‘เอเชียใต้’ ภูมิภาคที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก เพราะมีการเผาเป็นจำนวนมาก

‘เอเชียใต้’ ภูมิภาคที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก เพราะมีการเผาเป็นจำนวนมาก

เปิดวิธีรับมือ "ฝุ่น PM2.5" ของ "เอเชียใต้" ภูมิภาคที่มีอากาศที่แย่ที่สุดในโลก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมการเผาอิฐ และใช้ "เชื้อเพลิงแข็ง" เป็นหลักในการทำอาหารและให้ความร้อน

KEY

POINTS

  • ประเทศใน “เอเชียใต้” ครองอันดับท็อป 3 ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด โดยบังกลาเทศมีค่า PM2.5 สูงสุดเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยปากีสถานและอินเดีย ดังนั้นเอเชียใต้จึงกลายเป็นภูมิภาคที่มีสภาพภูมิอากาศเลวร้ายที่สุดไปโดยปริยาย
  • คุณภาพอากาศที่ไม่ดีในเอเชียใต้ เป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีอุตสาหกรรมที่ใช้ “การเผา” เป็นจำนวนมาก และใช้ “เชื้อเพลิงแข็ง” การปรุงอาหารและให้ความร้อน ยิ่งจะทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น
  • รัฐบาลเอเชียใต้ได้พยายามออกมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศมากมาย เช่น ห้ามเผาไร่นา ห้ามใช้รถเก่า และเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนใช้ฝนเทียมเพื่อลดฝุ่นควัน

เปิดวิธีรับมือ "ฝุ่น PM2.5" ของ "เอเชียใต้" ภูมิภาคที่มีอากาศที่แย่ที่สุดในโลก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมการเผาอิฐ และใช้ "เชื้อเพลิงแข็ง" เป็นหลักในการทำอาหารและให้ความร้อน

ในปี 2023 “เอเชียใต้” กลายเป็นภูมิภาคที่มีสภาพภูมิอากาศเลวร้ายที่สุด โดยจากการรายงานสภาพอากาศประจำปี 2023 ของ IQAir บริษัทติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก พบว่า “บังกลาเทศ” เป็นประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่มากที่สุดในโลก ตามมาด้วยปากีสถานและอินเดียในอันดับที่ 2 และ 3 ซึ่งอยู่ในเอเชียใต้เช่นเดียวกัน

รายงานนี้ให้ภาพรวมของข้อมูลคุณภาพอากาศ โดยเก็บข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 มลพิษที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นอันตรายมากที่สุด เนื่องจากสามารถผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ 

อนุภาคเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น พายุฝุ่นและไฟป่า และเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาถ่านหินหรืองานเกษตรกรรม

ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระดับ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ระดับ PM2.5 ของบังกลาเทศอยู่ที่ 79.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าที่ WHO แนะนำเกือบ 16 เท่า ขณะที่ปากีสถานอยู่ที่ 73.7 ส่วนอากาศของอินเดียมีอนุภาค PM2.5 อยู่ที่ 54.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยเฉลี่ย

หากดูปริมาณมลพิษเป็นรายเมือง จะพบว่า “เบกูซาไร”  เมืองอุตสาหกรรมและการเงินของแคว้นพิหาร ในอินเดีย ที่ตั้งของโรงกลั่นและโรงไฟฟ้า มีอนุภาค PM2.5 สูงถึง 118.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยเฉลี่ยในปี 2566 

โดยอันดับที่ 2-4 ก็ยังคงเป็นเมืองในอินเดีย ได้แก่ อันดับที่ 2 คือ เมืองกูวาฮาติ ในรัฐอัสสัม ส่วนอันดับ 3 เมืองเดลี และอันดับที่ 4 เมืองมุลลันปูร์ ในรัฐปัญจาบ

ในขณะที่ เมืองธากาในบังกลาเทศมี PM2.5 สูงถึง 80.2 ส่วนเมืองลาฮอร์ เมืองหลวงของปากีสถานก็มีค่าเฉลี่ยถึง 99.5

สาเหตุที่ทำให้สภาพอากาศ “เอเชียใต้” ย่ำแย่

รายงานยังพบว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีในเอเชียใต้ เป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีอุตสาหกรรมที่ใช้ “การเผา” เป็นจำนวนมาก ทั้งการเผาอิฐ การเผาขยะทางการเกษตร การเผาศพ และการปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากนี้กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังใช้ “เชื้อเพลิงแข็ง” เช่น ไม้ ฟืน เศษวัชพืช ถ่านหิน หินน้ำมัน และแกลบ ในการปรุงอาหารและให้ความร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่อากาศหนาวเย็น ยิ่งจะทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น

ในบังกลาเทศมีเตาเผาอิฐประมาณ 8,000 เตา ซึ่งบางแห่งดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้การเผาขยะพลาสติกและควันจากยานพาหนะยังส่งผลให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีกด้วย นอกจากนี้ “มลพิษข้ามพรมแดน” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บังกลาเทศมี PM2.5 จำนวนมาก เพราะเมื่ออินเดีย เนปาล และปากีสถานเผาไร่นา หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ควันเหล่านั้นอาจลอยเข้าสู่บังกลาเทศได้เช่นกัน

ขณะที่ทางตอนเหนือของอินเดียและเดลีมีคุณภาพอากาศไม่ดีมากเช่นกัน เป็นผลมาจากการเผาสารชีวมวล ไม้ หรือของซากพืชต่าง ๆ หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวสาลี เพื่อนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิง อีกทั้งการเผาไหม้ถ่านหินและการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ ก็มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเช่นกัน

นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ของเอเชียใต้ยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้มลพิษทางอากาศสะสมเป็นจำนวนมากอีกด้วย  เอเชียใต้มี “ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ-คงคา” เป็นที่ราบที่สำคัญ โดยตั้งอยู่บริเวณบังกลาเทศ ฝั่งตะวันออกของปากีสถาน พื้นที่ทางตะวันออกและตอนเหนือของอินเดีย และทางใต้ของเนปาล เมื่อโดนลมจากชายฝั่งพัดเขามา ทำให้มลพิษที่ปล่อยออกมาถูกพัดพาไปเข้าไปยังเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ทางตอนเหนือ และมลพิษไม่สามารถกระจายออกไปยังที่อื่นได้

คุณภาพชีวิตลดลงของคนใน “เอเชียใต้” จาก “PM2.5”

กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม จากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนทำการวิจัยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมานานหลายทศวรรษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกแรกเกิด โดยทำให้น้ำหนักแรกเกิดน้อย อีกทั้งการสัมผัสมลพิษทางอากาศยังทำให้พัฒนาการเด็กล่าช้า พร้อมเชื่อมโยงต่อการแท้งบุตร และการคลอดบุตรอีกด้วย

ขณะข้อมูลจากดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อชีวิตที่ยืนยาว หรือ AQLI ที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับอายุขัยเฉลี่ยของประชากร พบว่า ประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดลงมากที่สุดจากการมีคุณภาพอากาศที่แย่ 3 อันดับแรก ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย และเนปาล ซึ่งลดลง 6.76 5.26 และ 4.58 ปี ตามลำดับ

นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว มลพิษทางอากาศในปากีสถานและอินเดียยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันอีกด้วย

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 แคว้นปัญจาบ ของปากีสถานจำเป็นต้องประกาศประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองลาฮอร์ เมืองกุชรันวาลา และเมืองฮาฟิซาบัด พร้อมปิดพื้นที่สาธารณะทั้งหมด เนื่องจากมีหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป และต้องประกาศให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย ส่วนกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ต้องปิดโรงเรียนถูกและสั่งหยุดการก่อสร้างลง 

 

“เอเชียใต้” เร่งแก้ปัญหา “มลพิษ”

รัฐบาลเอเชียใต้ได้พยายามออกมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศ ตัวอย่างเช่น อินเดียประกาศห้ามไม่ให้มีการเผาถ่านหินในภูมิภาคราชธานีแห่งชาติ ซึ่งเป็นภูมิภาคส่วนกลางที่รายล้อมเขตเมืองหลวงแห่งชาติเดลี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 

แม้ว่ายานพาหนะรุ่นเก่าถูกห้ามในเดลีในปี 2561 ส่งผลให้จำนวนรถยนต์บนท้องถนนลดลง 35% ตามรายงานของ IQAir แต่ว่ารัฐบาลเดลีและสถาบันเทคโนโลยีคานปูร์แห่งอินเดีย ยังระบุว่า การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศของเมือง

ขณะที่แคว้นปัญจาบของปากีสถานสั่งห้ามการเผาพืชผลและเปิดตัวโครงการขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนไม่เอารถส่วนตัวออกมาใช้ แต่ถึงจะมีคำสั่งห้าม เกษตรกรยังคงเผาพืชผลอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ถูกและดีกว่า

ส่วนบังกลาเทศประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2567 ว่าตั้งใจที่จะใช้เครื่องติดตามจากเตาเผาอิฐ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล เพื่อระบุเตาเผาอิฐที่เป็นอันตราย และเพื่อช่วยปรับปรุงกฎการบังกับ

อินเดียและปากีสถานหันมาใช้การทำฝนเทียมเพื่อลดหมอกควัน บิลาล อัฟซาล รัฐมนตรีรักษาสิ่งแวดล้อมของปากีสถาน เปิดเผยกับสำนักข่าว The Guardian ว่าการทำฝนเทียมในเมืองลาฮอร์จะช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นมลพิษทางอากาศก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม