ยั่งยืนด้วยความเป็นมิตร | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ยั่งยืนด้วยความเป็นมิตร | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

การกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน “การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มักจะเกี่ยวข้องกับ “กระบวนการผลิต” และ “ตัวสินค้าหรืองานบริการ” เสมอ

“สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หมายถึง สินค้าที่ผลิตขึ้นจากกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อชุมชนในเชิงลบที่เกี่ยวกับการสร้างปัญหาต่อสุขภาพ และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง 

“การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” จึงเป็นแนวความคิดที่เกิดจากความหวังดีต่อกันของความเป็นเพื่อน (ความเป็นมิตรกัน) ซึ่งควรจะต้องเริ่มต้นเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เริ่มรู้จักกัน (ต้นทาง) ถึงการตายจากกัน (ปลายทาง) 

หมายความว่า เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การเลือกใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่สะอาดและเหมาะสม การเลือกกรรมวิธีการผลิต เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้านั้นๆ ใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม (อากาศเสีย น้ำเสีย และกากขยะ)

จนกระทั่งผลิตเสร็จสมบูรณ์เป็นสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่รอการบรรจุหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ เพื่อเตรียมการขนส่งและจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคหรือลูกค้าต่อไป

ทุกวันนี้ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มักจะครอบคลุมถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์นั้นๆ (หลังจากการใช้งานหรือหมดอายุแล้ว) อย่างถูกวิธีด้วย

สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังครอบคลุมถึงการนำของเหลือใช้จากการผลิต หรือของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต เพื่อนำมาแปรรูปกลับไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง คือพยายามทำให้ของเสียเป็นศูนย์หรือเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด อันเป็นแนวความคิดสำคัญของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)

ส่วน “’งานบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” จะหมายถึงงานบริการต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านซักรีด ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น

ซึ่งเน้นในการประกอบการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการให้บริการ เช่น การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ประหยัดไฟฟ้า ประหยัดน้ำ หรือสนับสนุนและประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการคัดแยกขยะที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น

สถานบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกกันว่า “สถานบริการสีเขียว” มักจะเน้นในเรื่องของการจัดเก็บและคัดแยกขยะด้วย

โดยการกำหนดพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน (โดยเฉพาะขยะอันตราย ที่ต้องจัดเก็บเป็นกรณีพิเศษ) ซึ่งต้องรณรงค์ให้พนักงานผู้ให้บริการลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการนี้ด้วย

เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยไปดูงานที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในยุโรป ที่ท่านสาธุคุณเรียกโบสถ์ของท่านว่า “Green Church” ซึ่งโครงสร้างอาคาร เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ เป็นไม้และอื่นๆ ที่มาจากธรรมชาติ อาหารการกินทุกอย่างก็มาจากพืช หรือ “ออร์แกนิก” (Organic) ทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญของคำว่า “Green”

ในความเป็นจริงนั้น สินค้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป หลายแห่งอาจจะละเลยหรือมองข้ามผลกระทบที่อาจจะเกิดจากระบบการผลิตที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งในขณะคัดเลือกวัตถุดิบระหว่างทำการผลิต การบรรจุและหีบห่อ การขนส่ง การจัดจำหน่าย การกำจัดขยะหรือซากผลิตภัณฑ์ การปล่อยของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตหรือเศษที่เหลือลงสู่แหล่งน้ำหรืออากาศ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมได้

 เพราะเจ้าของหรือผู้บริหารโรงงานมุ่งเน้นแต่การทำกำไรสูงสุด โดยลดต้นทุนให้ต่ำสุด ดังนั้น สินค้าจากโรงงานที่ขาดความรับผิดชอบเหล่านี้ จึงมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตจากโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ปัจจุบันนี้ ความได้เปรียบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะค่อยๆ น้อยลง ในขณะที่ความกดดันจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นมาก

ทำให้โรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มได้เปรียบขึ้น เพราะเริ่มก่อนแล้ว และคืบหน้าไปมากกว่าโรงงานที่เพิ่งเริ่มเรื่องนี้ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ โรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะแข่งขันในเรื่องราคาและทำกำไรได้ ซึ่งยั่งยืนด้วย

ปัญหาสำคัญในวันนี้ก็คือ การจัดการกับเศษซากสินค้าที่ใช้งานไม่ได้หรือหมดอายุแล้ว เพราะสินค้าตามท้องตลาดทั่วไปไม่มีการรับคืนซากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หลังจากหมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องหาสถานที่ทิ้ง หรือกำจัดสินค้าเหล่านั้น

ผู้คนทั่วไปจึงมักจะทิ้งขยะอันตรายบางอย่าง (เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น) ปะปนไปกับขยะทั่วไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมตามมาอีก 

แต่ปัจจุบัน ปัญหานี้เริ่มคลี่คลายแล้ว เพราะผู้ผลิตหลายรายได้รับผิดชอบต่อการกำจัดเศษซากที่หมดอายุ ด้วยแนวความคิดใหม่ที่ว่าด้วย “ความรับผิดชอบร่วมกัน” (Responsible Care) ของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

นั่นคือ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องผสมกลมกลืนเข้ากับการกระทำหรือกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ ครับผม!