'ต้นไม้ใหญ่' ในเขตเมือง ดูแลอย่างไรให้อยู่คู่กับคนเมือง

'ต้นไม้ใหญ่' ในเขตเมือง ดูแลอย่างไรให้อยู่คู่กับคนเมือง

ที่ผ่านมา เคยมีประเด็นที่ถูกพูดถึงการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ที่เหี้ยนกุด ไม่สวยงาม จากปัญหาสายไฟฟ้า หรือความผุของต้นไม้ การดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่เลือกพรรณไม้ พื้นที่ปลูก การดูแลระยะยาว ด้วยคนที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้ต้องถูกตัดกุดอย่างที่ผ่านมา

ในหลายเมืองทั่วโลก ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะในเขตเมือง เพื่อช่วยให้ประชาชนมีสถานที่พักผ่อน ลดความร้อน และยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ สำหรับประเทศไทย อย่าง กทม. มีพื้นที่สีเขียว 7 ตารางเมตรต่อคน และขณะนี้ มีการให้ความสำคัญกับการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง โดยส่งเสริมให้มี “รุกขกร” ทุกเขต

 

พร้อมกับ โครงการ Green Bangkok 2030 เป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อประชากร ให้ได้ถึง 9 ตารางเมตร/คน ภายในปี 2030 แล้ว ยังมีเป้าหมายการเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park)ให้เข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร

 

สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายความหมายของ พื้นที่สีเขียว ว่า เป็นพื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่ ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกําหนดขึ้นในเมืองหรือชุมชนปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดํารงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

พื้นที่สีเขียวยั่งยืน หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีพืชพรรณที่มีความหลากหลาย ทั้งชนิดและปริมาณ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นองค์ประกอบหลัก และได้รับการดูแลบํารุงรักษาให้คงอยู่ อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ และเพิ่มองค์ประกอบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งทางตรง และทางอ้อม แก่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง และชุมชน ผู้มาเยือน ตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

6 ประเภท พื้นที่สีเขียว

พื้นที่สีเขียว แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามคุณลักษณะ และการใช้ประโยชน์ ได้แก่

1. พื้นที่สีเขียวสาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ สนามเด็กเล่น

2. พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์ ประกอบด้วย

  • พื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล เช่น สวนในโครงการพัฒนาของเอกชน สวนในบ้าน และอาคารพักอาศัย
  • พื้นที่สีเขียวในสถาบัน เช่น แหล่งประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา สถาบันราชการ
  • พื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณูปการ เช่น พื้นที่ฝังกลบขยะ พื้นที่รอบบ่อบําบัดน้ำเสีย เขตท่าอากาศยาน

3. พื้นที่สีเขียวที่เป็นริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ เช่น พื้นที่ริมทางสัญจรทางบกบริเวณริมทาง เกาะกลางถนน เขตทางรถไฟ และพื้นที่ริมทางสัญจรทางน้ำ บริเวณริมแม่น้ำ คลองชลประทาน

4. พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน เช่น พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งผลิตอาหารแก่ชุมชน ประเภท ไร่นา สวนผลไม้ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

5. พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ เช่น พื้นที่สีเขียวบนเนินเขา พรุ แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ

6. พื้นที่สีเขียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือรอการพัฒนา เช่น พื้นที่สีเขียวที่ปล่อยรกร้าง

 

ดูแลต้นไม้ ให้อยู่คู่คนเมือง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีประเด็นที่ถูกพูดถึงการตัดแต่งต้นไม้ที่เหี้ยนกุด ไม่สวยงาม เนื่องจากสภาพภายในเป็นโพรง ไม่สามารถบำรุงรักษาได้อีก หรือปัญหาสายไฟฟ้า อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน หรือการที่คนตัดไม่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น การดูแลต้นไม้ให้สุขภาพดี จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ ที่ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เพื่อรักษา และคงไว้ไม่ให้ถูกตัดกุดอย่างที่ผ่านมา

 

 

จากบทความ การป่าไม้ในเมือง และการจัดการต้นไม้ (Urban Forestry and Urban Trees Management) ของ มณฑาทิพย์ โสมมีชัย ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายบทบาทของป่าไม้ในเมือง (Roles of Urban Forest) ดังนี้ 

  • บทบาทในการปรับสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้น โดยต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิของบรรยากาศในช่วงบ่ายได้ 0.7 – 1.3 องศาเซลเซียส และลดอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนได้ถึง 3.6 องศาเซลเซียส
  • บทบาททางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ไม้ยืนต้นในเขตชุมชนเมืองช่วยลดมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ลดการสะท้อนของรังสี และแสงไฟ จากยานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ใช้ต้นไม้ตามแนวถนนหนทางช่วยบอกทิศทางการจราจร ป้องกันการพังทลายของดินริมถนน และริมลำน้ำในเขตเมือง
  • บทบาททางสถาปัตยกรรม ต้นไม้ที่ปลูกตามริมถนนหนทาง บนเกาะกลางถนน หรือในที่ว่างบริเวณอาคารสถานที่ต่างๆ สามารถทำหน้าที่เป็นฉากกำบังทัศนียภาพ ช่วยจำกัดขอบเขตของพื้นที่ไม่ให้ดูเวิ้งว้าง และช่วยหักมุมตัวอาคารหรือขอบถนนให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ
  • บทบาทในด้านความสวยงาม ชนิด สีสัน รูปทรง โครงสร้าง และความหลากหลายของหมู่ไม้ที่ประกอบกันขึ้น เป็นพื้นที่สีเขียวก่อให้เกิดความสวยงาม อ่อนช้อย กลมกลืนเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

 

เริ่มตั้งแต่ปลูก จนถึงดูแลระยะยาว

การจัดการต้นไม้หรือหมู่ไม้ในเขตเมืองนั้น จำเป็นต้องใช้หลักการทางด้านวนวัฒนวิทยาคือ จะต้องมีการศึกษาถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองที่มีผลต่อต้นไม้ การควบคุมหมู่ไม้/ต้นไม้ ทั้งทางด้านการเกิด การเติบโต องค์ประกอบ สุขภาพ และคุณภาพ ซึ่งการจัดการต้นไม้ และหมู่ไม้เหล่านั้น จำเป็นต้องใช้ “วนวัฒนวิธี” (silvicultural practices) ที่ถูกต้อง และเหมาะสม และการจัดการนั้นต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน (sustainable management)”

 

วนวัฒน์ วิธีที่นำมาใช้ในการจัดการป่าไม้ในเมือง

1) การวางแผนในการจัดการป่าในเมือง

2) การคัดเลือกพรรณไม้ปลูกในเขตเมือง

3) การปลูก ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่

  • การจัดหาวัสดุพันธุกรรมสำหรับปลูก (การปลูกด้วยกล้าไม้ หรือการขุดล้อมย้ายปลูกต้นไม้)
  • การเพาะชำกล้าไม้
  • การจัดการพื้นที่ และการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก

4) การบำรุงรักษา ซึ่งประกอบไปด้วย

  • การให้น้ำ
  • การให้ปุ๋ย
  • การกำจัดวัชพืช
  • การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
  • การลิดกิ่ง และการตัดแต่งกิ่ง
  • การศัลยกรรมต้นไม้

 

ทั้งนี้ การปลูกต้นไม้ในเขตเมือง ต้องดูแลตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ไม้ โดยคำนึงถึงปัจจัยทั้ง ทางด้านสังคม วัตถุประสงค์ของการใช้สอย รวมถึงทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งพื้นที่ ดิน อากาศใกล้ผิวดิน มลพิษทางดิน มลพิษทางอากาศ การออกแบบวางผัง การบำรุงรักษาต้นไม้ ควบคุมอันตรายจากแมลง อากาศ อีกทั้ง ยังต้องมองไปถึงปัจจัยทางด้านวนวัฒนวิทยา เกี่ยวกับนิเวศวิทยา และชีววิทยาของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด

 

ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จในการปลูก ต้องมีความเหมาะสมกับพื้นที่ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะพื้นดินที่ถูกบด อัดแน่น ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ระบบระบายน้ำไม่ดีของพื้นที่เมือง พื้นที่ซีเมนต์ คอนกรีต รวมถึง การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความทนทาน และปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดสูง จะช่วยลดอัตราการตาย การบำรุงรักษาได้ในระยะยาว และการคัดเลือกรูปทรงของต้นไม้ เพื่อปลูกจะขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย ความต้องการของแต่ละพื้นที่ และแต่ละบุคคล

 

การดูแลรักษาต้นไม้

เมื่อดำเนินการปลูกต้นไม้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินต่อไปคือ การบำรุงรักษา การบำรุงรักษาที่ดีจะทำให้การปลูกต้นไม้ในเขตเมืองนั้นประสบความสำเร็จได้ สำหรับกิจกรรมในการบำรุงรักษาต้นไม้ในเขตเมืองนั้น ประกอบไปด้วย กิจกรรมต่างๆ ดังนี้

 

1. การให้อาหาร ได้แก่ การให้น้ำซึ่งต้องให้อย่างสม่ำเสมอ

2. การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ควรหมั่นตัดแต่งกิ่งไม่ให้เรือนยอดต้นไม้แน่นทึบเกินไป จนเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการกำจัดคือ จะต้องไม่ส่งผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง

3. การตัดแต่งกิ่ง ควรตัดแต่งกิ่ง จะเป็นการบังคับให้ต้นไม้ที่ปลูกมีรูปทรงตามที่ต้องการได้ การตัดแต่งกิ่งที่แห้ง และอาจเป็นอันตรายต่อยวดยาน และผู้ที่สัญจรบนทางเท้า ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

4. การศัลยกรรมต้นไม้(tree surgery) เป็นการฟื้นฟูสภาพต้นไม้ที่ทรุดโทรมให้กลับมีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุยืนนานยิ่งขึ้น โดยการรักษาบาดแผลและเสริมความแข็งแรงให้ต้นไม้ตามวิธีการศัลยกรรม หลักการศัลยกรรมต้นไม้โดยทั่วๆ ไปแล้วมี 2 หลักการที่สำคัญด้วยกันคือ

  • การศัลยกรรมต้นไม้เพื่อป้องกัน เป็นการดำเนินการศัลยกรรมเพื่อป้องกันต้นไม้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น
  • การศัลยกรรมเพื่อรักษาหรือแก้ไข เป็นการทำศัลยกรรมเพื่อรักษา หรือแก้ไข ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นกับต้นไม้แล้ว เช่น กิ่งฉีกหัก โพรงผุ แผลถูกชน รากรัดกัน กิ่งสีกัน ฯลฯ

 

รุกขกร บทบาทสำคัญ ดูแลต้นไม้

ข้อมูลจาก BIGTrees อธิบายว่า รุกขกร (arborist) หรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ (tree surgeon) คือ นักวิชาชีพที่มีหน้าที่จัดการ และดูแลต้นไม้ใหญ่ (ปกติเป็นต้นไม้ใหญ่ในเมือง และในบริเวณอาคารสถานที่ รวมถึงไม้เลื้อย และไม้พุ่มมีแก่นที่เป็นไม้ยืนต้น) ซึ่งรวมถึงงานปลูก งานตัดแต่ง งานค้ำจุน งานป้องกัน และรักษาโรคและแมลง หรือโรคพืชอื่น งานป้องกันการถูกฟ้าผ่า และงานโค่นต้นไม้

 

นอกจากนี้ ยังรวมงานวางแผน งานให้คำปรึกษา การทำรายงาน และการเป็นพยานศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้นไม้ใหญ่มีคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์มาก แต่ต้นไม้ใหญ่ก็มีการดำรงชีวิตที่ซับซ้อน มีขนาดใหญ่โตและมีน้ำหนักมาก ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจึงต้องการ การเฝ้าระมัดระวังและการดูแลเพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 

รุกขกรสามารถประเมินต้นไม้ในด้านสุขภาพ ความแข็งแรงทางโครงสร้างของต้น ความปลอดภัย หรือความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม รวมทั้งระยะห่างในการปลูกจากสิ่งปลูกสร้าง วิชารุกขกรรมสมัยใหม่ได้ก้าวหน้าไปค่อนข้างรวดเร็วทั้งทางด้านเทคโนโลยี และวิธีปฏิบัติจากวิธีเก่าๆ ที่เคยปฏิบัติแต่เดิมมา รุกขกรรมสมัยใหม่ได้นำผลการวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติ

 

ความรู้ ทักษะ รุกขกร

  • มีความรู้เกี่ยวการดำรงชีวิตของต้นไม้ใหญ่ อุปนิสัย รวมทั้งโรค และแมลงที่เกี่ยวข้องและวิธีการป้องกันและรักษา
  • มีความรู้ในเทคนิค และวิธีการตัดแต่ง การทำศัลยกรรม รวมทั้งการอนุรักษ์ และฟื้นฟูต้นไม้เก่าแก่ที่สำคัญ
  • มีความรู้ และทักษะในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรกล
  • มีทักษะในการปีนป่าย การใช้เชือก และอุปกรณ์นิรภัย รู้จักเทคนิควิธีการป้องกันภัยอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
  • มีความรู้เกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งบนดิน และใต้ดิน
  • มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความรับผิดตามกฎหมายในการประกอบวิชาชีพ
  • มีความรู้ในการประเมินค่าของต้นไม้ใหญ่ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านนิเวศวิทยา

เพื่อเป็นการประกันแก่สังคมและผู้บริโภค ผู้ที่จะเรียกตัวเองเป็น "รุกขกร" ได้จะต้องผ่านการทดสอบความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ และการฝึกงานมาเป็นเวลาตามกำหนด ผู้สอบผ่านจะได้รับใบรับรองความรู้ความสามารถ (Certified arborist)

 

องค์กรด้านรุกขกรรม

ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐ มีความก้าวหน้าในด้านนี้มาก มีการจัดตั้ง “สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ” (The International Society Of Arboriculture) องค์กรอิสระไม่หวังผลกำไรเพื่อเผยแพร่ และยกระดับการปฏิบัติวิชาชีพรุกขกรรม ส่งเสริมให้มีการศึกษา และการสอบรับใบรับรองความรู้ ความชำนาญ และความสามารถพื้นฐาน และการรับรองความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านรุกขกรรมสาธารณูปโภค รุกขกรรมเทศบาล ฯลฯ

 

ในสหรัฐอเมริกามีการจัดตั้งสมาคมที่ปรึกษาด้านรุกขกรรม (The American Society of Consulting Arborists) โดยเฉพาะขึ้นโดยสมาชิกจะต้องจบการศึกษาด้านรุกขกรรมระดับมหาวิทยาลัยหรือผู้ที่สอบได้ใบรับรองความสามารถ รุกขกรที่ปรึกษาผู้ถือใบรับรองจะเป็นผู้ชำนาญเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในด้านจรรยาบรรณ กฎหมาย การพัฒนาเมือง การประเมินค่าต้นไม้ และบ่อยครั้งจะได้รับเชิญให้เป็นพยานศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

 

รุกขกร ในประเทศไทย

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีรุกขกร ที่ผ่านการรับรองแล้วประมาณ 120 คน สามารถสอบรับรองได้ 2 หน่วยงาน คือ “สมาคมรุกขกรรมไทย” และ “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ” นอกจากนี้ ยังมีการสอบจาก สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ (ISA) โดยมีรุกขกรที่ผ่านการรับรองระดับนานาชาติในประเทศไทยราว 4 คน

 

หน้าที่ของรุกขกร เรียกว่า ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นไม่ว่าจะเป็นการปลูก คัดเลือกชนิด ไปจนถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยของต้นไม้ พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภค ดังนั้น ปัจจุบันจึงเห็นได้ว่า หลายหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญกับการให้รุกขกร เข้ามาดูแลต้นไม้อย่างถูกต้อง

 

รวมถึง กทม. ที่มีการส่งเสริมให้มีรุกขกรทุกเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งขณะนี้มีผู้ผ่านการรับรองแล้วประมาณ 15 คน ในอนาคต เป็นความหวังที่ว่า ประเทศไทยจะมีรุกขกรจำนวนมากขึ้นอย่างสิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง ที่มีมากกว่าหลักพันคน เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลต้นไม้ใหญ่มากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์