'พีระพันธุ์' หลงประเด็นราคาหน้าโรงกลั่น โต้ ส.อ.ท.ปมมาตรฐานน้ำมัน EURO 5

'พีระพันธุ์' หลงประเด็นราคาหน้าโรงกลั่น โต้ ส.อ.ท.ปมมาตรฐานน้ำมัน EURO 5

รมว.พลังงาน โพสต์เฟสบุ๊ค ตอบโต้ ส.อ.ท.หลังยื่นขอปรับเกณฑ์คำนวณราคาหน้าโรงกลั่น ชี้เอกชนลงทุนผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ไปแล้ว 50,000 ล้านบาท เพื่อลดมลพิษ "พีระพันธุ์" อ้างรัฐบาลลดค่าไฟฟ้าและน้ำมันให้ภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว แล้วทำไมไม่ลดราคาสินค้าให้ประชาชน

จากกรณีที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไย (ส.อ.ท.) ทำหนังสือลงวันที่ 28 ธ.ค.2566 ส่งหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้กระทรวงพลังงานมีการปรับขึ้นราคาน้ำมัน หลังกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันต้องลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันยูโร4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค.2567 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ลดฝุ่น PM2.5

ล่าสุด นายพีระพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ลดค่าไฟ/ลดดีเซลมาหลายเดือนแล้วและต่ออีกสี่เดือน สภาอุตสาหกรรมมีมาตรการในการลดราคาสินค้าให้ประชาชนอย่างไรบ้างครับ"

\'พีระพันธุ์\' หลงประเด็นราคาหน้าโรงกลั่น โต้ ส.อ.ท.ปมมาตรฐานน้ำมัน EURO 5

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลผลักดันนโยบายลดราคาพลังงาน แบ่งเป็น 3 ส่วน 

1.ลดค่าไฟฟ้า รวม 2 งวด ใช้วงเงิน 55,600 ล้านบาท สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 และงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รวมทั้งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และใช้งบประมาณกลางเพื่ออุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ผู้มีรายได้น้อย

2.การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ใช้วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค.2566 

3.ลดราคาเบนซิน ใช้วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน ตั้งแต่ 7 พ.ย.2566-31 ม.ค.2567

4.รักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG เพื่อไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยใช้เงินอุดหนุนตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.-17 ธ.ค.2566 ที่ 1,372 ล้านบาท 

ในขณะที่นโยบายการปรับมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 เป็นไปตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้ผลักดันและโรงกลั่นน้ำมันต้องลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ ส.อ.ท.ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานปรับเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงงานกลั่น

ทั้งนี้ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีมี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)" เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 และได้กำหนดยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2567

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการบังดับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 โดยลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ซึ่งใช้เงินลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท และเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศ โดยมีต้นทุนและต่ำใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่าการผลิตมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1.การลงทุนและการปรับปรุงระบบการกลั่น 

2.การปรับชนิดของน้ำมันดิบเป็นชนิดกำมะถันต่ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่น 

ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น ตามเงื่อนไขและกลไกตลาด และขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาปรับราคาน้ำมันที่สะท้อนตามมาตรฐานและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกต่อไป