เอกชนลุย ผลิตหอฟอกอากาศในเมือง 'ฟ้าใส' สู้ PM.2.5 ลดฝุ่นได้ 60%

ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ในประเทศไทยได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เช่น ปัญหาระบบหายใจ โรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ
KEY
POINTS
- เทคโนโลยีฟอกอากาศที่สามารถแปลงฝุ่นพิษ ให้เป็นอากาศที่มีความปลอดภัย
- ลดฝุ่นละอองได้สูงสุด 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
- ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ฟ้าใส ได้รับการติดตั้งในพื้นที่สำคัญหลายแห่ง
- ลดฝุ่นพิษลงได้ถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง พื้นที่รัศมีรอบตัวหอ 20–50 เมตร
- เตรียมต่อยอดสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ เน้นการพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับการจำหน่าย
พื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากระดับ PM2.5 อย่างน่าตกใจ สาเหตุหลักๆ เกิดจากการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ กิจกรรมอุตสาหกรรม และการเผาในภาคเกษตรกรรม
การแก้ไขวิกฤต PM2.5 ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาล ภาคเอกชน และชุมชนในการนำเสนอกลยุทธ์การจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืน
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center : RISC) ภายใต้ MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ได้พัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมืองขนาดใหญ่ ชื่อว่า “ฟ้าใส” เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 เพื่อคนไทยมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจากการวิจัยอัตโนมัติแบบไฮบริด
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยฯเดินหน้าพัฒนาเครื่องฟอกอากาศรุ่นใหม่ๆ โดยพัฒนาจากรุ่น ฟ้าใส 1 ฟ้าใส 2 และ Fresh One เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในเมืองอย่างยั่งยืน ล่าสุดปีนี้ต่อยอดพัฒนา “ฟ้าใสมินิ” ซึ่งมีขนาดเล็กลง แต่คงประสิทธิภาพในการดักกรองฝุ่นพิษได้เป็นอย่างดีโดยลดฝุ่นสูงสุดถึง 60%
แปลงฝุ่นพิษเป็นอากาศสะอาด
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ RISC กล่าวว่า ด้วยสภาพปัญหามลพิษทางอากาศที่มีอยู่ต่อเนื่อง ทางศูนย์ฯได้ดำเนินการวิจัยต่างๆ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีฟอกอากาศที่สามารถแปลงฝุ่นพิษ หรือ PM 2.5 ให้เป็นอากาศที่มีความปลอดภัย
จึงเป็นจุดกำเนิดของหอฟอกอากาศฟ้าใส โดยมีหลักการทำงานใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าไปในระบบ ผ่านการแยกฝุ่นและละอองน้ำ ด้วยเทคโนโลยี Jet Venturi Scrubber ที่สามารถลดฝุ่นละอองได้สูงสุด 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ฟ้าใส ได้รับการติดตั้งในพื้นที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ อาคาร ทรูดิจิทัลพาร์ค ช่วยลดค่าฝุ่นได้สูงถึง 50% มหาวิทยาลัยพะเยา ลดได้ 40% ช่วยสร้างเซฟโซนที่มีสภาพอากาศที่ปลอดภัยภายนอกอาคารได้
ฟ้าใส มินิ แก้ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่
รศ.ดร. สิงห์ กล่าวต่อไปว่า ฟ้าใส มินิ เป็นโมเดลใหม่ล่าสุดที่ RISC ทำการวิจัยในปัจจุบัน ติดตั้งที่ DTGO CampUs ถนน บางนา-ตราด กม. 7 เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท MQDC
เป็นโมเดลที่มีขนาดเล็กลงช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านการเข้าถึงและติดตั้งในพื้นที่ แต่คงประสิทธิภาพสูง โดยยังสามารถลดฝุ่นพิษลงได้ถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่รัศมีรอบตัวหอฟอกอากาศประมาณ 20–50 เมตร ความสูงประมาณ 5 เมตร (พื้นที่ประมาณ 12,000 ตรม.) เทียบเท่าขนาดหนึ่งสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ และได้มีการวัดประสิทธิภาพการฟอกอากาศในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า ฟ้าใส มินิ สามารถลดค่าฝุ่นได้ถึง 60%
สิทธิบัตรฟ้าใสต่อยอดเชิงพาณิชย์
ปัจจุบัน บริษัท ดี ซูพรีม จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิบัตรฟ้าใสเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ เน้นการพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับการจำหน่าย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากศูนย์วิจัยฯ RISC ดังนั้น จึงเริ่มมีองค์กรต่างๆ ติดต่อเพื่อนำไปใช้งานโดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่วิกฤติฝุ่นพิษ อาทิ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งช่าติ ได้สั่งซื้อ “ฟ้าใส มินิ” และเตรียมติดตั้งในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้