'BOI' ชี้ไทยตื่นตัว 'โกกรีน' มากขึ้น ชม 'เครือเนชั่น' เห็นเทรนด์โลกก่อนใคร

'BOI' ชี้ไทยตื่นตัว 'โกกรีน' มากขึ้น ชม 'เครือเนชั่น' เห็นเทรนด์โลกก่อนใคร

"BOI" เผย ไทยตื่นตัวในเรื่อง "โกกรีน" มากขึ้น ชม "เครือเนชั่น" มองเห็นเทรนด์โลกก่อนใคร ย้ำเรื่อง "กรีน" ไม่ใช่แค่การรับผิดชอบของประเทศ ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero

"กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดสัมมนา Go Green 2024:The Ambition of Thailand “ร่วมเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย” โดยมีวิทยากรภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจ และสังคมสีเขียว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ : The Investment Attraction Strategy For Green Industries ยุทธศาสตร์ดึงดูดการลงทุนไทยเพื่ออุตสาหกรรมสีเขียว ว่า เครือเนชั่นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของโกกรีน มา 4-5 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้คนมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ช่วง 2-3 ปีนี้ ทุกคนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น และเห็นความจำเป็น และเริ่มปรับตัว

อย่างไรก็ตาม จากความมุ่งมั่นในเรื่องของโกกรีน คือ ความทะเยอทะยาน ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะไปสู่เป้าหมาย ความมุ่งมั่นนี้ส่งผ่านจากระดับประเทศมาสู่องค์กร ประเทศไทยได้มุ่งมั่นชัดเจนจึงได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2065 

"สิ่งที่สำคัญคือ ไทยจะแอคชั่นได้อย่างไรนั้น สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือผ่านกลไกรัฐ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอได้ร่วมมือกับทั้งรัฐ และเอกชน อาทิ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ฯลฯ เป็นต้น" นายนฤตม์ กล่าว

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยจะเป็นเมืองหลวง ต้องนำนโยบาย BCG มาขับเคลื่อนการทำงาน โดยหากทำได้จะสามารถดึงดูดการลงทุนได้จากทั่วโลก ถือเป็นสึนามิการลงทุน กลายเป็นที่ยอมรับประชาคมโลก และเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

\'BOI\' ชี้ไทยตื่นตัว \'โกกรีน\' มากขึ้น ชม \'เครือเนชั่น\' เห็นเทรนด์โลกก่อนใคร

สำหรับภารกิจของบีโอไอ คือ ส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ซึ่งรวมไปถึงให้บริการ ให้คำปรึกษา ช่วยอำนวยความสะดวก และจัดหาผู้ลงทุน อาทิ การสนับสนุนด้านภาษี ด้านการเงิน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะมีผลในช่วง 5 ปี ข้างหน้านี้ ช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา บีโอไอได้มีโอกาสร่วมโรดโชว์กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้จำนวนมาก ซึ่งในเวทีการหารือ นักลงทุนต่างพูดถึง คือ 1.การจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน 2. ปัญหาจีโอโพลิติก 3.กติกาภาษีใหม่ ที่บังคับบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติจะต้องจ่ายภาษีขั้นต่ำ 15% 

นายนฤตม์ กล่าวว่า เรื่องกรีนมีผลกับทุกบริษัท และทุกขนาดอุตสาหกรรม ดังนั้น กรีนไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อประเทศ แต่เป็นความสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ ดังนั้น ในการลงทุนต้องช่วยบรรลุเป้าหมาย ซึ่งบริษัทชั้นนำได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ ดังนั้น เมื่อทิศทางชัดเจน สปีดหรือการทำเร็วจึงสำคัญ 

\'BOI\' ชี้ไทยตื่นตัว \'โกกรีน\' มากขึ้น ชม \'เครือเนชั่น\' เห็นเทรนด์โลกก่อนใคร

"บีโอไอส่งเสริมการลงทุน โดยในฐานะรัฐบาลไทย ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนว่า เมื่อมาตั้งโรงงานในประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย โดยปัจจุบัน บีโอไอ ได้สนับสนุนการลงทุน 4 ด้าน แบ่งเป็น ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคชุมชน" 

ทั้งนี้ ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม บีโอไอให้ความสำคัญ และส่งเสริมธุรกิจในกลุ่ม BCG ปัจจุบันมีมากกว่า 50 กิจการ ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจภาคการเกษตร อาหาร ไบโอเทคโนโลยี พลังงานสะอาด ธุรกิจบริการด้านเซอร์คูลาร์อีโคโนมี ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งเสริมไปแล้วกว่า 2,600 โครงการ เงินลงทุนรวมกันมากกว่า 4.9 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้ บีโอไอมีสิทธิประโยชน์ที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สมาร์ท และความยั่งยืนมากขึ้น โดยการสนับสนุนเงินปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น การปรับแผงโซลาร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับกิจการด้วยมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล เพื่อให้มุ่งสู่เป้าหมายโกกรีนเร็วขึ้น ซึ่งจากกระแสโกกรีนที่เข้มข้นขึ้น ในช่วงปี 2566 มานี้ มีการขอสนับสนุนมากขึ้น เนื่องจากหลังโควิด บริษัทเริ่มปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันในโลกอนาคต

ส่วนภาคพลังงาน บีโอไอได้เน้นการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ อาทิ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไบโอแมส ก๊าซโฮโดรเจน หรือแม้แต่พลังงานจากขยะ เป็นต้น ถือเป็นกิจการที่สนับสนุน 100% โดยปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเข้ามาขอสนับสนุนเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะปีที่แล้วรวม 440 โครงการ เงินลงทุนรวมกันมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า จะเห็นเรื่องการตื่นตัว และความจำเป็น ที่ดีมานด์ของพลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้ต้องมีธุรกิจที่ต้องมีพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น 

\'BOI\' ชี้ไทยตื่นตัว \'โกกรีน\' มากขึ้น ชม \'เครือเนชั่น\' เห็นเทรนด์โลกก่อนใคร

อีกส่วนที่สำคัญ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่กระทรวงพลังงาน ร่วมกับสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ถือเป็นอาวุธใหม่ให้ประเทศไทยในการดึงการลงทุน โดยบริษัทชั้นนำมาคุยกับรัฐบาล ซึ่งจะมี RE100 Thailand CLUB ต่างมีคำถามคือประเทศไทยมีพลังงานสะอาดเพียงพอหรือไม่ ต่างต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% 

"บริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์อย่าง อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส, กูเกิล และไมโครซอฟท์ ต่างต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% ที่ไม่ใช่แค่จากบริษัทที่ได้รับการการันตีเท่านั้น แต่ต้องสามารถยืนยันแหล่งที่มาของพลังงานได้ และต้องเป็นพลังงานใหม่เท่านั้น ถือเป็นที่มาของ UGT"  

ทั้งนี้ UGT1 จะเป็นกลไกที่ค้างอยู่ในปัจจุบัน ไม่เจาะจงแหล่งที่มา แต่ UGT 2 จะเป็นอาวุธใหม่ในการดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำ เป็นกลไกที่จะสามารถระบุผู้ผลิตได้ เป็นแหล่งใหม่ของพลังงานหมุนเวียน กลไกนี้อยู่ในช่วงเตรียมการประกาศราคา โดยราคาที่ประชาพิจารณ์ไปคือ 4.55 บาทต่อหน่วย ซึ่งเอกชนต่างบอกว่ายังสูงเกินไป ซึ่งขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณา โดยคาดว่าจะพร้อมใช้ได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 

ด้านภาคขนส่ง เป้าหมายหลักคือ การปรับเปลี่ยนยานพาหนะไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นต่อเนื่อง ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีอันดับ 1 ของภูมิภาค และอันดับต้นๆ ของโลก โดยเป้าหมาย 30@30 เป็นเป้าที่ยึดตั้งแต่เริ่มนโยบายว่า ภายในปี 2030 ไทยจะผลิตรถอีวีไม่ต่ำกว่า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาครอบคลุมทุกด้านของสิทธิประโยชน์ทั้งอีโคซิสเต็ม อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ ชาร์จเจอร์ โดยบีโอไอได้สนับสนุนล่าสุด คือ การสนับสนุนระดับเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้ อมิตา เทคโนโลยี ถือเป็นโรงงานแรกในกลุ่ม บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับสิทธิประโยชน์ไปแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนโมดูล และแพ็กไปแล้ว ดังนั้น การออกมาตรการดังกล่าวจะเป็นการดึงบริษัทใหญ่ระดับโลกเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีโอกาสไปโรดโชว์ช่วง 2 สัปดาห์ก่อน ถือเป็นข่าวดี โดยมีบริษัทที่สนใจจะมาลงทุนตั้งฐานการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย 2 รายจากจีนกำลังการผลิตต่อโรงงานที่ระดับ 6-10 กิกะวัตต์ มูลค่ารวมกัน 2 รายไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท 

ส่วนมาตรการที่สร้างตลาดอีวีฝั่งดีมานด์  ถือว่าประสบความสำเร็จมากตั้งแต่ อีวี3 จนมาถึงอีวี 3.5 โดยล่าสุดมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนเข้ามาลงทุนในไทยแล้วรวม 8 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA, Foton และ Chery ซึ่งจากนี้ไปบีโอไอจะเดินหน้าดึงค่ายรถใหม่ๆ มาเพิ่มเติม พร้อมๆ กับการสนับสนุนค่ายรถเดิมให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อีวีได้สำเร็จ

สำหรับมาตรการล่าสุดที่ออกมาคือ การส่งเสริมให้เกิดมาตรการใช้รถเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้ง รถบัส และรถทรัคให้เปลี่ยนมาเป็นรถอีวี หวังว่ามาตรการนี้จะทำให้วงการรถใหญ่เชิงพาณิชย์มาสู่อีวีบัส และอีวีทรัคไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคันในช่วง 2-3 ปีนี้ 

"นอกจากการสนับสนุนด้านภาษีแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนการลงทุนด้วย โดยสถิติการส่งเสริมอีวีทั้งซัพพลายและผู้ซื้อปัจจุบันจะเห็นว่าเราประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ประเทศไทยมีอัตราการใช้อีวีสูงที่สุดในภูมิภาค โดยปีที่แล้วมีการจดทะเบียนอีวี 7.6 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 6.5 เท่า โดยช่วงปีแรกนี้กว่า 2 หมื่นคัน" 

ในขณะที่ภาคชุมชน บีโอไอมีมาตรการส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในการช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และสังคมมากขึ้น โดยมีเงินสนับสนุนให้กับเอกชนที่เข้าไปช่วยในการเข้าสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเกษตรกร ด้านระบบน้ำ ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในท้องถิ่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์