ความจริงคู่ขนานบนเส้นทางความยั่งยืน : Double Materiality

สวัสดีครับองค์กรหลายแห่งในไทยเริ่มคุ้นกับชื่อมาตรฐานสากลด้านการรายงานความยั่งยืน ซึ่งชื่อเหล่านี้อาจเคยสร้างความงุนงงเนื่องจากมีหลายมาตรฐานและวัตถุประสงค์ อาทิ Global Reporting initiative (GRI) Standards, Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD)

และ International Sustainability Standards Board (ISSB) 

แต่ความดีงามของมาตรฐานเหล่านี้คือช่วย “จัดโครงสร้างข้อมูล (Structured Data)” สำหรับเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อลูกค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ

แน่นอนว่าการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรในแต่ละปีอาศัยทั้งแรงงานและทรัพยากรระบบในการติดตามสารพัดข้อมูล  ถือได้ว่าเป็น “ยาขม” ของทีมทำรายงานเลยก็ว่าได้  แต่การมีข้อมูลรอบด้านช่วยให้เห็นภาพรวมว่าองค์กรยืนอยู่จุดไหนเมื่อเทียบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประชาคมโลก  รายงานเหล่านี้จึงเปรียบเสมือน “เลขไมล์รถ” ที่บ่งชี้ระยะทางที่ผ่านมา และระยะทางที่เหลือบนเส้นทางสู่ความยั่งยืนขององค์กร

พอเริ่มคุ้นกับมาตรฐานเดิม ล่าสุดก็มีมาตรฐานใหม่ออกมาให้เรียนรู้อีกแล้วครับ  ผู้นำแห่งโลกสีเขียวในระดับสากลหรือสหภาพยุโรป ได้กำหนดมาตรฐาน Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งมีผลบังคับทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปให้บริษัทขนาดใหญ่ในสภาพยุโรปรวมถึงบริษัทต่างชาติที่มีสาขาหรือบริษัทย่อยในสหภาพยุโรปต้องเริ่มทำรายงานด้านความยั่งยืนโดยแยกเล่มจากรายงานประจำปี

ใน CSRD มีหลักการหนึ่งที่บริษัทต้องนำมาใช้ในการรายงาน เรียกว่า Double Materiality หรือหลักการ “ทวิสารัตถภาพ” ที่ประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน (Non-Financial) ที่มีต่อทั้งตัวองค์กรเอง (Outside-in) และผลกระทบจากการกระทำขององค์กรต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอก (Inside-out) ควบคู่กัน เป็นการตีแผ่ “ความจริงคู่ขนาน” ที่มองจากสองด้านเพื่อลดความเสี่ยงด้าน Green Washing หรือการกล่าวอ้างเกินจริงว่าเป็นธุรกิจสีเขียว

แม้มาตรฐาน CSRD ไม่บังคับใช้กับกิจการในไทย แต่บริษัทในไทยหลายแห่งได้เพิ่มการประเมินแบบ Double Materiality ไว้ในรายงาน แสดงถึงความใส่ใจในการเปิดเผยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน  สำหรับบริษัทใดที่ต้องการเริ่มประเมิน Double Materiality นั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทีม EY Climate Change & Sustainability Services ออกบทความเรื่อง
“5 Pitfalls in the Double Materiality Assessment Process” ว่าด้วย 5 ข้อควรระวังเพื่อให้สามารถจัดทำรายงานผลการประเมิน Double Materiality ให้ถูกต้องดังนี้

ข้อหนึ่ง

คือระวังการเริ่มทำการประเมินช้าไป เพราะหากบริษัทจะออกรายงานปีหน้า ก็ต้องเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่รอบบัญชีปีนี้ โดยต้องกำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละหน้าที่อย่างชัดเจน อีกทั้งเผื่อเวลาส่งรายงานให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบก่อน

ข้อสอง

คือระวังการไม่คำนึงถึงปริมาณงานที่แท้จริงในกระบวนการประเมิน  บริษัทที่ยังไม่เคยแยกรายงานด้านความยั่งยืน  อาจเริ่มด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกมาช่วย หรือตั้งทีมทำรายงานของตนเองโดยจัดสรรทั้งบุคลากร เวลา และเครื่องมือให้เพียงพอต่อการประเมิน

ข้อสาม

คือระวังการคัดเลือกและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาส (Impacts,  Risks, and Opportunities: IRO) จากการดำเนินงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าหรือผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง

ข้อสี่

คือระวังการจัดทำเอกสารต่างๆ ได้ไม่ถึงมาตรฐานที่กำหนด  นอกจากการเก็บเอกสารให้ครบถ้วนแล้ว ควรเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ แผนกลยุทธ์ขององค์กร คำอธิบายว่าองค์กรบูรณาการมิติด้านความยั่งยืนไว้ในการดำเนินงานได้อย่างไร

และข้อห้า

คือระวังการมองข้ามไปว่าการรายงานถือเป็นหน้าที่ที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพราะการเก็บข้อมูลให้ครบตั้งแต่แรกจะเป็นการวางรากฐานการรายงานที่ดี  ไม่ต้องเริ่มแต่ละปีจากศูนย์ ส่งผลให้ข้อมูลในรายงานสมบูรณ์ น่าเชื่อถือ

การรายงานทั้งหมดนี้ เป็นมากกว่าเพียง “หน้าที่” หากเรามองให้เป็น “โอกาส” ในการประกาศผลงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างชัดเจน ตรวจสอบได้  ไม่ว่าจะมีความจริงอยู่กี่ด้าน จงตีแผ่มันออกมา  จะช่วยยกระดับชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรได้อย่างไร้ข้อกังขาครับ

ความจริงคู่ขนานบนเส้นทางความยั่งยืน : Double Materiality