แผนหนุนใช้“พลาสติกชีวภาพ” ด้วยมาตรการภาษีและจัดซื้อจัดจ้างรัฐ

แผนหนุนใช้“พลาสติกชีวภาพ”   ด้วยมาตรการภาษีและจัดซื้อจัดจ้างรัฐ

“พลาสติก” วัสดุจำเป็นทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงการจัดซื้อพัสดุและบริการในส่วนภาครัฐ แต่การใช้พลาสติกแต่ละครั้งก็อยู่บนความรู้สึกผิดเพราะ“พลาสติกย่อยสลาย” และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ได้รับทราบ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและผลการทบทวนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570 ระยะครึ่งแผน ที่ระบุถึงแผนกระตุ้นอุปสงค์การใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 

       กรมบัญชีกลาง ออกมาตรการส่งเสริมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดให้พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน

     ขณะที่ กรมสรรพากร ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 749) พ.ศ. 2565 เพื่อขยายระยะเวลามาตรการภาษีที่กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ 1.25 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จำนวน 11 ประเภท ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก จานชามถาดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกสำหรับเพาะชำ ฟิล์มคลุมหน้าดิน ขวดพลาสติก ฝาแก้วน้ำ และฟิล์มปิดฝาแก้ว

      ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ออกใบรับรองแล้วจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 102 ใบ รวม 8 บริษัท รวมทั้งออกประกาศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 19 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผลการดำเนินงานสะสม รวมทั้งสิ้น 346 มาตรฐาน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มเติม จำนวน 32 ผลิตภัณฑ์

      นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (CoBE) โดยให้สถาบันพลาสติก ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสาน เชื่อมโยงและเตรียมความพร้อม ตลอดจนบริหารงานวิจัย/ เทคโนโลยี/ นวัตกรรมด้านชีวภาพ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพ 

     โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยชีวภาพกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งกำหนดโครงสร้างข้อมูลนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพิกัดศุลกากร

แผนหนุนใช้“พลาสติกชีวภาพ”   ด้วยมาตรการภาษีและจัดซื้อจัดจ้างรัฐ

    จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวในงานสัมมนา 'A -PLAS 2024 Integrating Plastic Value Chain for Eco-Future' ว่า อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นภาพของต้นน้ำที่เชื่องโยงในมิติต่าง ๆ โดยมีปริมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 8% ของผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศไทย

   "ในเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพลาสติกหากต้องการเพิ่มมูลค่า จะเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกมาก ซึ่งข้อกังวลจากข้อกำหนด มุมการค้า แง่การดูแลรักษาโลก จะเป็นต้นทุนผู้ประกอบการ หากจะให้ไปถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากจะเดินไปลำพังจะไม่สามารถโตได้ จะต้องร่วมมือ ซึ่งปลายทางของอุตสาหกรรมพลาสติกมีมากมาย ทั้งภาคการขนส่ง ภาคบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ"

      ข้อมูลจากที่ประชุมครม.ยังระบุอีกว่า หากต้องการจะสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ การสร้างตลาด ก็ต้องเพิ่มมาตรการต่างๆเข้าไปอีก ได้แก่ การออกมาตรการภาคบังคับและกำหนดสัดส่วนการใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในการผลิต เช่น พลาสติกชีวภาพ PLA รวมทั้งกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีวภาพในกิจกรรมของภาครัฐ และกำหนดและใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อดีมานด์การใช้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อปริมาณการผลิตลดลงจนเป็นที่นิยมใช้กันได้ในวงกว้างและในอนาคตจะเกิดการใช้“พลาสติก”แบบไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป