การเดินทางไกล ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน เปิดภารกิจช่วยเหลือ ‘3 พะยูน’

การเดินทางไกล ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน เปิดภารกิจช่วยเหลือ ‘3 พะยูน’

ส่องภารกิจช่วยชีวิต “แมนนาที” (Manatee) 3 ตัว พะยูนหางกลมในฟลอริดา หรือ “วัวทะเล” ที่ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ผ่านการเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร และใช้งบประมาณหลายแสนดอลลาร์ เพื่อรักษาสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์

KEY

POINTS

  • ปี 2021 “แมนนาที” หรือ “วัวทะเล” พะยูนหางกลมที่อาศัยอยู่ในฟลอริดา ขาดอาหารตายไปนับร้อยตัว เนื่องจาก “หญ้าทะเล” แหล่งอาหารของพวกมันเริ่มสูญพันธุ์ จากปัญหา “มลภาวะทางน้ำ” และ “ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ” (Red Tide)
  • ทีมสัตวแพทย์ทำการช่วยเหลือลูกแมนนาทีเพศเมีย 3 ตัว ที่พัดหลงกับฝูง โดยใช้เวลาดูแลนานเกือบ 3 ปี ผ่านการเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร และใช้งบประมาณหลายแสนดอลลาร์
  • ในระหว่างการเคลื่อนย้ายจะไม่มีการวางยาสลบวัวทะเล เพราะอาจจะทำให้พวกมันหายใจติดขัดระหว่างขนย้ายได้ และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

ส่องภารกิจช่วยชีวิต “แมนนาที” (Manatee) 3 ตัว พะยูนหางกลมในฟลอริดา หรือ “วัวทะเล” ที่ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ผ่านการเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร และใช้งบประมาณหลายแสนดอลลาร์ เพื่อรักษาสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์

ส่องภารกิจช่วยชีวิต “แมนนาที” (Manatee) 3 ตัว พะยูนหางกลมในฟลอริดา หรือ “วัวทะเล” ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับ “พะยูน” ในประเทศไทย ที่ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ผ่านการเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร และใช้งบประมาณหลายแสนดอลลาร์ เพื่อรักษาสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์

ปี 2021 เป็นปีที่เลวร้ายสำหรับ “แมนนาที” หรือ “วัวทะเล” พะยูนหางกลมที่อาศัยอยู่ในฟลอริดา เนื่องจาก “หญ้าทะเล” แหล่งอาหารของพวกมันเริ่มสูญพันธุ์ จากปัญหา “มลภาวะทางน้ำ” ที่มาจากสิ่งปฏิกูลและปุ๋ยสะสมมานานหลายทศวรรษ การเกิด “ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ” (Red Tide) รวมถึงการชนกับเรือของมนุษย์ ทำให้แมนนาทีขาดอาหารตายไปนับร้อยตัว

ในปีนั้นสัตวแพทย์ได้ให้การช่วยเหลือแมนนาทีว่ายน้ำตามลำพังอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดา โดยตัวแรกที่พบยังมีสายสะดือติดอยู่ ตัวที่ 2 พบเจอมันว่ายอยู่อย่างโดดเดี่ยวในคลอง ส่วนวัวทะเลตัวที่ 3 มีน้ำหนักน้อยมากเพียง 44 ปอนด์ ซึ่งน้อยกว่าน้ำหนักแรกเกิดพะยูนที่ 65 ปอนด์เสียอีก โดยทั้ง 3 ตัวที่ช่วยเหลือได้เป็นวัวทะเลเพศเมีย และถูกตั้งชื่อว่า “คาไลโอปี” “โซเลย์” และ “พิคโคลินา

ไม่มีใครรู้ทำไมแมนนาทีน้อยทั้ง 3 ตัวถึงว่ายน้ำอยู่ตัวเดียวตอนที่เจอพวกมัน หรือเกิดอะไรขึ้นกับแม่ของพวกมัน โดยปกติแล้ว ลูกวัวทะเลจะอยู่กับแม่ได้นานถึงสองปี เพื่อเรียนรู้วิธีการหาอาหาร การว่ายน้ำ และหาแหล่งอาศัยบริเวณน้ำอุ่น เพื่อฝึกเอาตัวรอดจากความหนาวเย็น

“เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น” มอลลี่ ลิปพินคอตต์ ผู้จัดการสัตว์ท้องถิ่นฟลอริดาของสวนสัตว์ ZooTampa กล่าว

การช่วยเหลือวัวทะเล การช่วยเหลือวัวทะเล

“ภาวะโลกร้อน” ทำร้าย “แมนนาที”

แมนนาทีเป็นหนึ่งในสัตว์ชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตั้งแต่ปี 1973 คาดว่าจำนวนประชากรของพวกมันในตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 1,000 ตัว แต่ด้วยการอนุรักษ์และดูแลพวกมันอย่างเต็มที่ จึงจำนวนแมนนาทีเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10,000 ตัว จากการประเมินเมื่อปี 2022 เนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ และแหล่งอาศัยให้แมนนาทีมากขึ้น อีกทั้งยังจำกัดความเร็วเรือที่แล่นผ่านพื้นที่ดังกล่าว 

ในปี 2017 รัฐบาลสหรัฐได้ลดระดับภัยคุกคามของวัวทะเลลง ให้อยู่ในระดับถูกคุกคามแทน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะปลอดภัยมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และระบบการบริหารจัดการน้ำเสียไม่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ซึ่งเป็นการรวมตัวขนาดใหญ่ของจุลชีพในทะเลรุนแรงขึ้น นักวิจัยพบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดพายุหนักและลมแรงก็มีส่วนทำให้เกิดการชำระล้างผิวดิน และทำให้ฟอสฟอรัสจากดินไหลลงสู่แหล่งน้ำและทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยในการเกษตรทำให้เกิดการรั่วไหลของฟอสฟอรัสลงสู่แหล่งน้ำ และระบบจัดการบำบัดน้ำเสียที่ไม่ดีก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ จนทำให้หญ้าทะเลที่เป็นอาหารของแมนนาทีไม่สามารถเจริญเติบโตได้

ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามลดมลพิษจากระบบบำบัดน้ำเสียไม่มีประสิทธิภาพและการรั่วไหลของฟอสฟอรัสในแหล่งที่อยู่อาศัยของแมนนาทีให้ได้มากที่สุด ในปี 2023 ความพยายามของนักวิจัยก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อพวกเขาพบว่าหญ้าทะเลฟื้นตัวได้ดีในทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งอินเดียนริเวอร์ ที่ในปี 2021 ประสบปัญหาหญ้าทะเลล้มตายทั่วทะเลสาบ

สัตว์แพทย์ให้อาหารวัวทะเล สัตว์แพทย์ให้อาหารวัวทะเล

การเดินทางนับพันกิโลเมตร

ผ่านมาปีกว่าหลังจากการช่วยเหลือแมนนาทีน้อยทั้ง 3 ตัว พวกมันมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ในเดือนพฤศจิกายน 2022 พิคโคลินามีน้ำหนัก 375 ปอนด์แล้ว ส่วนคาไลโอปี มีน้ำหนักมากกว่า 400 ปอนด์ และ โซเลย์มีน้ำหนัก 475 ปอนด์ โดยในระยะแรกเจ้าหน้าที่ต้องให้อาหารพวกมันผ่านทางขวดนมทุก ๆ 4 ชั่วโมง

แม้จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่พวกมันยังไม่สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้จนกว่าจะมีน้ำหนักอย่างน้อย 600 ปอนด์ ซึ่งเป็นขนาดที่จะช่วยให้พวกมันเหมาะสมในการเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง โดยปรกติแล้วแมนนาทีจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นวันละหนึ่งปอนด์ ดังนั้นการเพิ่มน้ำหนักมากขนาดนั้นจึงต้องใช้เวลาและใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ พวกมันจึงต้องย้ายจาก สวนสัตว์ ZooTampa ไปยังสวนสัตว์ซินซินนาติ ในรัฐโอไฮโอที่มีศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูพะยูนขนาดใหญ่กว่าแทน

เมื่อย้ายมาอยู่ในโอไฮโอ ทั้ง 3 ตัวยังได้รับการดูแลอย่างดี ที่นี่มีบุฟเฟ่ต์ผักนานาชนิดที่จัดวางเลียนแบบหญ้าทะเลให้พวกมันได้เลือกกิน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดเขียว อองดีฟ เคล กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง ฯลฯ

วัวทะเลทั้ง 3 ตัว เข้าขากันได้เป็นอย่างดี โดยแต่ละตัวมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป คาไลโอปีมีนิสัยขี้สงสัย ฉลาด และเป็นตัวแสบที่สุด ส่วนโซเลย์ก็ดูอ่อนหวานและสบาย ๆ มีความสุขมากเมื่อผู้ดูแลมีอาหารมาล่อให้ทำตามคำสั่ง ส่วนน้องเล็กอย่าง พิคโคลินา จะอยู่ขี้อายมากที่สุด มักจะตัวติดกับพี่ ๆ เสมอ

11 เดือนผ่านไป ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 ถึงเวลาที่ทั้ง 3 ตัว จะต้องเดินทางกลับฟลอริดา ตอนนี้พวกมันหนักเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่า พนักงานสวนสัตว์นำแมนนาทีเพิ่มขึ้นจากน้ำ หลังจากนั้นจับพวกมันใส่เปลญวนหนาพิเศษ ก่อนจะยกไปไว้ในกลุ่มโฟมหนา 8 นิ้ว 

ในระหว่างการเคลื่อนย้าย พวกมันไม่ได้ถูกวางยาสลบ เพราะอาจจะทำให้พวกมันหายใจติดขัดระหว่างขนย้ายได้ และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการเคลื่อนย้าย แต่พวกมันก็ไม่กระโตกกระตาก ยังคงสงบ นอนนิ่ง ๆ จนทีมวิจัยแปลกใจ

พฤติกรรมที่สงบของพะยูนอาจเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเด่นที่ทำให้มันเป็นขวัญใจของมนุษย์ เจมส์ พาวเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญพะยูนและผู้อำนวยการบริหารของสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลเคลียร์วอเตอร์

“ผมคิดว่าพะยูนทำให้ผู้คนรู้สึกสงบได้” พาวเวลล์กล่าว

การเดินทางไกล ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน เปิดภารกิจช่วยเหลือ ‘3 พะยูน’ เคลื่อนย้ายวัวทะเลด้วยความระมัดระวัง

 

ขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน

DHL บริษัทขนส่งระดับโลกทำหน้าที่ขนส่งวัวทะเลทั้ง 3 ตัว กลับไปยังฟลอริดา โจ คอลโลปี ผู้อำนวยการอาวุโสของ DHL กล่าวว่า “เราอยากส่วนหนึ่งในการพาทุกตัวกลับบ้าน”

แม้ DHL จะขนส่งพะยูนมาแล้วหลายรอบ แต่เที่ยวบินนี้เป็นไฟลท์ที่มีพะยูนมากที่สุด นอกจากวัวทะเลน้อยทั้ง 3 ตัวแล้วมีพะยูนจากสวนสัตว์โคลัมบัสอีก 5 ตัวร่วมเดินทางด้วย นอกจากนี้ยังมีสัตวแพทย์และผู้ดูแลพะยูนเดินทางไปด้วย เพื่อคอยดูว่าพวกมันหายใจและพ่นละอองน้ำออกมาหรือไม่

พะยูนส่วนใหญ่จะนอนคว่ำระหว่างการเดินทาง แต่คาไลโอปีเป็นตัวเดียวที่นอนหงาย แม้พวกมันจะนอนนิ่ง ๆ ไม่ตกใจ ไม่ส่งเสียงรบกวน แต่บางครั้งพวกมันก็ขับถ่ายเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน

ราคาตั๋วพะยูนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับน้ำหนักและจำนวนสินค้าอื่นๆ  ที่บรรทุกบนเที่ยวบิน สำหรับการเดินทางครั้งนี้สวนสัตว์ซินซินนาติจ่ายเงินประมาณ 21,000 ดอลลาร์สำหรับลูกวัวทะเลทั้ง 3 ตัว

ลำเลียงวัวทะเลขึ้นเครื่องบิน ลำเลียงวัวทะเลขึ้นเครื่องบิน

 

กลับคืนสู่ธรรมชาติ

ในทศวรรษที่ผ่านมา พะยูนที่เป็นกำพร้า ป่วย หรือได้รับบาดเจ็บมากกว่า 800 ตัว พวกถูกส่งไปยังศูนย์ดูแลผู้ป่วยวิกฤติ ทำให้สวนสัตว์ ZooTampa และศูนย์อนุรักษ์อื่น ๆ กำลังก่อสร้างสระน้ำสำหรับดูแลที่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม

แม้ว่าการรักษาและฟื้นฟูวัวทะเลจะต้องใช้เงินหลายแสนดอลลาร์ และใช้เวลาหลายปี แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ช่วยเหลือพะยูนหางกลมที่ใกล้สูญพันธุ์

ลิปพินคอตต์ จาก ZooTampa กล่าวว่าเธอรู้สึกสบายใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพะยูน เนื่องจากสัตว์เหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้จนถึงอายุ 60 ปี การใช้เวลาเพียง 1-2 ปี ในการฟื้นฟูพวกมันจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก

พะยูนทั้ง 3 ตัวถูกปล่อยที่บริเวณทรีซิสเตอร์สปริงส์ ในแม่น้ำคริสตัล ฟลอริดา โดย ทีมงานได้อุ้มคาไลโอพีลงไปในน้ำก่อน มันค่อย ๆ ไถลลงจากเปล และว่ายน้ำจากไป ท่ามกลางเสียงเชียร์จากทีมพี่เลี้ยงและสัตวแพทย์ที่อยู่ดูแลกันมาตลอด

คาไลโอพีว่ายน้ำไปรอบ ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเช่นเคย โดยมีอุปกรณ์ติดลอยตามหลัง เหมือนเด็กที่พึ่งย้ายเข้าโรงเรียนใหม่

หนึ่งชั่วโมงต่อมาก็ถึงคิวของโซเลย์ ส่วนพิคโคลินาลงน้ำในวันรุ่งขึ้น 

ทั้งสามตัวกลับมาเจอกันอีกครั้ง และรวมตัวกันอยู่ครู่หนึ่ง โดยอยู่ห่างจากพะยูนตัวอื่น ๆ จากนั้นก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตัวเอง


ที่มา: The New York Times

การเดินทางไกล ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน เปิดภารกิจช่วยเหลือ ‘3 พะยูน’