TEI จับตาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย ปี 67 

TEI จับตาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย ปี 67 

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้เผยภาพรวมปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปี 2567

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงครองแชมป์ที่ทั่วโลกและประเทศไทยให้ความสำคัญ ในขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้มีการเพิ่มระดับความเข้มงวดปรับค่ามาตรฐานของPM 2.5

โดยปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ผู้เขียนได้เปิดเผยการคาดการณ์สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกที่ทั่วโลกจับตาคือ เรื่องของเชื้อเพลิงที่ใช้ ที่จะต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินหรือปิโตรเลียมไปสู่แหล่งพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ก่อนพ.ศ. 2593

ขณะเดียวกันการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงถึงการเตรียมพร้อมจัดการเรื่องของแบตเตอรี่และโซลาเซลล์ที่จะทยอยหมดอายุลง

ส่วนเรื่องของขยะ และน้ำเสีย หลายพื้นที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้จากปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือน้ำทะเลสีเขียว การจัดการขยะ ขยะพลาสติก และการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่วิกฤต รวมถึงการนำน้ำเสียมาใช้ประโยชน์

TEI จับตาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย ปี 67 

โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ใกล้แหล่งเกษตรกรรมและพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ที่จะต้องให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ปัญหาทรัพยากรน้ำ ก็เป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงควรมีการวางแผนการใช้ประโยชน์จากน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะที่เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า หลายประเทศก็ประสบปัญหาเช่นกัน และสำหรับประเทศไทยควรมีการบริหารการจัดการที่ดินป่าไม้ที่ดีและรวดเร็ว เช่น การปรับปรุงแผนที่โดยใช้แผนที่เดียวของประเทศ (One map)

TEI จับตาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย ปี 67 

การจัดการที่ดินให้ชุมชนพ่วงไปกับการทำเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การกำหนดนโยบายด้านที่ดินให้ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร

นอกจากนี้ประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 20 ของโลก เราจะมีการดำเนินการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยั่งยืนอย่างไร 

ทั้งนี้ TEI ขอเสนอ 6 มาตรการเร่งด่วนจัดการสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ประมง และกลุ่มเปราะบางด้วยการให้ความรู้ พร้อมส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำย่อย

สนับสนุนการวางแผนการปรับตัวในระดับพื้นที่โดยใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Eco-based Adaptation: EbA)  หรือ ระบบธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า (Nature-based Solution)

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการลดและคัดแยกขยะ และสร้างระบบที่เอื้ออำนวยความต่อการดำเนินการของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจหลักด้านนี้ 

TEI จับตาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย ปี 67 

3. การพัฒนาพลังงานทดแทนต่างๆ โดยเฉพาะ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลิกหรือลดใช้เชื้อเพลิง จากถ่านหิน หรือ ฟอสซิล ต้องมีความพร้อม การกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ในการเดินทางไปสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศ 

4.การเตรียมการพัฒนาระบบจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต การวิจัยพัฒนาการออกแบบให้สามารถนำทรัพยากรจากซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ 

5.สร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง การบุกรุกพื้นที่ป่า พร้อมสร้างความร่วมมือในการจัดทำแผนและดำเนินงานป้องกันหมอกควันข้ามแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรการควบคุมและส่งเสริมเกษตรกรลดการเผา รวมทั้งการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

6.สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกทางการเงิน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาศักยภาพภาคการผลิต ทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดของเสีย และลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ความสำคัญต่อกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME)

TEI จับตาสิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมไทย ปี 67 

ท้ายสุดนี้ TEI เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ลดผลกระทบต่อสังคม และการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green Ecomomy) โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเป็นส่วนเสริมเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน.