ไทย มีพื้นที่ป่าไม้เพียง 101 ล้านไร่ หรือ 37.47% ของพื้นที่ประเทศ

ไทย มีพื้นที่ป่าไม้เพียง 101 ล้านไร่ หรือ 37.47% ของพื้นที่ประเทศ

กรมป่าไม้ เตรียมจัดงาน “วันป่าไม้สากล ประจำปี 2567 (International Day of Forests 2024)” ภายใต้ประเด็นหลัก “Forests and Innovation” หรือ “ป่าไม้และนวัตกรรม” ในวันที่ 21 มี.ค.2567 ณ เขื่อนวชิราลงกรณ  อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 

KEY

POINTS

  • ในปี 2565 พบว่า ป่าในเมืองไทยเหลือเพียง 101 ล้านไร่เศษ คิดเป็น 37.47% ของพื้นที่ประเทศไทย ขณะที่ เป้าหมายตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยราว 40% ของพื้นที่ประเทศ
  • เรื่องของป่าไม้ ไม่ใช่แค่เรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นประเด็นระดับโลก องค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันป่าไม้สากล (WORLD FORESTRY DAY) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ทุกประเภท
  • สำหรับในปีนี้ จัดขึ้น ภายใต้ประเด็นหลัก “Forests and Innovation” หรือ “ป่าไม้และนวัตกรรม” โดยประเทศไทย กระทรวง ทส. โดย กรมป่าไม้ กำหนดจัดงาน ณ เขื่อนวชิราลงกรณ  อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 

 

กรมป่าไม้ เตรียมจัดงาน “วันป่าไม้สากล ประจำปี 2567 (International Day of Forests 2024)” ภายใต้ประเด็นหลัก “Forests and Innovation” หรือ “ป่าไม้และนวัตกรรม” ในวันที่ 21 มี.ค.2567 ณ เขื่อนวชิราลงกรณ  อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 

ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 21 มีนาคม วันป่าไม้สากล (WORLD FORESTRY DAY) เพื่อเฉลิมฉลอง และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ทุกประเภท และในแต่ละปี ประเทศต่างๆ ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับสากล ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับป่าไม้ และในปี 2567 นี้ มีการกำหนดธีม คือ ป่าไม้และนวัตกรรม (Forest and Innovation) เน้นให้คุณค่าของป่าไม้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นโดยนวัตกรรม

 

ป่าไทยมีเพียง 101 ล้านไร่

บรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวในงานแถลงข่าว วันป่าไม้สากล ว่า สถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบัน กระแสทั่วโลกรวมถึงไทย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการให้คำมั่นสัญญาในการประชุม COP ที่จะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065

 

ภาคป่าไม้ เป็นสิ่งสำคัญในการดูดกลับ จากสถานการณ์ป่าเมืองไทยในปัจจุบัน การประเมินของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2565 พบว่า ป่าในเมืองไทยเหลือเพียง 101 ล้านไร่เศษ คิดเป็น 37.47% ของพื้นที่ประเทศไทย ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยราว 40% ของพื้นที่ประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ขณะเดียวกันการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 55% ต้องมีส่วนร่วมทั้งภาคเอกชน ประชาชน เอกสารสิทธิ ที่สาธารณะต่างๆ  รวมถึงการปลูกต้นไม้ในบ้านตนเอง ป่าไม้ไม่จำเป็นต้องเป็นต้นไม้ที่อยู่ในป่าอย่างเดียว แต่ต้นไม้ในสถานที่ต่างๆ ก็ถือว่าสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยออกซิเจนใหพี่น้องประชาชนได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์

 

ประชาชน ภาคส่วนสำคัญ ช่วยดูแลป่า

บรรณรักษ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ป่าไม้ พบว่า มีกลุ่มบุคคล นายทุน เข้าไปบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำให้ที่สาธารณะสมบัติถูกบุกรุกยึดครองเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ ให้ความสนใจ เอาใจใส่ แจ้งเจ้าหน้าที่ อาจจะไม่สามารถยับยั้งได้ทันท่วงที

 

ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ พี่น้องประชาชนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแล รักษาป่า คุ้มครอง ป้องกัน เป็นส่วนร่วมกับข้าราชการในการคุ้มครองรักษาป่า ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ที่กรมป่าไม้ ดำเนินการในเชิงรุก ดึงพี่น้องประชาชนมาร่วมดูแลป่า เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน สมดุล และดูแลป่าอย่างมั่นคงถาวรต่อไป

 

"กรมป่าไม้ อยู่อย่างลำพังไม่ได้ ต้องมีการประสานงานกับประเทศต่างๆ ในแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การบริหารจัดการ การดูแล การหาวิธีการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการดูแลป่า ทั้งนี้ วันป่าไม้สากล ทำให้โลก มองเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่รวมไปถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก" 

 

แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

สำหรับประเด็นการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ มีการประสานงาน กับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ มากมาย และครั้งนี้ มีการร่วมกับ Asian Forest Cooperation Organization (AFoCO) ในการเสวนา หาวิธีการจัดการพื้นที่ป่าไม้ในเขตอาเซียน บูรณาการให้แนวทางการบริหารจัดการ และดูแลทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นต้นกำเนิดแห่งน้ำ เผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้ว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยมีหลักวิชาการอย่างถูกต้อง เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065

 

ปรีชา องค์ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักการป่าไม้ต่างประเทศ กรมป่าไม้ กล่าวว่า เรื่องป่าไม้ เป็นทรัพยากรของคนทั้งโลก ไม่ใช่ของคนประเทศใดประเทศหนึ่ง การเชื่อมโยงไม่ว่าจะการตัดไม้ หรือปลูกต้นไม้ในท้องถิ่นห่างไกล แอฟริกา ไซบีเรีย ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงให้ความสำคัญ

 

"ทุกปีจะกำหนดธีม หรือ เนื้อหาหลักไม่เหมือนกัน โดยในปีที่ผ่านมา มีการจัดในธีม ภายใต้ธีม “ป่าไม้และสุขภาพ” (Forest and Health) ที่บางกะเจ้า ขณะเดียวกัน ในปีนี้ องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดธีมเป็นเรื่องของป่าไม้และนวัตกรรม (Forest and Innovation) นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้การจัดการป่าไม้ดีขึ้น"

 

กรมป่าไม้ ในฐานะผู้ประสานงานหลักของเวที สหประชาชาติว่าด้วยการป่าไม้ จึงขอเป็นตัวแทนในการจัดงานเฉลิมฉลองในครั้งนี้ โดยวันป่าไม้สากล ในปีนี้ กำหนดจะจัดขึ้นที่ เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว กรมป่าไม้ มีการจัดอบรมหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติด้านการอบรมไฟป่า โดยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำสิงคโปร์ และประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรป่าไม้แห่งเอเชีย และมีเครือข่าย สมาชิก องค์กรต่างๆ ที่เชิญเข้ามาร่วม 

 

วันป่าไม้สากล ประจำปี 2567

ด้าน เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะโฆษก ทส. กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้เป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูสัตว์ป่าและธรรมชาติในพื้นที่ป่า

 

วันป่าไม้สากล ประจำปี 2567 (International Day of Forests 2024)” ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มี.ค. ของทุกปี เป็นงานระดับโลก เพราะการทำงานป่าไม้ไม่ได้ทำภายในประเทศ แต่เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางบริหารจัดการกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ภายในประเทศ และของโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า

 

ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเกิดปรากฏการณ์แปรปรวน เช่น สภาวะโลกร้อน และความเสี่ยงในการสูญเสียสายพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการเพื่อปกป้อง และอนุรักษ์ทรัพยากรอันมีค่าเหล่านี้ ด้วยการร่วมกันสร้างความมั่นใจ ว่าป่าไม้จะยังคงทรัพยากร และอำนวยประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับ งาน “วันป่าไม้สากล ประจำปี 2567 (International Day of Forests 2024)” จะจัดขึ้น ภายใต้ประเด็นหลัก “Forests and Innovation” หรือ “ป่าไม้และนวัตกรรม” และมีประเด็นเสริม “New solutions for a better world” หรือ “ทางเลือกใหม่ เพื่อโลกที่ดีขึ้น” ในวันที่ 21 มี.ค.2567 โดยมีกิจกรรม อาทิ ปลูกต้นไม้ นิทรรศการ บรรยายพิเศษคาร์บอนเครดิต กิจกรรมอาบป่า การดูงานการจัดการสวนป่ายั่งยืน นำเสนอนวัตกรรมดูแลต้นไม้โดยบริษัทเอกชน เป็นต้น ณ เขื่อนวชิราลงกรณ  อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น.

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์