UN Global Compact แนะเอกชนเร่งพัฒนาแผนยั่งยืน

UN Global Compact แนะเอกชนเร่งพัฒนาแผนยั่งยืน

ซู ออลเชิร์ท หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร และการมีส่วนร่วมของโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เน้นย้ำว่าภาคเอกชนควรเร่งทำแผนพัฒนาความยั่งยืน ตั้งเป้าหมายให้สูง และทำเป็นแผนระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อโลกตกอยู่ท่ามกลางความปั่นป่วนในหลายด้าน ภาคเอกชนต่างต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการทำธุรกิจ "การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน จึงถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญสำหรับองค์กร" ซู ออลเชิร์ท หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร และการมีส่วนร่วมของโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (Ms. Sue Allchurch, Chief of Outreach & Engagement, UN Global Compact) หน่วยงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของธุรกิจเพื่อการดำเนินงานอย่างยั่งยืน กล่าวผ่านการให้สัมภาษณ์กลุ่มกับสื่อต่างๆ เมื่อวันจันทร์ (11 มี.ค.67)

จากรายงานสำรวจความคิดเห็นเหล่าประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) จัดทำโดยยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก พบว่า ซีอีโอมีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายด้าน อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การแข่งขันในตลาด และภัยคุกคามต่อภาคสาธารณสุข เป็นต้น  ออลเชิร์ท จึงแนะว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นแนวทางที่สามารถบรรเทาผลกระทบจากความท้าทายเหล่านั้นได้

แม้บริษัทเอกชนหันมาดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่หลายบริษัทยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนได้ ซึ่งจากการสำรวจของยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก พบว่า  85% ของ SDGs ยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุผลสำเร็จได้ภายในปี 2573

 

อย่างไรก็ดี ซีอีโอ 98% ยังคงเชื่อว่าการกำหนดเป้าหมายช่วยให้องค์กรตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ขณะที่ 91% ได้ให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว แต่ออลเชิร์ช บอกว่า มีบริษัทเพียง 39% เท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายได้สอดคล้องตามที่โลกต้องการ

“สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือ ให้ภาคเอกชนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น หลายบริษัทให้คำมั่นสัญญามากมาย กำหนดเป้าหมายหลายอย่าง แต่ความพยายามเหล่านั้นยังไม่มากพอ ธุรกิจรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร พวกเขาแค่ต้องมุ่งมั่นมากกว่านี้” ออลเชิร์ท ย้ำ

ซู ออลเชิร์ท หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและการมีส่วนร่วม โกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ  (UN global compact)

ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กจึงเข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้ธุรกิจตั้งเป้าบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่โลกต้องการมากขึ้น และได้เปิดตัว Forward Faster โครงการริเริ่มล่าสุด ที่จะช่วยผลักดันธุรกิจต่างๆ เร่งความคืบหน้าในการพัฒนาความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน  2.การฟื้นคืนแหล่งน้ำ 3.การผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อลดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ 4.การปรับปรุงค่าจ้างให้เหมาะสม และ 5.การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs

โดยยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กมีหน้าที่ให้การสนับสนุนภาคเอกชนปฏิบัติตามเป้าหมาย 5 ด้านดังกล่าว รวมถึงเรียกร้องให้บริษัทให้คำมั่นสัญญา และช่วยกำหนดเป้าหมายที่ควรจะเป็น จัดอบรมเสริมสร้างขีดความสามารถบริษัท และเสนอตัวอย่างการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนที่สำเร็จให้เรียนรู้เป็นแบบอย่าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความยั่งยืนของธุรกิจไม่อาจประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐร่วมด้วย โดยออลเชิร์ทแนะว่า รัฐบาลควรออกนโยบายกำหนดให้ธุรกิจเผยช่องว่างด้านค่าจ้างระหว่างเพศ กำหนดเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2573 และหารือเกี่ยวกับ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” (Living Wage) ร่วมกับหลายฝ่าย

เมื่อถามว่าภาคธุรกิจไทยมีจุดแข็ง และมีอุปสรรคอะไรบ้างในการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ออลเชิร์ชเผยว่า ภาคเอกชนในเอเชียรวมถึงไทย และภูมิภาคอื่นทั่วโลกให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนคล้ายๆ กัน แต่จุดแข็งของประเทศไทยคือ การให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ขณะที่ภาพรวมเอเชียเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มทักษะให้แรงงานมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับอุปสรรคของไทย ซีเมียว ยู ผู้จัดการฝ่ายการมีส่วนร่วมของยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก บอกว่า ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กมีบริษัทจากภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียที่เข้าไปเป็นส่วนร่วมกับองค์กร และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอย่างใกล้ชิดราว 3,600 บริษัท แต่มีบริษัทในไทยเพียง 130 รายเท่านั้นที่เข้าร่วมทำงานกับองค์กร จึงอยากให้ธุรกิจไทยเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรเพิ่มขึ้น

ด้านออลเชิร์ท เสริมว่า โครงการ Forward Faster มีบริษัทเข้าร่วมทั่วโลกราว 1,380 ราย ซึ่งมาจากเอเชียแล้ว 250 ราย แต่มีบริษัทไทยเข้าร่วมเพียง 5 ราย จึงอยากเห็นภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กหวังว่า ภาคเอกชนจะจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น และเป็นแผนระยะยาวมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

"เส้นทางนี้ไม่ใช่เพียงการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนอย่างเดียว แต่ต้องให้ความยั่งยืนเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญ ธุรกิจต้องตั้งเป้าหมายให้สูงเข้าไว้ ขณะที่ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กจะคอยให้การสนับสนุนเต็มที่" ออลเชิร์ท กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์