นักวิทย์เตือน! โลกเสี่ยงถูก ‘ดาวเทียม’ พุ่งชน หลังจ่อคิวถูกปล่อยนับล้านดวง

นักวิทย์เตือน! โลกเสี่ยงถูก ‘ดาวเทียม’ พุ่งชน หลังจ่อคิวถูกปล่อยนับล้านดวง

นักวิจัยเผยมี “ดาวเทียม” นับล้านดวงเตรียมปล่อยเข้าสู่ “วงโคจรต่ำของโลก” มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 115 เท่า เสี่ยงพื้นที่วงโคจรไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดสัญญาณวิทยุรบกวน และดาวเทียมพุ่งชนโลก

ปัจจุบัน “ดาวเทียม” เพื่อการสื่อสารนับหมื่นดวง โดยส่วนมากใช้สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตกำลังโคจรอยู่ใน “วงโคจรต่ำของโลก” หรือ “LEO” (Low Earth Orbit) แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และความจำเป็นในการใช้ข้อมูล ทำให้ยังคงต้องส่งดาวเทียมขึ้นไปในวงโคจรอีกเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีดาวเทียมอีกราว 1 ล้านดวง ถูกยื่นเรื่องขอยิงขึ้นสู่ LEO ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่า อาจจะเกิดปัญหาไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับดาวเทียมดวงใหม่ที่จะถูกส่งขึ้นไป และแนะนำให้ออกกฎหมายควบคุม

งานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์การเมือง และนักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย พบว่ามีการยื่นเอกสารต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU หน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบสำหรับการจัดสรรพื้นที่ในวงโคจรให้แก่ดาวเทียมต่างๆ เพื่อขอส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรต่ำมากกว่า 1 ล้านดวง โดยต้องการจะโคจรรอบ “Mega-Constellations of Satellites” เครือข่ายดาวเทียมขนาดใหญ่ที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งอยู่บริเวณ LEO

ทั้งนี้ แม้ดาวเทียมจำนวน 1 ล้านดวง ที่อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารจะยังไม่ได้มีกำหนดเวลาชัดเจนว่า จะยิงขึ้นฟ้าเมื่อไหร่ แต่ด้วยจำนวนที่มากขนาดนั้น ถือว่า “น่าเป็นห่วง” มาก เพราะคิดเป็นจำนวนมากกว่าดาวเทียมที่ใช้งานได้ และกำลังโคจรอยู่รอบโลกในปัจจุบันถึง 115 เท่า

“หากดาวเทียมจำนวนหนึ่งล้านดวงถูกปล่อยออกไปจริงๆ ก็จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงที่ดาวเทียมจะชนกัน มลภาวะทางแสง และความเสี่ยงที่ดาวเทียมจะตกพุ่งชนโลก” แอนดรูว์ ฟอลเล นักวิจัยจากสถาบันอวกาศ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และผู้เขียนหลักของการวิจัยบอกกับ Space.com

การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรต่ำมากขึ้น แถบรอบโลกก็จะหนาแน่นจนแทบไม่มีที่ว่างสำหรับดาวเทียมดวงใหม่อีกต่อไป ทำให้บริษัทดาวเทียมยักษ์หลายแห่ง เช่น Starlink ในเครือ SpaceX ยื่นคำขอปล่อยดาวเทียมตั้งแต่ดาวเทียมยังไม่ได้เริ่มสร้างด้วยซ้ำ 

ฐานข้อมูลของ ITU แสดงให้เห็นว่าช่วงปี 2560-2565 พบว่า ดาวเทียมเล็กจำนวนมากขอโคจรรอบ Mega-Constellations เพื่อสร้างเครือข่ายในการให้บริการข้อมูล และจัดเก็บพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ของสล็อตพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ดาวเทียมดวงเล็กได้เข้ามาโคจรร่วม เช่น มีดาวเทียมขอโคจรรวมกับกลุ่มดาวเทียม Cinnamon-937 ของรวันดา ราว 337,320 ดวง

นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทที่มีการจดทะเบียนในหลายประเทศจะทำการยื่นเอกสารพร้อมกันจากหลายประเทศ เช่น SpaceX ยื่นเอกสารผ่านประเทศนอร์เวย์ เยอรมนี สหรัฐ และตองกา ส่วน OneWeb ยื่นเอกสารขอปล่อยดาวเทียมผ่านสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเม็กซิโก

อีกทั้งดาวเทียมหลายโครงการที่เคยยื่นขอปล่อยขึ้นสู่วงโคจรกลับต้องยุติโครงการไปเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน การเปลี่ยนแปลงในการสนับสนุนทางการเมือง ปัญหาทางวิศวกรรมหรือเทคโนโลยี ฯลฯ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาล และบริษัทต่างๆ ยื่นขอพื้นที่วงโคจรสำหรับดาวเทียมจำนวนที่มากกว่าที่ตั้งใจที่จะใช้งานจริง

  • มาตรการควบคุมจำนวนดาวเทียม

การยื่นขอปล่อยดาวเทียมจำนวนมากนี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนว่ามนุษยชาติกำลังท้าทายด้านความปลอดภัยและความยั่งยืนในการใช้พื้นที่วงโคจรของโลกอยู่

นักวิจัยกล่าวว่า จำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมวิทยุคมนาคมโลกในปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ดูไบ ที่รัฐสมาชิกของ ITU ทั้ง 193 ประเทศ และหน่วยงานกำกับดูแลคลื่นความถี่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ทบทวน และปรับปรุงกฎระเบียบด้านวิทยุ

เพื่อจัดการกับข้อกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพื้นที่วงโคจรที่มีลดลงจากการโคจรของดาวเทียม ในปี 2562 ITU ได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ที่บริษัทต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามเพื่อรักษาสิทธิในจุดโคจรของตน โดยให้ปล่อยกลุ่มดาวเทียม 10% ใน 2 ปีแรกนับจากดาวเทียมดวงแรกโคจรรอบโลก จากนั้นเพิ่มเป็น 50% ภายใน 5 ปี และปล่อยกลุ่มดาวเทียมทั้งหมดภายในปีที่เจ็ด

แม้ว่า ฟอลเลจะเห็นด้วยกับกฎของ ITU แต่เขามองว่าใช้เวลามากเกินไป เพราะกว่าจะรู้ว่ากลุ่มดาวเทียมใดที่ไม่ปฏิบัติตาม หรือปล่อยดาวเทียมน้อยกว่าจำนวนคำขอก็ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี

สำหรับการประชุมวิทยุคมนาคมโลกในปีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยดาวเทียมจำนวนมาก ซึ่งนักวิจัยเขียนในการศึกษานี้ได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ รวมถึงการจำกัดจำนวนดาวเทียมในแต่ละกลุ่มดาวเทียม เพิ่มค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอ และอาจให้ชำระหุ้นกู้คืน เมื่อเอาดาวเทียมออกจากวงโคจร (หรือปลดระวางดาวเทียมแล้ว) 

แนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะช่วยให้ ITU สามารถคาดการณ์จำนวนดาวเทียมที่จะถูกปล่อยจริงได้แม่นยำยิ่งขึ้น จะช่วยลดปัญหาขาดพื้นที่วงโคจร การรบกวนคลื่นความถี่วิทยุ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

การจัดการสภาพแวดล้อมที่แออัดมากขึ้นในวงโคจรโลกต่ำเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดที่เป็น และมวลมนุษยชาติต้องสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่กระจุกอยู่เพียงแต่บางบริษัท


ที่มา: PhysSpace

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์