‘คนไทย’ ตายเร็วขึ้น 1.78 ปี เพราะ ‘ฝุ่น PM2.5’ เกินมาตรฐาน

‘คนไทย’ ตายเร็วขึ้น 1.78 ปี  เพราะ ‘ฝุ่น PM2.5’ เกินมาตรฐาน

ผลวิจัยพบคนไทยมีอายุลดลง 1.78 ปี เนื่องจากได้รับสูดดม "ฝุ่น PM2.5" เกินมาตรฐาน และในปี 2566 มี "จุดความร้อน" เพิ่มขึ้น 266%

ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับปัญหา “ฝุ่น PM2.5” ที่สูงเกินมาตรฐานในระดับอันตราย โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลจากดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อชีวิตที่ยืนยาว หรือ AQLI ที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับอายุขัยเฉลี่ยของประชากร พบว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้น 1.78 ปี หากมีค่าเฉลี่ยต่อปีไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนด

หมายความว่าในตอนนี้คนไทยมีอายุลดลง 1.78 ปี เนื่องจากได้รับสูดดม PM2.5 โดยไทยมีอายุเฉลี่ยลดลงอย่างมากในอันดับที่ 29 ของโลก 

ส่วนประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดลงมากที่สุดจากการมีคุณภาพอากาศที่แย่ 3 อันดับแรก ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย และเนปาล ซึ่งลดลง 6.76 5.26 และ 4.58 ปี ตามลำดับ

สอดคล้องกับข้อมูลของ IQAir บริษัทติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก ที่รายงานสภาพอากาศประจำปี 2566 ระบุว่า “เอเชียใต้” เป็นภูมิประเทศที่มีฝุ่น PM2.5 น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะมีถึง 29 เมืองของอินเดีย ปากีสถาน หรือบังกลาเทศ ติด 30 อันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด

นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2566 คนไทยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงขึ้นมาก โดย 3 อันดับโรคในระบบทางเดินหายใจที่คนไทยเป็นมากขึ้น ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง 39.1% มะเร็งปอด 19.8% และโรคหลอดเลือดสมอง 16.8% สะท้อนปัญหาด้านสังคมและสาธารณสุขที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศที่ต้องเร่งป้องกันและแก้ไข

จุดความร้อนเพิ่มขึ้นกว่า 266%

ช่วงเดือนธ.ค. - เม.ย. เป็นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กแพร่กระจายมากที่สุด ซึ่งเป็นผลจากลักษณะสภาพภูมิอากาศตามฤดูกาลที่มีการถ่ายเทอากาศลดลงเป็นปกติ แต่ปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจาก “การเผาพื้นที่การเกษตร” เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

เมื่อหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็มันจะใช้การเผาในการเตรียมพื้นที่สำหรับการรเพาะปลูกครั้งต่อไป เพราะเป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุน และประหยัดเวลามากที่สุด ขณะที่บางครั้งก็อาจจะเกิดขึ้นจากการเผาป่า หรือไฟป่าตามธรรมชาติร่วมด้วย ซึ่งสร้างมลพิษทางอากาศและส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูล “จุดความร้อน” โดยการวิเคราะห์ของดาวเทียม ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พบว่าในปี 2566 มีจุดความร้อนรวม 168,468 จุด เพิ่มขึ้น 122,472 จุด หรือคิดเป็น 266% จากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 45,996 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 113,952 จุด พื้นที่ทางเกษตร 46,958 จุด และพื้นที่อื่น ๆ 7,558 จุด

หากแยกพื้นที่จุดความร้อนจำแนกตามประเภทเกษตรกรรม พบว่า มีการเผานาข้าวมากที่สุดถึง 39% ตามมาด้วยข้าวโพดและพืชไร่หมุนเวียน 24% ส่วนอ้อยมีการเผา 9%

กฎหมายและบทลงโทษของไทย

การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยติดตามเฝ้าระวังและ บังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการกำหนดโทษ สำหรับผู้ที่ก่อมลพิษ เพื่อป้องกัน และลดปัญหามลพิษทางอากาศ ดังนี้

  • ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 
  • เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 
  • ปล่อยทิ้งอากาศเสียโดยไม่มีการบำบัด ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดโทษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle) แต่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความท้าทายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรในระดับบุคคล เช่น การเผาขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ พื้นที่ ทำให้การดำเนินการเพื่อจับกุมอาจต้องอาศัย งบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้ผลที่ชัดเจน เนื่องจากยังค่า PM2.5 ของประเทศไทยยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐานจนอยู่ในระดับอันตรายในหลายพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง 

ทั้งนี้ “ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....” ยังคงกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยหวังว่าจะมาช่วยเชื่อมโยงกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ และช่วยดำเนินการจัดหาอากาศสะอาดให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง ด้วยการผ่านการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งระบบการตรวจคุณภาพอากาศที่สามารถระบุพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติ เพื่อใช้เครื่องมือและจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพื่อให้อากาศสะอาดให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องรับรอง และปกป้องให้ประชาชนให้ได้รับอากาศที่ปราศจากมลพิษโดยกฎหมาย