ปลูกต้นไม้เพิ่มสีเขียว พร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต

สวัสดีครับที่ผ่านมาเรามักได้ยินเกี่ยวกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากหรือความชำนาญเฉพาะทาง อาทิ การสร้างโรงงานพลังงานหมุนเวียน หรือการนำก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์

Key point :

  • โครงการ T-VER แบ่งได้หลายประเภท อาทิ ประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน ประเภทการจัดการในภาคขนส่ง
  • มีพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 10 ไร่ โดยสามารถรวมหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน และจะเป็นพื้นที่โล่งหรือมีต้นไม้อยู่แล้วก็ได้ 
  • ต้นไม้ชนิดอื่นๆ อีกมากมายเกือบ 60 ชนิดตามประกาศของ อบก. ซึ่งแต่ละชนิดก็กำหนดอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้แตกต่างกันไป
  • ขึ้นทะเบียนสำเร็จและดำเนินการปลูกดูแลต้นไม้ตามจำนวนปีที่กำหนด จะมีการประเมินผลการเติบโตของต้นไม้ตามมาตรวัดต่างๆ 

ซึ่งอาจจะยังดูห่างไกลสำหรับคนทั่วไปหรือแม้แต่องค์กรเล็กๆ  แต่ทราบไหมครับว่าเพียงการปลูกต้นไม้บางชนิดอย่างจำปี ปีป ทุเรียน มะขาม สะเดา หรือไผ่ในที่ดินของเราแล้วบำรุงรักษาตามระเบียบวิธีที่กำหนด ก็สามารถนับเป็นโครงการที่ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตได้ด้วย

โครงการที่มาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้พอดี คือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งเป็นกลไกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนาขึ้นประมาณ 10 ปีมาแล้ว 

โครงการ T-VER แบ่งได้หลายประเภท อาทิ ประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน ประเภทการจัดการในภาคขนส่ง  แต่ในที่นี้ ผมขอยกตัวอย่างประเภทที่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไปสามารถจัดทำในพื้นที่ของตนเองได้ นั่นคือโครงการประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร  เน้นการปลูกป่าอย่างยั่งยืน หรือสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว เพื่อเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่โครงการ  ข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการทำโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ มีดังนี้

มีพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 10 ไร่ โดยสามารถรวมหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน และจะเป็นพื้นที่โล่งหรือมีต้นไม้อยู่แล้วก็ได้ 

พื้นที่ต้องมีเอกสารแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย อาทิ โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ มีเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้นๆ ยินยอมให้ดำเนินการ อาทิ สัญญาเช่า หนังสืออนุญาตจากหน่วยงานราชการ 

กรณีพื้นที่เดิมมีสภาพเป็นป่า ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม 

ผู้สนใจสามารถเลือกปลูกไม้ใกล้ตัวตามที่ผมได้ยกตัวอย่างข้างต้น รวมถึงต้นไม้ชนิดอื่นๆ อีกมากมายเกือบ 60 ชนิดตามประกาศของ อบก. ซึ่งแต่ละชนิดก็กำหนดอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้แตกต่างกันไป แล้วยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ต่อ อบก.  สำหรับขั้นตอนนี้ อบก. มีจัดอบรมและให้คำปรึกษาเรื่องการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  

เมื่อขึ้นทะเบียนสำเร็จและดำเนินการปลูกดูแลต้นไม้ตามจำนวนปีที่กำหนด ก็จะมีการประเมินผลการเติบโตของต้นไม้ตามมาตรวัดต่างๆ  หากผ่านก็จะได้รับการรับรอง “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหมายถึงการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ โดยโครงการมีระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิตนานถึง 10 ปี และสามารถต่ออายุโครงการได้อีกครั้งละ 10 ปีแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง

บางท่านอาจสงสัยว่าคาร์บอนเครดิตสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง  แน่นอนครับนำไปสร้างรายได้ด้วยการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างผู้มีบัญชีคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน (Trading) โดย ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีราคาประมาณ 280 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)  หรือใช้ในการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ (Offsetting)  หรือใช้เพิ่มความน่าเชื่อถือในการรายงานความสำเร็จของการลดก๊าซเรือนกระจกในรายงานความยั่งยืนองค์กร (Reporting) เป็นต้น 

จากข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567  มีโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด 51 โครงการทั่วประเทศ   มีทั้งที่ดำเนินการโดยวัด ชุมชน เทศบาลตำบล สนามกอล์ฟ และมหาวิทยาลัย  คาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะกักเก็บได้จากโครงการเหล่านี้คือประมาณ 361,966 tCO2eq ต่อปี

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการลดและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างโครงการ T-VER ภาคป่าไม้นี้เป็นการปลูกต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นอีกหนทางสร้างรายได้สำหรับผู้ที่มีที่ดินหลายไร่ พร้อมเปิดโอกาสให้ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และบุคคลหรือหน่วยงานทั่วไปในทุกภาคส่วนสามารถร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมทั้งลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกันครับ