‘ญี่ปุ่น’ เล็งปล่อย ‘ดาวเทียมไม้’ ดวงแรกของโลก แก้ปัญหา ‘มลพิษในอวกาศ’

‘ญี่ปุ่น’ เล็งปล่อย ‘ดาวเทียมไม้’ ดวงแรกของโลก แก้ปัญหา ‘มลพิษในอวกาศ’

“ญี่ปุ่น” เตรียมปล่อย “ดาวเทียมไม้” ดวงแรกของโลก หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อดาวเทียมทั่วไปกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก จะถูกเผาไหม้ และกลายเป็นอนุภาคอลูมินาฟุ้งอยู่ในบรรยากาศหลายปี แต่ดาวเทียมไม้จะมีเพียงเศษขี้เถ้าเพียงเล็กน้อยที่สลายได้เองตามธรรมชาติ

LignoSat” ขึ้นชื่อได้ว่าเป็น “ดาวเทียมไม้” ดวงแรกของโลก ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าดาวเทียมทั่วไป ผลิตจากไม้แมกโนเลีย ซึ่งจากการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พบว่าไม้ชนิดนี้มีความเสถียรเป็นพิเศษและทนทานต่อการแตกร้าว ขณะนี้กำลังมีการสรุปแผนการสำหรับการปล่อยจรวดดังกล่าวด้วยจรวดของสหรัฐ ภายในฤดูร้อน 2024 โดยดาวเทียมดวงนี้จะทำงานอยู่ในอวกาศเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบน

ดาวเทียมไม้ของญี่ปุ่นดวงนี้ถูกสร้างโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโตร่วมกับ Sumitomo Forestry ผู้ให้บริการตัดไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแนวคิดที่ว่า วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น ไม้ สามารถใช้แทนโลหะในการสร้างดาวเทียมได้หรือไม่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าดาวเทียมโลหะหรือไม่

“เมื่อดาวเทียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก จะถูกเผาไหม้ และสร้างอนุภาคอลูมินาขนาดเล็ก ซึ่งจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบนเป็นเวลาหลายปี แน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของโลก” ทาคาโอะ โดอิ นักบินอวกาศ และวิศวกรการบินและอวกาศชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยเกียวโตเตือนเมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นักวิจัยของเกียวโตได้ทำโครงการประเมินความทนทานของไม้ชนิดต่างๆ สำหรับหาไม้ที่สามารถทนต่อความรุนแรงในการปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และสามารถบินระยะไกลในวงโคจรรอบโลกได้ดีเพียงใด ซึ่งจากการทดลองในห้องปฏิบัติการที่จำลองสภาพอวกาศขึ้นมาใหม่ พบว่าตัวอย่างไม้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมวลหรือมีสัญญาณของการเน่าเปื่อยหรือความเสียหายที่วัดได้

“เราต่างประหลาดใจที่เห็นว่าไม้สามารถทนทานต่อสภาวะเหล่านี้ได้” โคจิ มุราตะ หัวหน้าโครงการกล่าวหลังจากการทดสอบเหล่านี้ ตัวอย่างจะถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทดสอบคุณสมบัติเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีก่อนจะส่งกลับมายังโลก ซึ่งพวกเขาพบว่าไม้มีร่องรอยความเสียหายเพียงเล็กน้อย โดยมุราตะกล่าวว่า เป็นเพราะไม่มีออกซิเจนในอวกาศที่จะทำให้ไม้ไหม้ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ทำให้ไม้เน่าเปื่อย ย่อยสลายได้

“LignoSat” ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก ผลิตที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นสร้าง “LignoSat” ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก

นักวิทยาศาสตร์ทดสอบไม้หลายประเภท พบว่าไม้จากต้นแมกโนเลียมีความแข็งแรงมากที่สุด และถูกนำมาใช้สร้างดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก โดยจะมีการทดลองอีกขั้นตอนที่จะช่วยให้ยานอวกาศจะทำงานได้อย่างราบรื่น อีกทั้งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะส่งดาวเทียมนี้ขึ้นไปบนอวกาศด้วยยานของนาซ่า หรือ SpaceX

หาก LignoSat ทำงานได้ดีในอวกาศ ก็ถือเป็นการปฏิวัติวงการดาวเทียม และเป็นแม่แบบของการนำไม้มาสร้างเป็นดาวเทียมแทนโลหะในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

เป็นที่คาดกันว่าในทุกปีจะมียานอวกาศมากกว่า 2,000 ลำ ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศ นอกจากจะมีปัญหาไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการโคจรแล้ว เมื่อดาวเทียมเหล่านี้กลับมายังโลกจะถูกเผาไหม้จนเหลือทิ้งไว้แต่อนุภาคอลูมินา ซึ่งจะสะสมในชั้นบรรยากาศชั้นบน ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในไม่ช้า

การวิจัยล่าสุดโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เปิดเผยว่าอะลูมิเนียมจากดาวเทียมอาจทำให้ชั้นโอโซน ที่ทำหน้าที่ปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตของดวงอาทิตย์ ลดลงเป็นอย่างมาก และทำให้แสงแดดสามารถเดินทางผ่านมายังโลกได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย แตกต่างจากดาวเทียมจากไม้อย่าง LignoSat ที่เมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว จะเกิดเพียงแค่ผงขี้เถ้าที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


ที่มา: The GuardianThe TimesWION

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์