UN Global Compact กางข้อมูล ชี้ เอกชนคือ ผู้ขับเคลื่อนหลักในการพัฒนายั่งยืน

UN Global Compact กางข้อมูล ชี้ เอกชนคือ ผู้ขับเคลื่อนหลักในการพัฒนายั่งยืน

แม้ภาคเอกชนมีความกระตือรือร้นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้นแล้ว แต่เป้าหมาย 85% จากทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อยๆ ของ SDGs ยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุผลสำเร็จได้ภายในปี 2573

ขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวกับการทำแผนพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น และมีความมุ่งมั่นทำแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างแข็งขัน แม้บางส่วนสามารถดำเนินการได้ตามเป้า แต่บางส่วนยังดำเนินการด้านความยั่งยืนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซู ออลเชิร์ท หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร และการมีส่วนร่วม โกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (Ms.Sue Allchurch,Chief of Outreach & Engagement, UN Global Compact) ได้เผยข้อมูลผลสำรวจความเห็นจากซีอีโอ ซึ่งสะท้อนความต้องการของภาคเอกชน และยังเป็นแนวทางในการผลักดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรับปรุงการพัฒนาความยั่งยืนในหลายด้านได้

โดยจากการสำรวจพบว่า ภาคเอกชนมีอุปสรรคหลายด้านในการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งในเอเชียมองว่าภัยคุกคามด้านสาธารณสุขนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ 

สำหรับการรับมือต่ออุปสรรคต่างๆ ซีอีโอจึงเน้นพัฒนา 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.เพิ่มทักษะแรงงาน 2.การเก็บข้อมูลความยั่งยืน 3.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจหมุนเวียน 4.การทบทวนเสาหลักของธุรกิจ และ 5.การสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน ซึ่งการพัฒนาในข้อ 1,3 และ 4 เป็นด้านที่เอเชียเน้นให้ความสำคัญมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

แม้ภาคเอกชนกระตือรือร้นมากขึ้นแล้ว แต่เป้าหมาย 85% จากทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อยๆ ของ SDGs ยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุผลสำเร็จได้ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินธุรกิจให้บรรลุตามเป้าหมายนั้นยังมีอุปสรรคทั้งเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาในซัพพลายเชน แรงจูงใจด้านนโยบาย และปัญหาเชิงวัฏจักร เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น

การจัดการด้านความยั่งยืนไม่ได้มีเพียงธุรกิจเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน ซึ่งได้แก่ ลูกค้า รัฐบาล กลุ่มลงทุน ลูกจ้าง และชุมชนท้องถิ่น

ส่วนเป้าหมาย SDGs ที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินงานได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ได้แก่ เป้าหมายด้านสภาพอากาศ การลดช่องว่างระหว่างเพศ การจัดการน้ำ และการสร้างนวัตกรรมด้านความยั่งยืนใหม่ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจราว 50% ยังไม่เชื่อว่าบริษัทตนเองดำเนินการความยั่งยืนได้ดีพอ และมีบริษัทเพียง 39% เท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายได้สอดคล้องตามที่โลกต้องการ

สิ่งที่ออลเชิร์ท เน้นย้ำว่าควรเร่งดำเนินการคือ การพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากยังเหลือเวลาอีกมากถึง 257 ปี ในการปิดช่องว่างความเท่าเทียม แต่หากดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายของ SDGs อาจช่วยลดช่องว่างเหล่านั้นได้ 2 ใน 3 ของช่องว่างที่มีอยู่

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่แรงงานได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม ซึ่งออลเชิร์ทแนะว่า การปรับปรุงด้านค่าจ้างของแรงงาน เป็นสิ่งที่ธุรกิจสามารถทำได้เป็นด้านแรกๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้เร็วขึ้น ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กได้ออกโครงการใหม่ “Forward Faster” ซึ่งจะสามารถช่วยผลักดันธุรกิจต่างๆ เร่งความคืบหน้าในการพัฒนาความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง 2.การฟื้นคืนแหล่งน้ำ 3.การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ 4.การปรับปรุงค่าจ้างให้เหมาะสม และ 5.การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs

ออลเชิร์ท เผยว่า บริษัทในเอเชีย 250 สามารถดำเนินการตามเป้าหมาย 5 ด้านดังกล่าวได้แล้ว แต่มีบริษัทในไทยเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ทำได้ จึงอยากให้เอกชนไทยมีความมุ่งมั่นจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนมากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์