มีผลกระทบต่อศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพียง 5.7-10.2% มีผลกระทบต่อการใช้ที่ดินประมาณ 5.6- 7.2% และต่ำกว่าในหมวดหมู่ผลกระทบอื่นๆ ส่วนใหญ่

เมื่อเปรียบเทียบทั้งหมดแล้ว พบว่าสตีวิออลไกลโคไซด์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพียงประมาณ 10% ของก๊าซเรือนกระจกที่การผลิตน้ำตาล

ดร.ซัคคลิง หวังว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลจะมั่นใจในศักยภาพของสตีวิออลเรบาอูดิโอไซด์เอ 60% (RA60) ที่ทำจากใบหญ้าหวานแทนน้ำตาล ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ตั้งใจ 

แม้ว่าสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการหลายชนิด (NNS) เช่น สตีวิออลไกลโคไซด์ จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ผู้วิจัยแนะนำว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของสารให้ความหวานในกลุ่ม NNS

การวิจัยในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Horizon 2020 SWEET ซึ่งเป็นความร่วมมือกับองค์กร 30 แห่งเพื่อทำความเข้าใจประโยชน์ต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้น

 

 

ที่มา: Food NavigatorPhysTechnology Networks

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์