AI เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ต้องก้าวข้ามข้อจำกัด และทำให้ไกลกว่าการตื่นตัว

AI เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ต้องก้าวข้ามข้อจำกัด และทำให้ไกลกว่าการตื่นตัว

กลุ่มบางจาก ชวนนักวิจัยชาวไทยจาก MIT Media Lab สหรัฐอเมริกา มาสะท้อนถึงการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนโดยการนำความรู้และความเข้าใจในเอไอมาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ของชุมชนและสังคมในอนาคต

KEY

POINTS

  • การก้าวข้ามข้อจำกัดหรือการมองโลกในมุมกว้างขึ้นกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • ทำให้ไกลกว่ากระแส แต่บ่อยครั้งคนไทยแค่ตื่นตัวและไม่ได้ทำอะไรต่อ
  • เชื่อมั่นในอำนาจของศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการผสมผสานของสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ เหมือนกับการ์ตูนโดราเอมอน

งานสัมมนา Greenovative Forum ครั้งที่ 14 ภายใต้ธีม ‘Crafting Tomorrow’s Future with Sustainable Energy and AI’ ของกลุ่มบางจาก ที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (30 พฤศจิกายน 2024) เพื่อรวบรวมกลยุทธ์ในการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและแนวคิดการพัฒนา AI ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

โดยมี "ดร. พัทน์ ภัทรนุธาพร" นักวิจัยระดับ Postdoctoral Researcher จาก MIT Media Lab สหรัฐอเมริกา และผู้อำนวยการร่วม โครงการ Advancing Human-AI Interaction (AHA) มาเป็นวิทยากรสะท้อนมุมมอง “The Next Frontier AI and Future Generation”

"ดร. พัทน์" ได้พูดถึงคำว่า "Beyond" ซึ่งหมายถึงการก้าวข้ามข้อจำกัดหรือการมองโลกในมุมที่กว้างขึ้นกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างที่นักเขียนชื่อดังอย่าง อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก กล่าวไว้ว่า

"ถ้าเราอยากจะก้าวข้ามข้อจำกัดของสิ่งที่เป็นไปได้ เราต้องทำสิ่งที่บียอน หรือก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้" (The only way of discovering the limits of the possible is to venture a little way past them into the impossible.)

AI เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ต้องก้าวข้ามข้อจำกัด และทำให้ไกลกว่าการตื่นตัว

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดของทุกวันนี้ไปได้ ? "ดร. พัทน์" แนะนำ 3 วิธีคือ

หนึ่ง ถ้าอยากคิดและไปไกลกว่าที่เป็นมา เราต้องทำในสิ่งที่ไปไกลกว่ากระแส ในประเทศไทยคนตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น เทคโนโลยีหรือข่าวการเมือง แต่บ่อยครั้งเราก็แค่ตื่นตัวและไม่ได้ทำอะไรต่อ คำถามที่สำคัญคือ เอไอจะส่งผลกระทบกับมนุษย์อย่างไร กับสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบไหน

"สิ่งที่ผมทำที่ MIT คือการวิจัยเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ (Human-AI Interaction) เราพัฒนาโปรโตไทป์หรือระบบที่ทำให้มนุษย์เติบโตในความเป็นมนุษย์มากขึ้น หรือที่เรียกว่า "Human Flourishing" โดยโฟกัสไปที่ 3 หัวข้อคือ วิสัยทัศน์ (Vision), การค้นพบ (Wonder) และการเป็นอยู่ (Well-being)"

  • Vision : เอไอจะทำอย่างไรให้อดีตกลายเป็นสิ่งที่มีปัญญามากขึ้น
  • Wonder : เอไอจะสร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการให้คนได้อย่างไร
  • Well-being : เอไอจะส่งเสริมชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้น

  • Wearable Reasoner : เอไอที่เป็นสมองที่สองในสมาร์ทแกดเจ็ตหรือแวร์เอเบิลดีไวซ์ ช่วยให้คนคิดแบบมีตรรกะมากขึ้น
  • Avatar-based Learning : การสร้างอวาตาร์ของบุคคลสำคัญเพื่อการเรียนรู้ที่สนุกสนาน
  • Future You Simulator : การสร้างซิมูเลชันให้คนคุยกับตัวเองในอนาคต เพื่อวางแผนระยะยาวและมีเมลแถวที่ดีขึ้น

สอง เราต้องทำอะไรที่ไปไกลกว่าแค่หวังลมๆ แล้งๆ แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เช่น โปรเจคที่ทำกับ NASA และกระทรวงพลังงานของอเมริกา เราสร้างโมเดล Machine Learning ที่ทำให้ Power Grid ทนทานต่อพายุ ไฟป่า หรือสถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง และเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ AI จัดการได้อย่างเหมาะสม

และสาม ประเด็นสุดท้าย การไปไกลกว่าจินตนาการหรือข้อจำกัดเดิมๆ ผมเชื่อมั่นในอำนาจของศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการผสมผสานของสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ เหมือนกับการ์ตูนโดราเอมอน ที่ทำให้เรามีจินตนาการและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ในโลกจริง

"เป้าหมายของการศึกษาด้วยเทคโนโลยีคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เรียนรู้ในโลกจริง มี Motivation และกลายเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต ผมหวังว่าซีรีส์ที่ผมมีส่วนร่วมอย่าง "Tomorrow and I" จะสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับสังคม"