มาตรฐานน้ำมัน EURO 5: ความจำเป็นที่มาพร้อมกับต้นทุน

มาตรฐานน้ำมัน EURO 5: ความจำเป็นที่มาพร้อมกับต้นทุน

1 ม.ค. 2567 น้ำมันเป็น EURO 5 ทุกชนิด รถยนต์ที่มีจำหน่ายเป็น EURO 5 ทุกคัน ที่จะมีส่วนช่วยในการลด PM2.5 แต่การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานน้ำมันเป็น EURO 5 ในผู้ที่มีกำลังการผลิตน้อย อาจมีพร้อมกับการลงทุน ต้นทุน ซึ่งส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมัน

KEY

POINTS

  • การปล่อยมลพิษของยานพาหนะหรือไอเสียรถยนต์ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) ที่มาจากไอเสียรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล
  • มาตรฐาน EURO จึงถูกกำหนดโดยสหภาพยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยไทย ได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน EURO 4 ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และล่าสุด ได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนไปใช้มาตรฐาน EURO 5 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 
  • การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานน้ำมันเป็น EURO 5 ในผู้ที่มีกำลังการผลิตน้อย อาจมาพร้อมกับการลงทุนขนาดใหญ่และต้นทุนการกลั่นที่สูงกว่าผู้ประกอบการ ที่มีการเปลี่ยนผ่านจาก EURO 3 เป็น EURO 4 และยกระดับเทคโนโลยีมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมัน

1 ม.ค. 2567 น้ำมันเป็น EURO 5 ทุกชนิด รถยนต์ที่มีจำหน่ายเป็น EURO 5 ทุกคัน ที่จะมีส่วนช่วยในการลด PM2.5 แต่การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานน้ำมันเป็น EURO 5 ในผู้ที่มีกำลังการผลิตน้อย อาจมีพร้อมกับการลงทุน ต้นทุน ซึ่งส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมัน

ตามมติคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ประเทศไทยยกระดับมาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่และมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลจาก EURO 4 เป็น EURO 5 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ข้อบังคับนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งค่ายรถและผู้ผลิตน้ำมัน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศ


แล้วการเปลี่ยนแปลงนี้มีรายละเอียดอย่างไร? มีอะไรที่ประชาชนควรรู้? และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไร? ในคอลัมน์นี้ เราได้รับเกียรติจาก ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน EURO 5 ของไทย มาร่วมสัมภาษณ์และให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

 

มาตรฐานน้ำมัน EURO 5 คืออะไร?

มาตรฐาน EURO (European Emission Standards) เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยสหภาพยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มาตรฐานนี้มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการปล่อยมลพิษของยานพาหนะหรือไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) ที่มาจากไอเสียรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล

 

สำหรับประเทศไทย ได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน EURO 4 นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนไปใช้มาตรฐาน EURO 5 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โดยการยกระดับมาตรฐานจาก EURO 4 ไปสู่ EURO 5 จะมีส่วนช่วยในการลด PM2.5 อย่างมีนัยสำคัญ โดยการกำหนดเกณฑ์การปล่อยมลพิษฝุ่นละอองให้ลดลง

 

มาตรฐานน้ำมัน EURO 5: ความจำเป็นที่มาพร้อมกับต้นทุน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เพื่อให้เป้าหมายการลดการปล่อยไอเสียจากยานพาหนะเป็นไปอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การบังคับใช้มาตรฐาน EURO 5 จำเป็นต้องครอบคลุมมาตรฐานทั้งสิ้น 2 ส่วน ประกอบด้วย

1. มาตรฐานน้ำมัน EURO 5 การผลิตน้ำมันดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างน้ำมัน กระบวนการกลั่น และสารเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่ใช้ให้เหมาะสม โดยกำหนดให้ปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลมีไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ซึ่งลดลงจากมาตรฐาน EURO 4 ที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ลดลง 5 เท่า) กำมะถันในน้ำมันนี้เมื่อถูกเผาไหม้จะทำให้เกิดซัลเฟต (Sulfate) และเมื่อไปทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นจะก่อให้เกิด PM2.5 จึงจำเป็นต้องลดปริมาณลงให้เหลือน้อยที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยในการหล่อลื่นน้ำมันเชื้อเพลิง จึงจำเป็นต้องหลงเหลือปริมาณกำมะถันในน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สามารถกำจัดองค์ประกอบกำมะถันทั้งหมดออกไปได้ นอกจากนั้นยังได้มีการลดปริมาณสารโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAHs) ที่มีส่วนปล่อยมลพิษอีกด้วย 

 

2. มาตรฐานไอเสียตาม EURO 5 โดยจะมีการลดเกณฑ์การปล่อยมลพิษ 4 ชนิด อันได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไฮโดรคาร์บอน  (HC) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารมลพิษอนุภาค (ฝุ่น)

 

โดยเกณฑ์การลดปริมาณฝุ่นนี้เอง จำเป็นต้องมีการติดตั้งระบบกรอง (Diesel Particulate Filters: DPF) ที่สามารถกรองฝุ่นออกจากไอเสียที่จะปลดปล่อยจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลได้ โดยทั่วไประบบกรองนี้จะมีลักษณะเป็นรังผึ้งซึ่งเคลือบสารเร่งปฏิกิริยาในการดักจับกำมะถันและซัลเฟตที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่ให้ถูกปลดปล่อยออกนอกรถยนต์

 

มาตรฐานน้ำมัน EURO 5: ความจำเป็นที่มาพร้อมกับต้นทุน

 

 

ทำไมจึงจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเป็น EURO 5?

การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันจาก EURO 4 เป็น EURO 5 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการ

ประการแรก น้ำมันมาตรฐาน EURO 5 จะกำหนดให้น้ำมันมีส่วนประกอบที่เป็นกำมะถันน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดการเสื่อมของสารเร่งปฏิกิริยาที่เคลือบบนระบบกรองไอเสีย DPF จากกำมะถัน (Sulfur Poisoning) อีกทั้งระบบกรองของรถยนต์จะช่วยดักจับสารบางตัวที่อาจรวมกันและเกิดเป็น PM2.5 ได้

 

ในขณะเดียวกัน ยังลดปริมาณสารมลพิษอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีก 3 ชนิด ได้แก่ CO, HC และ NOx นอกจากนี้ น้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ยังได้รับการปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสมกับการใช้งานยิ่งขึ้น เช่น มีคุณสมบัติหล่อลื่นที่เพียงพอ ทำให้กระบอกสูบทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดความดันที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ในระดับที่เหมาะสม

 

ประการที่สอง คือ การปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเป็น EURO 5 จะช่วยลดโอกาสการเกิดสารก่อมะเร็ง ผ่านการลดปริมาณสาร PAHs โดยลงจากร้อยละ 11  เป็นร้อยละ 8 โดยน้ำหนักเมื่อเทียบกับมาตรฐาน EURO 4 โดยสารดังกล่าวเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) และนำไปสู่การเกิดมะเร็งในลำดับต่อไป

 

มาตรฐานน้ำมันดีเซล EURO 1-5

มาตรฐานน้ำมัน PAHs (%w) กำมะถัน (ppm)

EURO 1 N/A N/A

EURO 2 N/A 500

EURO 3 11 350

EURO 4 11 50

EURO 5 8 10

(ที่มา: กรมธุรกิจพลังงาน)


ประชาชนอย่างเราๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปลี่ยนผ่านสู่มาตรฐานน้ำมัน EURO 5?

  • ด้านราคาน้ำมัน

การเปลี่ยนผ่านมาตรฐานมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงขึ้น เนื่องจากต้องยกระดับกระบวนการผลิตและกระบวนการกลั่นให้ลดปริมาณกำมะถันในน้ำมัน (Desulfurization) ลงมากกว่ามาตรฐานเก่า อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กรมธุรกิจพลังงานได้มีการหารือแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ ไปสู่ EURO 5 ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสม่ำเสมอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันและลดภาระค่าน้ำมันที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด

 

นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนผ่านจาก EURO 3 เป็น EURO 4 ผู้ประกอบการน้ำมันบางแห่งได้ยกระดับเทคโนโลยีการกลั่นซึ่งสามารถลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันได้คุณภาพเกินกว่ามาตรฐาน EURO 4 อยู่แล้ว เมื่อมีการยกระดับมาตรฐานไปสู่มาตรฐาน EURO 5 จึงมาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนกระบวนการที่น้อยกว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่มากนัก

 

ยกเว้นผู้ผลิตน้ำมันบางแห่งที่มีกำลังการผลิตน้อย การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานน้ำมันเป็น EURO 5 จึงอาจมาพร้อมกับการลงทุนขนาดใหญ่และต้นทุนการกลั่นที่สูงกว่าผู้ประกอบการในกลุ่มแรก และมีแนวโน้มกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันมากกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้ประเทศสามารถมีกำลังการผลิตน้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ได้เพียงพอต่อความต้องการโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

มาตรฐานน้ำมัน EURO 5: ความจำเป็นที่มาพร้อมกับต้นทุน

 

  • ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์

การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานไอเสียเป็น EURO 5 ถูกบังคับใช้เฉพาะรถยนต์ใหม่ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยรถยนต์ที่ผลิตในช่วงดังกล่าวจะต้องรองรับการปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน EURO 5 เช่น การยกระดับมาตรฐานการปล่อยไอเสียให้สะอาดขึ้น โดยการติดตั้งไส้กรองที่สามารถกรองไอเสีย (Diesel Particulate Filters) ให้ปลดปล่อยตามมาตรฐาน EURO 5 ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จึงมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตที่มากขึ้น 

 

ในภาพรวม ผู้ผลิตรถยนต์ของไทยมีความพร้อมในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์มาตรฐาน EURO 5 เป็นอย่างดี เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลียและประเทศในแถบตะวันออกกลางที่ใช้รถยนต์มาตรฐาน EURO 5 เป็นหลัก เพียงแต่ในช่วงก่อนหน้านี้ยังไม่มีการบังคับให้นำรถยนต์มาตรฐาน EURO 5 มาใช้ภายในประเทศ เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติของน้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ลดปริมาณมลพิษสูงสุด ผู้ผลิตบางรายจึงจำเป็นต้องลงทุนเพื่อยกระดับมาตรฐานและใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน แม้ในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นความแตกต่างด้านราคารถยนต์อย่างชัดเจน แต่ในระยะต่อๆ ไป รถยนต์ที่ถูกผลิตภายใต้มาตรฐาน EURO 5 มีแนวโน้มที่จะมีราคาที่สูงขึ้นจากส่วนประกอบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา

 

อะไรคือสิ่งที่ได้จากการยกระดับไปสู่มาตรฐานน้ำมัน EURO 5?

ในภาพรวม แม้การเปลี่ยนแปลงไปสู่มาตรฐาน EURO 5 จะเพิ่มต้นทุนการกลั่นน้ำมันและการผลิตรถยนต์โดยตรง แต่การยกระดับมาตรฐานดังกล่าวก็มีส่วนช่วยในการลด PM2.5 อย่างมีนัยสำคัญ ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ยังใช้รถยนต์คันเก่าที่มาตรฐานไอเสียก่อน EURO 5 ซึ่งไม่มีไส้กรองไอเสีย (Diesel Particulate Filters) ยังคงสามารถใช้รถยนต์คันเก่าร่วมกับการใช้น้ำมัน EURO 5 เพื่อลด PM2.5 ได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการลดปริมาณสารกำมะถันในน้ำมันโดยตรงซี่งมีส่วนทำให้เกิด PM2.5 ลดลง 

 

“ไม่ใช่ว่าหลัง 1 ม.ค. 2567 จะไม่เห็น PM2.5 บนท้องฟ้าแล้ว เพราะปัญหา PM2.5 ไม่ใช่ One-to-One Effect จากการใช้รถยนต์เพียงอย่างเดียว”

 

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเป็นน้ำมัน EURO 5 จะมีส่วนช่วยในการลดปริมาณ PM2.5 ลงได้ แต่ก็เป็นเพียงกลไกส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากการเกิด PM2.5 ไม่ได้มาจากการใช้รถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น ไฟป่า/ไฟในที่โล่ง การก่อสร้าง การเกษตร อุตสาหกรรม หรือมลพิษข้ามพรมแดน รวมไปถึงสภาพอากาศในขณะนั้นด้วยที่อาจอยู่ใต้สภาวะความกดอากาศสูงและอุณหภูมิต่ำ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของ PM2.5 ได้ง่าย

 

การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานน้ำมัน EURO 5 เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อสุขภาพของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจดำเนินการได้ตามลำพัง โดยต้องดำเนินการไปพร้อมกับการบูรณาการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป 

 

การเริ่มต้นในก้าวแรกนี้ แม้จะไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดหวังในทันที แต่ก็เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ภาพการเปลี่ยนแปลงที่ฉายให้เห็นชัดขึ้นในอนาคตต่อไป

 

มาตรฐานน้ำมัน EURO 5: ความจำเป็นที่มาพร้อมกับต้นทุน