"Bio-Credits" กลไกเพื่อดูแล "ความหลากหลายทางชีวภาพ"

"Bio-Credits" กลไกเพื่อดูแล "ความหลากหลายทางชีวภาพ"

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันดันต้นๆ ของโลก และยังเผชิญกับการคุกคาม ทั้งจากมนุษย์และธรรมชาติจนเป็นสิ่งที่น่ากังวล "ไบโอเครดิต" จึงเป็นหนึ่งกลไกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยในการนำกลไกตลาดมาใช้ เพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยมี "ความหลากหลายทางชีวภาพ" อันดับต้นๆ ของโลก แต่การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้มีการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติเกินศักยภาพ ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  • “เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity credits) ถูกพูดถึงในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกตลาดมาใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้
  • กลไกดังกล่าว จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อประโยชน์ในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่ได้อย่างยาวนาน

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันดันต้นๆ ของโลก และยังเผชิญกับการคุกคาม ทั้งจากมนุษย์และธรรมชาติจนเป็นสิ่งที่น่ากังวล "ไบโอเครดิต" จึงเป็นหนึ่งกลไกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยในการนำกลไกตลาดมาใช้ เพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) มากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมีความสำคัญต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆ จึงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปัจจุบันเวทีระหว่างประเทศเริ่มมีการพูดถึงกลไกที่จะเข้ามาช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity credits) หรือ “ไบโอ เครดิต” ซึ่งนำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้

 

กลไกของไบโอเครดิตมีลักษณะคล้ายกับคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (voluntary carbon credits) เป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้โดย “ผู้ซื้อ” มีความยินดีจะจ่ายเพื่อปกป้อง หรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และฝั่งผู้ผลิต หรือผู้ขายจะเป็นผู้ที่ลงทุนดำเนินโครงการที่สามารถปกป้อง ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้

 

พืช สัตว์ ลดลง

ข้อมูลจาก หอสมุดรัฐสภา เผยว่า จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้มีการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติเกินศักยภาพโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเหตุให้จำนวนประชากรพืชและสัตว์ลดลงหรือสูญพันธุ์ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของประเทศไทย แบ่งได้ดังนี้

1) พรรณไม้ จำนวนทั้งสิ้น 12,050 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามใน พ.ศ. 2563 จำนวน 999 ชนิด และใน พ.ศ. 2565 พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย 3 ชนิด คือ ขมิ้นรางจืดว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์ และปอยาบเลื้อย

 

2) สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวนทั้งสิ้น 5,005 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ใน พ.ศ. 2560 จำนวน 676 ชนิด และใน พ.ศ. 2564-2565 พบสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกในประเทศไทย 2 ชนิด คือ กะท่างน้ำอุ้มผางซึ่งเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และตุ๊กแกประดับดาว ส่วนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก จำนวน 10 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ

 

และ 3) จุลินทรีย์ชนิดใหม่ของโลก ใน พ.ศ. 2565 พบจำนวน 2 ชนิด คือ Savitreella phatthalungensis ค้นพบในจังหวัดพัทลุง และ Goffeauzyma siamensis ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ยังพบสัตว์เพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น การค้นพบมดชุติมา แตนเบียนวียะวัฒนะ แตนเบียนสะแกราช และโคพีพอด ในจังหวัดนครราชสีมา และปูมดแดง อาจารย์ซุกรี ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงหรือเทือกเขาสูงทางภาคใต้

 

 

สัตว์หายไปกว่า 2 ใน 3 ในแถบเอเชียแปซิฟิก

ขณะเดียวกัน WWF ระบุถึงสถานการณ์ระบบนิเวศของโลก ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยรวมลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ลดลงถึง 68% ระหว่างปี 1970 -2016 หรือลดลงกว่า 2 ใน 3 ในแถบเอเชียแปซิฟิก

 

นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรธุรกิจเอง เริ่มตระหนักแล้วว่าระบบนิเวศ คือ ต้นทุนทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึงเป็นฐานทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจโลก โดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่า GDP ของโลก กว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ

 

Bio-Credits กลไกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อธิบายถึง Bio-Credits (Biodiversity Credits) หรือ เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ ว่า เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่มีการนำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมทุนเพื่อดูแลธรรมชาติและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่

 

โดยมีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Credits) ซึ่งเป็นการซื้อ - ขาย ระหว่างผู้ซื้อที่มีความยินดีในการจ่ายเพื่อปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้ขายที่เป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการที่สามารถปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้

 

ซึ่งหลังจากนวัตกรรมของตลาดไบโอเครดิตเกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดการปกป้องหรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสามารถนำผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณมาแสดงเพื่อขอใบรับรอง ว่ามีการดำเนินงานที่เกิดขึ้นได้จริง และผู้ผลิตสามารถนำไบโอเครดิตที่อยู่ในใบรับรองไปขายให้ผู้ซื้อที่ยินดีจ่ายเงินได้

 

และต่อเนื่องจาก Sustainability Trends 2024 ที่ได้กล่าวไว้ Bio-Credits ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ การเพิ่มจำนวนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Net Gain) เพื่อก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน โดยไบโอเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถตรวจสอบปริมาณ คุณภาพ ชนิดพันธุ์ ระบบนิเวศ และที่อยู่อาศัยผ่านการซื้อขายหน่วยความหลากหลายทางชีวภาพได้ ทำให้ทราบถึงการเพิ่มจำนวนของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ หลากหลายหน่วยงานได้เริ่มมีความสนใจใน Bio-Credits เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เมื่อปี 2565 ได้ริเริ่มโครงการริเริ่มในการสำรวจศักยภาพของสินเชื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) เพื่อปลดล็อกการจัดหาเงินทุนใหม่สำหรับผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดได้สำหรับธรรมชาติและผู้ดูแลธรรมชาติ และสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินเชื่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ แต่ก็ยังไม่สามารถทำ Biodiversity Finance ได้เต็มที่ เนื่องจากยังขาดมาตรฐานการออกไบโอเครดิต ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับโลก

 

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อไบโอเครดิต (Biodiversity Credit Alliance) ขึ้นในปี 2565 โดยมีสมาชิกเป็นองค์กรจากภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคส่วนอื่นๆ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida)

 

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงของโลก แต่ก็ยังมีภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เกิดจากมนุษย์และภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ไบโอเครดิตจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อประโยชน์ในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลาน

 

แม่ฟ้าหลวงฯ เดินหน้า ไบโอ เครดิต

ล่าสุด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้มีการริเริ่ม โครงการศึกษาความหลากหลาย ขึ้นเพื่อติดตามความสมบูรณ์ของป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน โดยการเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ป่าดอยตุงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะ อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีทีมทำงานเก็บข้อมูลที่เรียกว่า “ทีมปรับป่า” ที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และชุมชนร่วมกันทำงาน

 

ซึ่งข้อมูลที่ได้ช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของคนบนดอยตุงในการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน ในอนาคตจะเป็นทีมที่เข้มแข็งในการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ ในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ เตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลและความรู้เรื่องไบโอ เครดิต 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'แม่ฟ้าหลวงฯ' เตรียมรุก 'ไบโอ เครดิต' เปิดข้อมูลหลากหลายชีวภาพผืนป่าดอยตุง

 

โครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ

ที่ผ่านมา "ดร.เพชร มโนปวิตร" ผู้จัดการโครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ เผยถึง ความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบริการ มักจะไม่ได้รับการเห็นคุณค่าและถูกมองว่าได้มาฟรี จึงเกิดต้นทุนที่ไม่มีใครรับผิดชอบ

 

การกำหนดนโยบายเมื่อมองข้ามส่วนนี้ไป ทำให้ไม่มีการบูรณาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปในเรื่องของนโยบาย และภาคปฏิบัติ สะท้อนไปยังภาคส่วนต่างๆ ที่ยังไม่ตระหนักหรือต้นทุนธรรมชาติและระบบนิเวศบริการที่สูญเสียไประหว่างการดำเนินธุรกิจ รวมถึงซัพพลายเชนด้วย

 

อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งให้ประเทศภาคีตระหนักถึงระบบนิเวศบริการและความหลากหลายทางชีวภาพ และวางแผนยุทธศาสตร์จัดการความหลากหลายทางชีวภาพแบบบูรณาการ

 

ทำให้เกิด “โครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ” (National Ecosystem Assessment: NEA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ร่วมกับ UNEP และ UNESCO ต้องการที่จะให้เกิดความแบ่งปันความรู้ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพ นโยบาย และผู้ที่มีส่วนตัดสินใจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่น การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พัฒนาศักยภาพแบ่งปันประสบการณ์ บทเรียน ด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่ผ่านมา และการมีส่วนร่วมระดับสากล โดยประเทศไทยมีการพูดคุยและโฟกัสในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

 

อีกทั้งเกิด แพลตฟอร์มนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการระบบนิเวศ (IPBES) เพื่อให้วิทยาศาสตร์และระดับนโยบายเข้าใจกันมากขึ้น นำองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับนโยบายให้ทันสมัยมากขึ้น

 

3 กลไก ขับเคลื่อนประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย “ดร.ภัทรินทร์ ทองสิมา” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดทำแผน 4 ฉบับ ตอบโจทย์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน

 

โดยประเด็นสำคัญตาม 3 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ “กลไกทางการเงิน” จัดการกลไกทางการเงิน ศึกษาประเมินต้นทุนธรรมชาติ ธนาคารต้นไม้ ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) พันธบัตรป่าไม้ และจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ การสนับสนุนของภาคเอกชน ทำให้กลไกทางการเงินมีผลทางรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยว ชุมชน ดูแลรักษาทรัพยากร

 

“การอนุรักษ์ ฟื้นฟูชนิดพันธุ์ที่อยู่อาศัย” คุ้มครองสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จ ในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก ช้าง กระทิง ฯลฯ ขยายพันธุ์พืชในเขตระนอง พังงา เป็นต้น

 

และ “มาตรการกลไกนำผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนสู่แหล่งกำเนิด” เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน มีการประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทยอยู่ที่ 0.5% ของงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP ซึ่งแนวโน้มเห็นชัดว่าลดลง ดังนั้น อาจต้องมีการจัดสรรงบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยเหลือด้านนี้

 

“การดำเนินการต่อไป คือ การตอบโจทย์ SDGs ในเรื่องของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม จะต้องมีปริมาณลดลง และเพิ่มพื้นที่คุ้มครองบนบกและทะเลให้ถึง 30% และการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ที่สร้างผลกระทบในเชิบบวกและความยั่งยืนในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้” ดร.ภัทรินทร์ กล่าว