8 แบรนด์ ‘อีวี’ จีนลงทุนไทย ‘เชอรี’ รายล่าสุดเดินเครื่องผลิตปีหน้า

8 แบรนด์ ‘อีวี’ จีนลงทุนไทย ‘เชอรี’ รายล่าสุดเดินเครื่องผลิตปีหน้า

คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ชุดใหม่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในภูมิภาคตามนโยบาย 30@30 

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน 

ดังนั้น เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV อันดับ 1 ของอาเซียน และสร้าง Product Champion ตัวใหม่ ซึ่งเริ่มจากสร้างตลาดในประเทศผ่านมาตรการที่กำลังจะประกาศใช้ สิ่งที่จะขับเคลื่อนให้เป้าหมายของประเทศประสบความสำเร็จ คือ มาตรการดึงดูดการลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลจากการดึงการลงทุนจากบริษัท Chery Automobile เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยประสบความสำเร็จตามแผนที่หารือกัน โดย Chery (เชอรี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนและเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลกที่มียอดการส่งออกรถยนต์อันดับ 1 มาต่อเนื่อง 21 ปี 

ทั้งนี้ ในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคันทั้งนี้ บริษัท Chery ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับแผนการลงทุนของบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) ซึ่ง OMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ 

โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ในเฟสแรก ภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และในเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน 

“บริษัท Chery มีแผนที่จะลงทุนในไทยหลายเฟส โดยทยอยการลงทุนตามแผนที่วางไว้ โดยบริษัทไม่ขอเปิดเผยมูลค่าการลงทุน แต่ถือว่าเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมรถ EV ที่สำคัญในประเทศไทย”

นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มแรก บริษัทจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก OMODA C5 EV ซึ่งเป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% มาจำหน่ายในไทยกลางปีนี้ เพื่อทดลองตลาด ตามมาด้วยรถยนต์พรีเมียม เอสยูวี ออฟโรดรุ่น JAECOO 6 EV, JAECOO 7 PHEV และ JAECOO 8 PHEV พร้อมเปิดโชว์รูม 39 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค

นายนฤตม์ กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยของบริษัท Chery ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA และ Foton 

"กรณีของบริษัท Chery เป็นรายที่ 8 จึงเป็นการช่วยตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนว่า กลุ่มบริษัทรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ” นายนฤตม์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานบีโอไอที่ประเทศจีน ได้เริ่มหารือกับบริษัท Chery ตั้งแต่ปี 2564 จากนั้น ได้มีการพบปะหารือ และให้ข้อมูลกับทีมงานของบริษัทเป็นระยะ ๆ ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เลขาธิการบีโอไอ ได้เดินทางไปพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Chery ที่ประเทศจีน โดยได้นำเสนอมาตรการสนับสนุนใหม่ ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งได้หารือแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนมากขึ้น จนนำมาสู่การยื่นคำขอและการอนุมัติให้การส่งเสริม

สำหรับการลงทุนเมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 คณะผู้บริหารจากบริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด นำโดยนายฉี เจี๋ย ประธานบริษัท ได้เข้าพบเลขาธิการบีโอไอ เพื่อหารือแนวทางการลงทุนในระยะต่อไป รวมทั้งการเข้าถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย ผ่านการประสานงานของบีโอไอด้วย

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานบีโอไอ ได้มีการส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) โดยได้อนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 19 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท

นายฉี เจี๋ย ประธาน บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สูงที่สุดในภูมิภาคและกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

ทั้งนี้ บริษัทมองเห็นโอกาสการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่ของรัฐบาลไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ โอโมดา แอนด์ เจคู 

“เรามุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนไทยให้มากที่สุด และเรามีความตั้งใจที่เลือกใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทย ซึ่งในอนาคตเราจะทำ Sourcing ชิ้นส่วนจากในประเทศด้วย” นายฉี เจี๋ย กล่าว

อย่าไรก็ตาม ที่ผ่านมา BIO ส่งเสริมลงทุนประเภท BEV-PHEV-HEV รวม 26 โครงการ รวม 19 บริษัท มูลค่าลงทุน 80,000 ล้าน โดยมีบริษัทจีนที่ลงทุนในไทย ประกอบด้วย BYD , MG , Great Wall Motor , Changan Automobile , GAC Aion , NETA , Foton และ Chery