อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

"จรรณวรรรญ วาสสกุล” จากเด็กในอุปการะของมูลนิธิศุภนิมิต ที่เข้ามาช่วยเหลือปัญหาความยากจน สู่เจ้าของกิจการ การยกระดับ “ถั่วลายเสือ” พืชท้องถิ่น ด้วยวิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างคุณค่าระดับ OTOP จ.แม่ฮ่องสอน แลนด์มาร์กที่ใครก็ต้องมาเยี่ยมชม

Key Point :

  • “คุณออย-จรรณวรรรญ วาสสกุล” จากเด็กในอุปการะมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่เข้ามาช่วยเหลือปัญหาความยากจน เด็กเปราะบางและเด็กยากไร้ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็ก ๆ และครอบครัว
  • ปัจจุบัน คุณออย ก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ที่คั่วด้วยวิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างคุณค่าระดับ OTOP จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทั้งนี้ “ถั่วลายเสือ” มีจุดเริ่มจากถั่ว “กาฬสินธุ์ 2 ” หรือ ถั่วสายพันธุ์พระราชทาน ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน

 

ถั่วลายเสือ ที่ผ่านการคั่วด้วยวิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการใช้เตาฟืนขนาดใหญ่ ที่นิยามไว้ว่าเป็น "ถั่วแห่งความสุข คั่วใหม่ทุกวัน" จากผู้ปลูก ผู้แปรรูป สู่ผู้บริโภค ปัจจุบัน เป็นสินค้า GI หรือ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) และ ขึ้นแท่นเป็นสินค้าระดับ OTOP จ.แม่ฮ่องสอน 

 

เส้นทางของ ถั่วลายเสือ เริ่มต้นจากถั่วที่มีชื่อว่า “กาฬสินธุ์ 2 ” หรือ ถั่วสายพันธุ์พระราชทาน และถูกยกระดับจากพืชที่ปลูกในท้องถิ่น โดย "จรรณวรรรญ วาสสกุล" อดีตเด็กในอุปการะของมูลนิธิศุภนิมิตรฯ สู่เจ้าของกิจการที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัด สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน 

 

อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

"จรรณวรรรญ วาสสกุล" หรือ คุณออย เจ้าของกิจการบ้านถั่วป่าปุ๊ จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เมื่อปี 2561 ได้กลับบ้านเกิดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและช่วงที่ยังว่างไม่มีงานทำได้ช่วยพ่อแม่ขายของหน้าบ้าน และได้รับซื้อถั่วชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรได้ปลูกในท้องถิ่น นำมาแปรรูปโดยวิธีการคั่วและบรรจุถุงจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว อีกทั้งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว

 

"เดิมจากถั่วที่มีชื่อว่า “กาฬสินธุ์ 2 ” หรือถั่วสายพันธุ์พระราชทาน กลับกลายเป็น “ถั่วลายเสือ” ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านแห่งนี้ได้ไม่น้อย ถั่วลายเสือถือเป็นผลผลิตจากชาวบ้านที่นำพันธุ์ของถั่วไปปลูก และเรียกชื่อว่า “ถั่วดินลาย” ซึ่งเป็นภาษาพื้นบ้าน แปลว่า ถั่วลิสงลาย" 

 

ต่อมามีเกษตรกร คือ แม่ของคุณออยผันตัวมาคั่วถั่วขาย จึงสนใจนำเอาถั่วชนิดนี้มาลองคั่วขาย และด้วยความที่ถั่วมีลักษณะลายคล้ายคลึงกับลายเสือลูกค้าจึงเรียกกันว่า “ถั่วลายเสือ” แล้วเรียกต่อ ๆ กันมา จนกลายเป็นคำเรียกที่ติดปากทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อตั้งแต่นั้นมา

 

อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

 

 

“คุณออย” จากเด็กอุปการะสู่เจ้าของกิจการ

ในอดีตครอบครัวของคุณออยประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วแปหล่อ แต่ไม่ใช่ที่ดินของตัวเองเป็นการเกษตรที่เกิดจาการเช่าพื้นที่เพื่อปลูกถั่ว ทำให้ค้าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ถั่วเองก็ขายไม่ค่อยได้ราคาหรือไม่บางครั้งแทบจะไม่ได้ขายเลย รายได้จึงไม่ค่อยดี ทำให้ฐานะทางบ้านในช่วงนั้นค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ยากจน

 

ในช่วงที่คุณออยกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอนุบาลบ้านป่าปุ๊ ซึ่งเป็นโรงเรียนในหมู่บ้าน คุณครูเห็นว่าคุณออยเป็นเด็กอยากจนที่เรียนดี จึงได้เสนอชื่อคุณออยเข้าโครงการมูลนิธิศุภนิมิตฯ

 

โดยแรกเริ่มจากที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน หลังจากขึ้นระดับมัธยมศึกษา จึงมีโครงการที่ช่วยเหลือทั้งครอบครัว เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับครอบครัว

 

คุณออย เล่าต่อไปว่า ผู้อุปการะมักจะส่งเงิน ส่งของ รวมถึงให้คุณออยได้เรียนพิเศษ เนื่องจากตนเป็นเด็กบ้านนอกไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนพิเศษเหมือนเด็กในเมือง เลยเรียนไม่ทันกับคนอื่น

 

หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ภาระในการใช้จ่ายของครอบครัวน้อยลง จากที่ต้องเสียค่าอุปกรณ์การเรียนที่มากก็น้อยลง และยังให้ความรู้ในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ทำให้ตัวคุณออยเป็นคนที่มีความกล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น มีภาวะความเป็นผู้นำจากการเข้าร่วมโครงการที่ทางมูลนิธิจัดให้

 

หลังจากเรียนจบจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เมื่อปี 2561 ได้กลับบ้านเกิดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับซื้อถั่วชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรได้ปลูกในท้องถิ่น นำมาแปรรูปโดยวิธีการคั่ว ซึ่งถั่วที่ขายได้ดีนั่นคือ “ถั่วลายเสือ” และบรรจุถุงจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว และถือเป็นกิจกการที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัดอีกด้วย

 

อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

 

จากภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่คุณค่าระดับ OTOP

ถั่วลายเสือ เป็นถั่วที่คั่วด้วยวิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน กันมายาวนานกว่า 7-8 ปี โดยการใช้เตาฟืนขนาดใหญ่ คั่วบนเกลือที่มีลักษณะละเอียดพิเศษ คือ เกลือบริสุทธิ์ที่มีไอโอดีนน้อย ด้วยความร้อน ที่แตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากถั่วไม่สามารถคั่วในเกลือที่มีไอโอดีนเยอะจนเกินไป เพราะจะทำให้รสชาติของถั่วเปลี่ยนไป รวมไปถึงการใช้ไม้พายขนาดใหญ่ในการคั่ว และใช้กระด้งในการคัดแยกเมล็ดของถั่ว การคั่ว 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ต่อถั่ว 1 กิโลกรัม 

 

นอกจากนี้ หากเกลือที่ใช้คั่วมีสีดำแล้ว สามารถนำไปให้เกษตรกรใช้ในการเกษตรแทนการใช้สารเคมี เช่น ใช้กำจัดศัตรูพืช วัชพืช อีกทั้งยังสามารถนำไปเลี้ยงวัวได้ หรือแม้แต่ถั่วที่คัดทิ้งก็ยังสามารถนำไปเป็นอาหารหมูและไก่ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการทำงานแบบวิถีชาวบ้านที่ร่วมด้วยช่วยกันในการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

 

ในด้านของผลประกอบการ คุณออย เล่าว่า ผลประกอบการที่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง แต่ทางร้านพยายามที่จะมีการขายออนไลน์ ซึ่งแต่เดิมจะขายได้เฉพาะช่วงเทศกาล หรือในฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธุ์ ทำให้ต้องมีการพัฒนาการตลาดเพื่อสร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี

 

"ซึ่งหน้าร้านออนไลน์ติดตามได้ทางเพจ Facebook “บ้านถั่ว แม่ฮ่องสอน” รวมถึง Shopee Lazada และกำลังทำในช่องทาง Tiktok อยู่เช่นเดียวกัน แต่ผลตอบรับยังไม่มากนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มที่จะทำ อย่างไรก็ตาม ตนพยายามที่จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพราะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมาตลอด เราต้องตามโลกให้ทัน ไม่อย่างนั้นจะขายไม่ได้ เพราะยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่เราต้องหาอาชีพให้และมีงานทำไปพร้อมกับเรา"

 

อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

 

ความภูมิใจที่อยากส่งต่อ

คุณออย เล่าถึงความภาคภูมิใจว่า ถั่วลายเสือ เป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านเป็นที่ได้รับการยอมรับและกลายเป็นแลนด์มาร์กที่ใครก็ต้องมาเยี่ยมชม รวมถึงศึกษาดูงานวิธีการทำจากคณะศึกษาดูงานต่าง ๆ เมื่อมาถึงแม่ฮ่องสอน และที่ขาดไปไม่ได้ คือ สินค้าเราการได้รับ GI (สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI หรือจีไอ) จากทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

อนาคตของ “ถั่วลายเสือ”

ในอนาคตคุณออยอยากให้ “ถั่วลายเสือ” ของหมู่บ้านถั่วมีมาตรฐานจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้กับสินค้า เพื่อวางขายในตลาดที่สูงขึ้น เนื่องจากภูมิปัญญาชาวบ้านของเราไม่สามามรถที่จะขอมาตราฐาน อย.ได้ จึงต้องศึกษากระบวนการ ข้อปรับปรุง เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิต เพื่อผลิตภัณฑ์จะสามารถวางขายในห้างสรรพสินค้า หรือสามารถวางขายในราคาที่สูงกว่านี้ได้

 

สรรพคุณ “ถั่วลายเสือ”

  • มีโปรตีนสูง เป็นถั่วที่ให้ปริมาณโปรตีนที่มากกว่าถั่วลิสงทั่วไป

 

ถั่วลายเสือ “สิ้นลาย”

นอกจาก “ถั่วลายเสือ” ที่ขายดีอยู่แล้วก็ยังมี “ถั่วเสือสิ้นลาย” ที่ใช้แนวความคิด เสือสิ้นลายตายสองรอบ ในการผลิต เนื่องจากลูกค้าอยากให้ถั่วมีความกรอบมากขึ้น ได้มีการคิดค้นวิธีการทำให้ถั่วเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า จึงลองเอาถั่วไปต้มก่อนที่จะนำมาคั่ว และผลที่ออกมาเป็นไปตามที่หวัง

 

ถั่วเสือสิ้นลายมีเรื่องราวอยู่ว่า ตายหนึ่งรอบตอนต้ม แล้วนำมาคั่วอีกรอบ คือ ตายรอบที่สอง กลายเป็นที่มาของ เสือสิ้นลายตายสองรอบ โดยจะมีรสชาติออกเค็มคล้ายคลึงกับถั่วลายเสือ แต่ถั่วเสือสิ้นลายจะมีความกรอบมากกว่าแต่มีลวดลายที่อ่อนกว่า กลายเป็น “ถั่วเสือสิ้นลาย”

 

อดีตเด็กอุปการะ สู่เจ้าของกิจการ “ถั่วลายเสือ” ระดับ OTOP แม่ฮ่องสอน

 

"บ้านถั่ว" กับความร่วมมือระดับองค์กร

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ( World Vision Foundation of Thailand) เป็นองค์กรสาธารณกุศลเพื่อการพัฒนาและการรณรงค์สร้างความยุติธรรมในสังคม ดำเนินพันธกิจเพื่อช่วยเหลือเด็ก ผ่านการทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชนเพื่อเอาชนะปัญหาความยากจนและความไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็ก

 

ปัจจุบันทำงานในประเทศไทยมาเกือบ 50 ปี ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา เด็ก ครอบครัว ชุมชนยากไร้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องศาสนา 72 พื้นที่ใน 42 จังหวัด โดยมุ่งเน้นด้านการอุปการะเด็กและการบรรเทาทุกข์ ตลอดจนการพัฒนาชุมชน โดยยังเน้นในการพัฒนาเด็กและครอบครัว ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง

 

ด้าน "ทิวากรณ์ หอมนาน" เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ที่ทำงานมาถึง 17 ปี กล่าวว่า มูลศุภนิมิตฯ เข้ามาช่วยเหลือปัญหาความยากจน เด็กเปราะบางและเด็กยากไร้ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในภาวะความยากจนระดับ Top 10 ของประเทศ

 

โดยเล็งเห็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก พร้อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ศุภนิมิตเองเป็นงานพัฒนา ไม่ใช่งานสงเคราะห์ แต่จะเป็นการ “ติดอาวุธทางปัญญา” ให้กับเด็ก ๆ และครอบครัว เช่น การให้วัว การให้หมูไปเลี้ยง แต่ทางศุภนิมิตจะให้ความรู้เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

 

มูลนิธิศุภนิมิต เข้ามามีส่วนร่วมเล็ก ๆ กับหมู่บ้านถั่วในการช่วยเหลือ ในสมัยอดีตครอบครัวคุณออยยังทำถั่วลายเสือเป็นอาชีพเสริม ซึ่งอาชีพเสริมเองก็ต้องใช้ทุน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการศึกษา ช่วยเหลือด้านของอาชีพเสริมให้กับครอบครัว เป็นสิ่งที่ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว และยังสามารถเก็บเป็นทุนก้อนเพิ่มเติมเพื่อขยายจากอาชีพเสริมจนกลายมาเป็นอาชีพหลักของครอบครัวได้ในปัจจุบัน

 

"ในอนาคตทางมูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังคงวางแผนที่จะเดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางต่อไป เนื่องจากยังคงมีเด็กอีกหลายคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ในส่วนของครอบครัวทางมูลนิธิศุภนิมิตจะส่งเสริมความรู้ เกี่ยวกับสิทธิเด็ก ที่ตอนนี้กำกำลังมาแรง และขับเคลื่อนพลังเสียงของเด็ก พลังเยาวชนให้มีสิทธิ์มีเสียงในการทำงานร่วมกับภาครัฐมากขึ้น" 

 

หาก มูลนิธิศุภนิมิตฯ ถอนตัวออกไป ผู้นำหรือเยาวชนจะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ ซึ่งการทำงานของศุภนิมิตไม่ได้ทำงานเพียงหนึ่ง แต่เราทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คริสตจักร ชุมชนและกลุ่มอาสาสมัคร ในการให้ความร่วมมือกันช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้อย่างยั่งยืน