‘แม่น้ำโขง’ วิกฤติ ‘ปลาบึก - กระเบนน้ำจืด’ ใกล้สูญพันธุ์ จากการสร้างเขื่อน

‘แม่น้ำโขง’ วิกฤติ ‘ปลาบึก - กระเบนน้ำจืด’ ใกล้สูญพันธุ์ จากการสร้างเขื่อน

การสร้าง “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ” จำนวนมากใน “แม่น้ำโขง” กำลังทำลายปลาหลากหลายสายพันธุ์ใน “ลุ่มแม่น้ำโขง” จากข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์ระบุว่าเกือบ 20% ของสายพันธุ์ปลาทั้งหมดกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะ “ปลาบึก” และ “ปลากระเบนน้ำจืด” ที่พบได้แต่ที่แม่น้ำแห่งนี้

KEY

POINTS

  • ข้อมูลจาก WWF พบ ราว 19% ของปลาในแม่น้ำโขง 1,148 สายพันธุ์กำลังใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงมากกว่านี้ และมี 18 สายพันธุ์ที่อยู่ในสถานะ “กลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” ซึ่งรวมถึง “ปลาบึก”  และ “ปลากระเบนแม่น้ำโขงยักษ์
  • การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำนับเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขง เพราะเขื่อนเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำ ทำลายคุณภาพน้ำ และขัดขวางการอพยพของปลา
  • ปริมาณปลาในแม่น้ำโขง (รวมถึงในทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา) ช่วงระหว่างปี 2546-2562 ลดลงไปถึง 88% เทียบได้กับจำนวน 15% ของปริมาณปลาที่จับได้ทั้งโลก ซึ่งหากไม่แก้ไขจะกระทบต่อวิถีชีวิตและอาชีพของผู้คนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

การสร้าง “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ” จำนวนมากใน “แม่น้ำโขง” กำลังทำลายปลาหลากหลายสายพันธุ์ใน “ลุ่มแม่น้ำโขง” จากข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์ระบุว่าเกือบ 20% ของสายพันธุ์ปลาทั้งหมดกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะ “ปลาบึก” และ “ปลากระเบนน้ำจืด” ที่พบได้แต่ที่แม่น้ำแห่งนี้

การสร้าง “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ” จำนวนมากใน “แม่น้ำโขง” กำลังทำลายปลาหลากหลายสายพันธุ์ใน “ลุ่มแม่น้ำโขง” จากข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์ระบุว่าเกือบ 20% ของสายพันธุ์ปลาทั้งหมดกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะ “ปลาบึก” และ “ปลากระเบนน้ำจืด” ที่พบได้แค่ในแม่น้ำแห่งนี้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออาชีพของคนในพื้นที่

แม่น้ำโขง” ทอดตัวยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร จากที่ราบสูงทิเบตไปจนถึงทะเลจีนใต้ ทำให้แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นเส้นทางเกษตรกรรม และการประมงสำหรับผู้คนหลายสิบล้านคนในหลายประเทศ ทั้งจีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ข้อมูลจากรายงานปลาที่ถูกลืมในแม่น้ำโขง” (The Mekong's Forgotten Fishes) ซึ่งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ทำงานร่วมกับกองทุน และกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลและสัตว์ป่าระดับโลก 25 กลุ่ม ระบุว่าราว 19% ของปลาในแม่น้ำโขงจำนวน 1,148 สายพันธุ์หรือมากกว่านั้นกำลังใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงมากกว่านี้ เพราะมีถึง 38% ของสายพันธุ์ที่นักวิจัยไม่ทราบสถานะของพวกมัน

“เขื่อน” ภัยคุกคามสำคัญของปลาใน “แม่น้ำโขง”

รายงานนี้ยังเน้นย้ำถึงภัยคุกคามหลากหลายประการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ผสมผสานกันจนทำให้จำนวนปลาในแม่น้ำโขงลดลง จนทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของการประมงในแม่น้ำโขงระหว่างปี 2558-2563 ลดลงราว 1 ใน 3 โดยภัยคุกคามต่อปลาในลุ่มแม่น้ำโขงมีด้วยกันหลากหลายประการ ได้แก่

1. การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย 

2. การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อทำการเกษตร และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 

3. การทำเหมืองทรายที่ไม่ยั่งยืน 

4. การปล่อยเอเลี่ยนสปีชีส์ลงสู่แหล่งน้ำ

5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลง 

6. การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ปิดกั้นการไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา

เซบ โฮแกน นักชีววิทยาด้านปลา หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Wonders of the Mekong หนึ่งในกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังรายงาน กล่าวว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำนับเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขง เพราะเขื่อนเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำ ทำลายคุณภาพน้ำ และขัดขวางการอพยพของปลา

ตามข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนธันวาคม 2565 ระบุว่า จีนได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างน้อย 95 แห่งบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง นอกจากนี้จีนยังมีเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำสายหลัก 11 แห่ง และวางแผนที่สร้างเขื่อนเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งเขื่อนเหล่านี้ได้ปิดกั้นตะกอนจำนวนมากซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นแก่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง 

อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแปรปรวน ในช่วงฤดูแล้งประเทศที่อยู่ต้นน้ำอย่างจีนได้กักเก็บน้ำไว้ในเขื่อน เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ยิ่งทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ปลายน้ำรุนแรงยิ่งขึ้น 

 

 

“ปลาบึก” และ “ปลากระเบนแม่น้ำโขง” ใกล้สูญพันธุ์

ในบรรดาสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์นั้นมี 18 สายพันธุ์ที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ระบุว่าอยู่ในสถานะ “กลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” ซึ่งรวมถึง “ปลาบึก” ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของฉายา “ราชินีแห่งแม่น้ำโขง” และ “ปลากระเบนแม่น้ำโขงยักษ์” ซึ่งพบได้เฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น

ลุ่มแม่น้ำโขงถือเป็นพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียง ลุ่มแม่น้ำแอมะซอน และแอ่งรอบลุ่มน้ำคองโก โฮแกน กล่าวว่า แม่น้ำโขง มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับโลก ยังมีสัตว์อีกหลากหลายชนิดที่ต้องทำการศึกษาวิจัย 

“ปลาที่ใหญ่ที่สุด และหายากที่สุดบางชนิดสามารถพบได้แค่ในแม่น้ำโขงเท่านั้น พื้นที่แห่งนี้คือ โลกที่น่าอัศจรรย์ แต่กลับไม่มีคนรู้จัก ไม่มีใครสนใจ และกำลังถูกคุกคาม” เขากล่าว

ตามข้อมูลจากการรายงาน พบว่า ปริมาณปลาในแม่น้ำโขง (รวมถึงในทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา) ช่วงระหว่างปี 2546-2562 ลดลงไปถึง 88% เทียบได้กับจำนวน 15% ของปริมาณปลาที่จับได้ทั้งโลก ซึ่งสร้างรายได้มากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชาชนอย่างน้อย 40 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และกระทบต่ออาชีพต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง

“จำนวนปลาในแม่น้ำโขงลดลงอย่างน่าตกใจ เราต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขหายนะครั้งนี้ เพราะแม่น้ำโขงไม่เป็นเพียงแต่เป็นรากฐานของสังคม และเศรษฐกิจของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสิ่งเหล่านี้ยังกระทบต่อระบบนิเวศน้ำจืดของแม่น้ำโขงด้วย” ลัน เมอร์คาโด ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ WWF กล่าว

 

สูญเสีย “แม่น้ำโขง” สูญเสียอาชีพ

การสูญเสียการประมงเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนหลายล้านคน ทำให้ชาวบ้านต้องพยายามหาอาชีพอื่นทำแทน ซึ่งจะยิ่งทำให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เพราะจะเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อทำการเกษตร ฟาร์ม และปศุสัตว์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยการใช้น้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น 

ในงานวิจัยระบุว่า หากการทำประมงในลุ่มแม่น้ำโขงลดลง 50% ผู้คนอาจหันไปทำฟาร์มวัวเนื้อเพิ่มขึ้น มากกว่าสองเท่า ซึ่งจะทำให้ต้องเสียพื้นที่สำหรับทำปศุสัตว์เพิ่ม 83,000 ตารางกิโลเมตร มีความต้องการใช้น้ำในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 8% และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 45 ล้านตัน

รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมโครงการ Freshwater Challenge ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มการฟื้นฟู และปกป้องน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ ด้วยการปล่อยให้แม่น้ำโขงได้ไหลตามธรรมชาติ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัย และสายพันธุ์ที่สำคัญ การขจัดสิ่งกีดขวางทางแม่น้ำ และการยุติการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน

วิธีการเหล่านี้ได้ทดลองใช้ในเขตอนุรักษ์ปลาที่นำโดยชุมชนใน สปป. ลาว ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลา และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้ดี และเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงในท้องถิ่น

โฮแกน กล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปสำหรับประเทศต่างๆ ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่จะประสานความพยายามในการฟื้นฟูจำนวนประชากรปลาในแม่น้ำโขง

“ถ้าเราช่วยกันแก้ไข พัฒนาแม่น้ำอย่างยั่งยืน ก็ยังมีความหวัง” โฮแกน กล่าว


ที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียรReutersStraits TimesWWF

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์