‘สัตว์อพยพ’ มีจำนวนลดลงจนเสี่ยงสูญพันธุ์ ถูกมนุษย์ล่าและ ‘ภาวะโลกร้อน’

‘สัตว์อพยพ’ มีจำนวนลดลงจนเสี่ยงสูญพันธุ์ ถูกมนุษย์ล่าและ ‘ภาวะโลกร้อน’

สหประชาชาติเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า สัตว์อพยพจากทั่วโลกถึง 44% กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ 1 ใน 5 ของทั้งหมดเผชิญกับภัยคุกคามจากการสูญพันธุ์ ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถูกมนุษย์ล่า

KEY

POINTS

  • การลดลงของจำนวนสัตว์อพยพเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุรวมกัน แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว คือการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และการถูกมนุษย์ล่าจนส่งผลกระทบต่อสัตว์หลายชนิดในโลก
  • การสูญเสียถิ่นที่อยู่เกิดขึ้นเมื่อพื้นป่าถูกมนุษย์รุกล้ำนำมาใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และกลายเป็นเมือง ทำให้ที่ดินที่เคยเป็นอยู่อาศัยของสัตว์ถูกแบ่งออกเป็นผืนเล็ก ๆ กระจายตัวออกจากกัน แหล่งที่อยู่อาศัยยังเสื่อมโทรมลงเนื่องจากมลภาวะ
  • การล่าสัตว์และการทำประมงผิดกฎหมาย ทำประมงไม่เว้นช่วงให้สัตว์เติบโต และการใช้อวนขนาดใหญ่จับสัตว์จนมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นติดไปด้วย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์อพยพมีจำนวนลดลงอย่างมาก

สหประชาชาติเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า สัตว์อพยพจากทั่วโลกถึง 44% กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ 1 ใน 5 ของทั้งหมดเผชิญกับภัยคุกคามจากการสูญพันธุ์ ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถูกมนุษย์ล่า

ภาพฝูงนกโบยบินข้ามท้องฟ้า และฝูงสัตว์ที่เดินทางผ่านผืนดินอันกว้างใหญ่อาจจะกลายเป็นภาพที่มีแค่ในรูปถ่ายหรือวิดีโอเท่านั้น เพราะสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า “สัตว์อพยพ” เกือบ 50% เสี่ยงสูญพันธุ์ ไร้ที่อยู่อาศัย ถูกล่า คุกคามจากมนุษย์ และ “ภาวะโลกร้อน

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า สัตว์อพยพจากทั่วโลกถึง 44% กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ 1 ใน 5 ของทั้งหมดเผชิญกับภัยคุกคามจากการสูญพันธุ์ ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง เกษตรกรรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนถูกมนุษย์คุกคาม

 

“สัตว์อพยพ” เสี่ยงสูญพันธุ์

ปัจจุบันสหประชาชาติได้บรรจุสัตว์ 1,189 สายพันธุ์ ลงในอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอพยพย้ายถิ่น หรือ CMS (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals) มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีมาตรการป้องกันสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ซึ่งจัดอยู่ในหมวด สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด หรือสัตว์ที่อยู่สถานะคุกคาม ที่ผ่านมาอนุสัญญานี้ได้ช่วยเหลือ ละมั่งไซกาของเอเชียกลาง ให้รอดพ้นจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่และการรุกล้ำ แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์จะโชคดี

สหประชาชาติระบุว่า นกอพยพทั่วโลก 134 สายพันธุ์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 14% จาก 960 สายพันธุ์ ถูกคุกคามและมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญในบางภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกที่ใช้เส้นทางอพยพแอโฟร-พาเลียร์กติก เส้นทางอพยพจากเอเชียและยุโรปลงไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

ขณะที่ปลา 56 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 58 สายพันธุ์ที่นักวิจัยเฝ้าระวังอยู่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ รวมถึงปลาสเตอร์เจียน ฉลาม ปลากระเบน และปลาฉนากหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ รายงานยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จำนวนปลาไหลยุโรปลดลง 95% เนื่องจากถูกมนุษย์จับไปตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย อีกทั้งมีอุปสรรคขัดขวางการอพยพ

ทั้งนี้ยังมีสัตว์อีก 399 สายพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี CMS ก็กำลังถูกคุกคามหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โลมาและนกอัลบาทรอสในลุ่มแม่น้ำสินธุ กวางเรนเดียร์ในอเมริกาเหนือและรัสเซีย และนกอัลบาทรอสในซีกโลกใต้ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งสิ้น

 

“สัตว์อพยพ” สูญเสียถิ่นที่อยู่

การลดลงของจำนวนสัตว์อพยพเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุรวมกัน แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว คือการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และการถูกมนุษย์ล่าจนส่งผลกระทบต่อสัตว์หลายชนิดในโลก

“สัตว์อพยพมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อแรงกดดันที่เราสร้างต่อสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ เนื่องจากพวกมันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้น แต่พวกมันเดินทางไปที่ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ในระยะทางที่น่าเหลือเชื่อ” เจมส์ เพียร์ซ-ฮิกกินส์ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์แห่ง British Trust for Ornithology กล่าว

ตามรายงานของสหประชาชาติ พบว่า 58% ของพื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบอยู่ได้รับแรงกดดันด้านความยั่งยืน โดย 3 ใน 4 ของสายพันธุ์ที่อยู่ในบัญชี CMS ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ทั้งในด้านความเสื่อมโทรม และการกระจายตัวของพื้นที่

การสูญเสียถิ่นที่อยู่เกิดขึ้นเมื่อพื้นป่าถูกมนุษย์รุกล้ำนำมาใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และกลายเป็นเมือง ทำให้ที่ดินที่เคยเป็นอยู่อาศัยของสัตว์ถูกแบ่งออกเป็นผืนเล็ก ๆ กระจายตัวออกจากกัน โดยเฉพาะจากการทำฟาร์ม

นอกจากนี้ แหล่งที่อยู่อาศัยยังเสื่อมโทรมลงเนื่องจากมลภาวะ กิจกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมได้ปล่อยสารเคมีอันตรายออกสู่แหล่งที่อยู่อาศัยอีกด้วย การศึกษาได้พบสารมลพิษอินทรีย์ถาวร (POP) ตกค้างอยู่ในนกนางนวล ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในภูมิภาคเกรตเลกส์ของสหรัฐ แม้ว่าจะมีกฎระเบียบและมาตรการด้านอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

 

“ล่าสัตว์ - ทำประมง” ทำลาย “สัตว์อพยพ”

สหประชาชาติระบุว่า การล่าสัตว์และการทำประมงผิดกฎหมาย ทำประมงไม่เว้นช่วงให้สัตว์เติบโต และการใช้อวนขนาดใหญ่จับสัตว์จนมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นติดไปด้วย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์อพยพมีจำนวนลดลงอย่างมาก

มีการประเมินว่านก 7 ใน 10 สายพันธุ์ที่อยู่ในบัญชี CMS ได้รับผลกระทบจากการล่ามากเกินไป ทุก ๆ ปี ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนจะมีนกประมาณ 11-36 ล้านตัวถูกฆ่าอย่างผิดกฎหมายหรือนำออกจากพื้นที่ ส่วนนกจาบปีกอ่อนอกเหลือง ที่ใช้เส้นทางบินอพยพในเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย ถูกปรับสถานะเป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” เนื่องจากมีจำนวนลดลงถึง 95% จากการถูกดักจับผิดกฎหมาย

ในกรณีของปลา การศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในปี 2018 พบว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นทะเลที่มีการจับปลามากเกินไปมากที่สุดในโลก โดย 62% ของปริมาณปลาในทะเลจับปลามากเกินไปและมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะสูญพันธุ์ ขณะที่ฉลามวาฬมีจำนวนลดลง เพราะการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดของมนุษย์ (Overexploitation) และการชนกับเรือ แต่ยังสามารถฟื้นตัวได้ หากมีความพยายามในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

 

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อันตรายต่อ  “สัตว์อพยพ”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทั้งด้านอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อความเหมาะสมของแหล่งผสมพันธุ์และจุดแวะพักตามเส้นทางอพยพ การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติเหล่านี้จะทำให้สายพันธุ์ต่าง ๆ อาจไม่สามารถดำเนินตามรูปแบบการอพยพตามปกติได้อีกต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้สายพันธุ์ตายโดยตรงหรือผสมพันธุ์น้อยลง

การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในทะเลเหลืองที่ตั้งอยู่ระหว่างจีนและเกาหลีส่งผลกระทบเป็นพิเศษต่อนกน้ำ ทั้งนกชายฝั่งและนกลุยน้ำ ซึ่งปกติแล้วจะแวะพักอยู่ที่นั่นระหว่างการอพยพ ขณะที่จำนวนนกอพยพในแอฟริกามีความผันผวนตามรูปแบบปริมาณน้ำฝน โดยถ้ามีฝนชุกจำนวนนกจะเพิ่มมากขึ้น เพราะมีอาหารเพียงพอ แต่ถ้าเป็นปีแล้งนกจะกลับคืนสู่พื้นที่น้อยลง

ส่วนการพัฒนาทุ่งกังหันลม แม้ว่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่การทำทุ่งกังหันลมในเส้นทางอพยพของนก เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา อาจจะให้เกิดอันตรายต่อนกได้เช่นกัน เพราะพวกมันอาจจะได้รับบาดเจ็บหรือตายจากใบพัดของกังหันลม โดยเพียร์ซ-ฮิกกินส์กล่าวว่าไม่ควรสร้างทุ่งกังหันลมในเส้นทางอพยพของสัตว์ และไม่เป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่หากมีฝูงนกเข้ามาใกล้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการปิดเครื่องและหยุดทำงานจนกว่านกจะบินผ่านไป ซึ่งมักจะใช้เวลาไม่เกินชั่วโมง

นอกจากนี้ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ และเขื่อน ยังสามารถขัดขวางไม่ให้สัตว์อพยพย้ายถิ่นไปตามเส้นทางอพยพอย่างอิสระ ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การขนส่งทางเรือ ก็สามารถรบกวนรูปแบบการย้ายถิ่นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อัตราที่สัตว์ลดลงและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น นกทะเลมีอายุยืนยาวมากและสามารถตอบสนองต่อระดับน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไปได้ดีกว่าการเกิดภัยพิบัติ

 

ป้องกัน “สัตว์อพยพ” สูญพันธุ์

การป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์อพยพที่ลดลงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ตั้งแต่การทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่พวกมันอาศัยอยู่ สถานะการอนุรักษ์ และภัยคุกคามที่พวกเขาเผชิญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการอนุรักษ์ และจัดทำนโยบายและมาตรการระหว่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองในหลายประเทศ หรือทวีป

การเพิ่มขึ้นของจำนวนวาฬหลังค่อมในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ทางตะวันตก แสดงให้เห็นมาตรการอนุรักษ์สัตว์ในบัญชี CMS มีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อสัตว์ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ที่มุ่งปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์อพยพ และไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ พร้อมเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้คนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์อพยพได้เช่นกัน เพียร์ซ-ฮิกกินส์กล่าวว่า สัตว์อพยพมักจะรวมตัวกันในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล พฤติกรรมนี้ทำให้พวกมันถูกล่าและเป็นเหยื่อจากการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดของมนุษย์ได้ ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์มากเกินไป โดยตรวจสอบว่ามีตราสัญลักษณ์ความยั่งยืน เช่น จาก Marine Stewardship Council หรือไม่


ที่มา: AljazeeraWorld Economic Forum