การศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ

การศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ

การมีโอกาสได้เรียนต่อซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเด็กนักเรียนในเมืองใหญ่ แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

ในฐานะที่ยังทำงานด้านสังคมผ่านทางมูลนิธิสร้างเสริมไทยอยู่บ้างทำให้ผมมีโอกาสได้สัมผัสชาวบ้านและเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลอยู่เป็นประจำ ซึ่งทุกครั้งที่ได้ไปมอบอาคารศูนย์การเรียนรู้รวมถึงคอมพิวเตอร์และสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ก็ได้รับรู้ถึงความสุขของพวกเขาที่มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนใหม่ๆ

ยิ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาก็ยิ่งได้มองเห็นความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตจนทำให้รู้สึกว่าเขามีความสุขได้ง่ายๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความ “ไม่มีอะไร” ​ตรงกันข้ามกับเด็กในเมืองใหญ่ที่พ่อแม่มีฐานะดีและมีของที่จำเป็นครบถ้วนแต่กลับไม่มีความสุขเท่าที่ควร

แต่ท่ามกลางความสุขของเขานั้นสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกและไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลยไปได้คือ “อนาคต” ของพวกเขาที่ยังคงต่างจากเด็กในเมืองมากมายเหลือเกิน เพราะเท่าที่มีโอกาสพูดคุยและสอบถามบรรดาครูอาจารย์ทุกคนล้วนให้คำตอบเหมือนกันว่าจำนวนเด็กที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของทั้งโรงเรียนนั้นมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

เพราะผมเชื่อว่าพื้นฐานการศึกษาที่ดีนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเราได้ การมีโอกาสได้เรียนต่อซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเด็กนักเรียนในเมืองใหญ่แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

เพราะความขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และโอกาสในการเข้าถึงวิชาการอย่างเข้มข้นเพื่อสอบแข่งขันกับเด็กจากโรงเรียนอื่นๆ ปิดโอกาสที่จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เด็กจำนวนมากจึงหลุดจากระบบการศึกษาที่สามารถยกระดับให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่กลับต้องมาทำงานหาเลี้ยงชีพซึ่งหนีไม่พ้นการขายแรงงานเพราะไม่มีทักษะมากพอที่จะหางานที่ดีกว่านี้ได้

บางส่วนอาจได้เรียนต่อในสายวิชาชีพซึ่งก็ช่วยให้มีอนาคตที่ดีขึ้นได้พอสมควร แต่ก็นับว่าไม่มากเท่ากับเด็กในเมืองใหญ่ที่สามารถเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีอนาคตที่ดีกว่าเด็กในพื้นที่ห่างไกลหลายเท่า

สอดคล้องกับงานวิจัยหลายๆ แห่งที่ระบุตรงกันว่านิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในบ้านเรานั้น 70%-80% มาจากครอบครัวฐานะปานกลาง-ถึงดี ในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มากกว่าจึงประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าเด็กในพื้นที่ห่างไกล

นั่นหมายความว่าเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยก็ยิ่งร่ำรวยต่อไป ในขณะที่เด็กจากครอบครัวในพื้นที่ห่างไกลที่ยากจนกว่าหลายเท่าก็จะยิ่งจนมากขึ้นไปอีกเพราะไม่สามารถแสวงหาอนาคตที่ดีกว่านี้ได้ ช่องว่างของคนทั้งสองกลุ่มก็จะยิ่งห่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

หากมองภาพกว้างเราจะเห็นว่าอนาคตของประเทศที่เราต้องฝากความหวังไว้กับปัญญาชนคนรุ่นใหม่ แต่กลับมีประชากรที่มีความพร้อมเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอัพเกรดตัวเองด้วยการศึกษาที่ดีได้

หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศไทยก็จะขาดบุคลากรที่มีทักษะมากพอ จนอาจไม่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และถูกทิ้งไว้ให้รั้งท้ายในเวทีโลก ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่อยากให้ภาพนั้นเกิดขึ้น

แม้จะมีความสุขที่ได้จากการส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล แต่เมื่อคิดถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ทำให้ได้คิดว่าเราต้องมองที่ภาพรวมและหาทางแก้ไขปัญหาที่ต้นตอซึ่งหมายถึงโครงสร้างของระบบการศึกษาทั้งหมด

ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีความหวัง และเราน่าจะปรับเปลี่ยนให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ในอนาคต โดยจะเป็นในแนวทางใดนั้น ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ