‘โลกเดือด’ ทำ ‘ปะการังไทยฟอกขาว’ สะเทือนถึงรายได้ชาวประมง

‘โลกเดือด’ ทำ ‘ปะการังไทยฟอกขาว’ สะเทือนถึงรายได้ชาวประมง

"ภาวะโลกเดือด" ทำปะการังไทยฟอกขาวในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลให้สัตว์น้ำในทะเลลดลง สะเทือนไปถึงชาวประมง ซึ่งปัจจุบันเริ่มหาปลาได้ยากมากขึ้นแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า สัตว์น้ำ ตั้งแต่ปะการังไปจนถึงปลาที่อยู่ในชายฝั่งอ่าวตะวันออกของไทย กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุณหภูมิพื้นผิวทะเลแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ ท่ามกลางคลื่นความร้อนปกคลุมทั่วภูมิภาค ซึ่งสร้างความกังวลต่อนักวิทยาศาสตร์ และชุมชนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเผยว่า ปะการังที่เคยมีสีสันสดใสที่อยู่ลึกลงไปในใต้น้ำราว 5 เมตร กำลังเปลี่ยนเป็นสีขาว หรือที่รู้จักว่าเป็นปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสุขภาพปะการังว่ากำลังแย่ลง เนื่องจากอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น

ข้อมูลทางการแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิพื้นผิวทะเลในอ่าวตะวันออกของไทย แตะระดับ 32.73 องศาเซลเซียสในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิใต้น้ำอุ่นขึ้นเล็กน้อย ซึ่งไดฟ์คอม (dive computer) หรือนาฬิกาสำหรับดำน้ำเผยให้เห็นว่า น้ำทะเลมีอุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส

ลลิตา ปัจฉิม นักวิชาการประมงชำนาญการ และนักชีววิทยาทางทะเล จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ตนไม่พบปะการังที่แข็งแรงดีสักตัวเดียว

“เกือบทุกสายพันธุ์ฟอกขาวไปหมดแล้ว เหลือเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ” ลลิตา กล่าว

ลลิตาเผยว่า ในหมู่เกาะตราดที่มีเกาะมากกว่า 66 แห่ง และมีพื้นที่ปะการังมากกว่า 28.4 ตารางกิโลเมตร นั้น มีปะการังกำลังฟอกขาวมากถึง 30% และปะการังตายไปแล้ว 5%

นักชีววิทยาทางทะเลย้ำว่า ถ้าอุณหภูมิไม่เย็นลง ปะการังอาจตายมากขึ้น

“นี่คือโลกเดือด ไม่ใช่แค่โลกร้อน” ลลิตา กล่าว

นอกจากนี้ รอยเตอร์ส รายงานว่า อุณหภูมิสูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำ และวิถีชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น

โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาหารทะเลที่นายสมหมาย สิงห์สุระ ชาวประมงท้องถิ่น จับเป็นประจำนั้น เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ สมหมายสามารถทำรายได้สูงถึง 10,000 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้บางครั้งเขาก็ต้องกลับบ้านมือเปล่า

“แต่ก่อนเคยมีปลากะมง (jackfish), ปลาทู, และปลาอื่นๆ ... แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่ดีเลย สภาพอากาศไม่เหมือนที่เคยเป็นเมื่อก่อน” สมหมาย ตัดพ้อ

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า แนวปะการังเป็นทั้งแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของสัตว์ในทะเล รวมถึงเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ ซึ่งบ่งบอกว่า หากปะการังลดน้อยลงอาจส่งผลต่อสัตว์น้ำในทะเลด้วย

ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า หากปะการังฟอกขาวส่งผลให้สัตว์ทะเลลดลงน้อย ชาวประมงจำเป็นต้องเสียเวลา และเสียแรงมากขึ้นเพื่อจับปลาให้ได้ และอาจทำให้อาหารทะเลราคาสูง

“ขณะที่ (ปะการังฟอกขาว) อาจกระทบความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันความมั่นคงของรายได้ (ชาวประมง) ก็สั่นคลอนไปด้วย” ดร.สราวุธ กล่าว

 

อ้างอิง: Reuters 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์