พบ ‘พลาสติก’ ใน ‘สมองมนุษย์’ ปริมาณเท่ากับช้อนหนึ่งคัน อันตรายที่คาดไม่ถึง

ไมโครพลาสติก และ นาโนพลาสติก ปนเปื้อนอยู่ในสมองด้วยปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นักวิจัยเป็นกังวลถึงอันตรายต่อสุขภาพ
KEY
POINTS
- วิจัยพบ ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในเนื้อเยื่อสมองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในร่างผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2024 สูงกว่าปี 2016 ประมาณ 50%
- ความเข้มข้นของไมโครพลาสติกที่อยู่ในเนื้อเยื่อสมองของคนที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-50 ปี อยู่ที่ 4,800 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณช้อนพลาสติกมาตรฐานหนึ่งช้อน
- มนุษย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงการสัมผัสและเลือกที่จะไม่ใช้พลาสติกได้ทั้งหมด แต่สามารถลดการสัมผัสพลาสติกและปริมาณการใช้พลาสติกได้
“ไมโครพลาสติก” ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกที่ในโลกและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ด้วยเช่นกัน ที่น่ากังวลคือพลาสติกจิ๋วเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในสมองด้วยปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ
การศึกษาใหม่ของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ที่ทำการชันสูตรพลิกศพจำนวน 52 ร่างระหว่างปี 2016-2024 พบว่ามี ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในเนื้อเยื่อสมองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยังมีอนุภาคขนาดเล็กในตัวอย่างตับและไตอีกด้วย โดยความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อสมอง สมอง และตับของผู้เสียชีวิตในปี 2024 สูงกว่าปี 2016 ประมาณ 50%
“นั่นหมายความว่าสมองของเราในปัจจุบันประกอบด้วยสมอง 99.5% และส่วนที่เหลือเป็นพลาสติก” แมทธิว แคมเปน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ผู้เขียนร่วมการศึกษากล่าว
พลาสติก ที่พบมากที่สุดคือ โพลีเอทิลีน ซึ่งใช้ในถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็น 75% ของพลาสติกทั้งหมดโดยเฉลี่ย โดยพลาสติกที่พบสมองส่วนใหญ่เป็นเศษพลาสติกและเกล็ดพลาสติกในระดับนาโน
“เราตั้งสมมติฐานว่าพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการสัมผัสในระยะสั้น แต่เป็นพลาสติกเก่าที่ย่อยสลายอยู่ในธรรมชาติมานานแล้ว ดังนั้นเราจึงยิ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจเส้นทางของการสัมผัส การดูดซึม และการกวาดล้าง รวมไปถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการมีพลาสติกสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะในสมอง” นักวิจัยกล่าว
โดยรวมแล้ว ตัวอย่างสมองของศพมีเศษพลาสติกขนาดเล็กมากกว่าไตและตับถึง 7-30 และความเข้มข้นของไมโครพลาสติกที่อยู่ในเนื้อเยื่อสมองของคนที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-50 ปี อยู่ที่ 4,800 ไมโครกรัมต่อกรัม หรือ 0.48% ตามน้ำหนัก ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณช้อนพลาสติกมาตรฐานหนึ่งช้อน
นักวิจัยยังพบเศษพลาสติกที่ดูเหมือนเศษพลาสติกเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าในสมองของผู้ป่วย 12 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนเสียชีวิตเมื่อเทียบกับสมองปรกติ โดยพลาสติกจิ๋วเหล่านี้มักจะกระจุกตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของสมอง รวมถึงในเซลล์ภูมิคุ้มกันของสมองด้วย
แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ โดยเฉพาะระดับนาโนพลาสติกสามารถเข้าสู่สมองและผ่านด่าน “ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง” หรือ BBB (Blood-brain barrier) ทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้สารต่าง ๆ ผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อสมองได้อย่างไร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีไว้ว่า พลาสติกเหล่านี้กำลังแทรกซึมผ่านไขมันที่กินเข้าไป หลังจากนั้นจะถูกส่งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งสมองเป็นอวัยวะที่ได้รับลิพิดมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่า ไมโครพลาสติกทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่าการสะสมของไมโครพลาสติกในสมองส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่
ศ.ทามารา กัลโลเวย์แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมศึกษา กล่าวว่า ระดับไมโครพลาสติกในสมองที่เพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้น
“สิ่งนี้บ่งชี้ว่าหากเราลดการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมจากไมโครพลาสติก ระดับการสัมผัสของมนุษย์ก็จะลดลงด้วย ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่แข็งแกร่งในการมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมที่ช่วยลดการสัมผัส” กัลโลเวย์กล่าว
การพบไมโครพลาสติกในปริมาณที่มากขึ้น เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพราะมนุษย์ใช้พลาสติกอย่างสิ้นเปลือง โดยพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งที่อยู่ในโลกนี้ล้วนผลิตขึ้นหลังจากปี 2002 และจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2040
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงในเลือด น้ำอสุจิ น้ำนม รก และไขกระดูก ซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะพบว่าพลาสติกเหล่านี้ในร่างกายมากยิ่งขึ้นจ
“เมื่อพิจารณาถึงการมีอยู่ของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำความเข้าใจว่าไมโครพลาสติกมีบทบาทในความผิดปกติทางระบบประสาทหรือผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่” ศ.แคมเปนกล่าว
การศึกษาอีกชิ้นพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถอุดตันหลอดเลือดในสมองของหนู ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท แต่เส้นเลือดฝอยของมนุษย์มีขนาดใหญ่กว่ามาก จึงไม่แน่ชัดว่าจำเป็นต้องมีไมโครพลาสติกในสมองมากเท่าใดถึงจะสร้างผลกระทบกับสมองของมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในยุคปัจจุบันมนุษย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงการสัมผัสและเลือกที่จะไม่ใช้พลาสติกได้ทั้งหมด แต่สามารถลดการสัมผัสพลาสติกและปริมาณการใช้พลาสติกได้ โดยดร. ฟิลิป แลนดริแกน ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขระดับโลกและประโยชน์ส่วนรวมจากบอสตัน คอลเลจระบุว่า จะต้องไม่ทำให้คนผู้คนกลัวการใช้พลาสติกมากเกินไป
“ในปี 2025 ไม่มีใครที่จะอยู่ได้โดยไม่มีพลาสติก มีพลาสติกบางชนิดที่ไม่มีทางหนีพ้น แต่สามารถลดการสัมผัสกับพลาสติกที่คุณสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ดร.แลนดริแกนกล่าว
ดร.แลนดริแกนแนะนำว่า หากจำเป็นต้องซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรนำมาใส่ภาชนะแก้วก่อนบริโภคหรือก่อนนำเข้าไมโครเวฟ รวมถึงพกถุงผ้าติดตัว หลอดสเตนเลส และขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อลดปริมาณถุงพลาสติก เพราะถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสารเคมีทุกชนิดในพลาสติก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าพลาสติกมีสารเคมีที่เป็นอันตราย
ที่มา: CNN, Independent, The Guardian