ชุมชนเมือง ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | TEI

ชุมชนเมือง ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | TEI

ชุมชนเมือง พัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การวางแผนยังไม่เพียงพอและทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ความต้องการและเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมามากมาย

ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาเมืองให้มีความรุนแรงมากยิ่งขี้น โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไม่มีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน 

ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การบริหารจัดการเมืองมีความยากและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิกฤตทางด้านอากาศและภัยพิบัติยังคงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคน กลุ่มคน ชุมชนต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน

ประเทศไทยได้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (รายงาน Global Climate Risk Index 2021 ของ German watch) ซึ่งวิกฤตทางด้านอากาศและภัยพิบัติยังคงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 

อีกทั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ได้เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า "โลกไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไขปัญหาที่สะสมมาได้อีกแล้ว” นั่นคือ การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสเพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกได้อีกต่อไป 

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะหนักและรุนแรงมากขึ้น ทุกคนบนโลกจะเผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเทศที่ยากจนและด้อยพัฒนา ขาดแคลนทรัพยากร ขาดการสนับสนุนปัจจัยที่สำคัญในการปรับตัวจะได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด 

ปัจจุบันยังมีชุมชนเมืองในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับผลกระทบ ทั้งจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ 
- ชุมชนบ่อยางที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนยากจนในเมืองและตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลซึ่งได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง 
- ชุมชนมิตรภาพและชุมชนศรีฐาน เมืองขอนแก่น เป็นชุมชนคนจนเมืองที่ตั้งถิ่นฐานแบบไม่เป็นทางการ อาศัยอยู่ริมทางรถไฟซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และชุมชนในเมืองบ้านไผ่เป็นชุมชนยากจนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ 

ชุมชนเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามธรรมชาติ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า ระบบระบายน้ำได้ ในขณะที่เมืองก็ยังคงมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้ชุมชนดังกล่าว ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงและไม่แน่นอนด้านที่อยู่อาศัย และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น 

จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ต้องให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ วางแผน และพัฒนาเมือง

เพื่อนำไปสู่การสร้างการเตรียมความพร้อมของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดความท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น 

ขอนแก่นในอดีตและปัจจุบัน

๐ การขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมด้วยภาคประชาสังคม

โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและได้ดำเนินงานและมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593 และแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพและทักษะของภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

เพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมของเมืองต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจากภัยพิบัติ ผ่านการกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ ทางโครงการได้นำวิธีการ และเครื่องมือสำหรับการประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทของภูมิภาคมาใช้ 

เพื่อค้นหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความเปราะบางของชุมชน และทำความเข้าใจว่ากลุ่มคนที่แตกต่างกันมีความเปราะบางต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนยากจน และกลุ่มสตรี และค้นหาปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและทำให้การบริหารจัดการเมืองเกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

โครงการ SUCCESS เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) มูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (CSNM) Maastricht University (UM) และองค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่นใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ

ประกอบด้วย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ศ.สุริชัย หวันแก้ว และ ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติที่ให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำการขับเคลื่อนโครงการ และมี ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา เป็นผู้พัฒนาโครงการและรับผิดชอบด้านวิชาการในฐานะผู้อำนวยการโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

"การประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำสู่การปรับตัวและเตรียมความพร้อมของเมืองและชุมชนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น 

ชุมชนเมือง ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | TEI

โครงการ SUCCESS ทำงานร่วมกันกับองค์กรภาคประชาสังคม สนับสนุนการศึกษาประเมินความเปราะบางของชุมชนเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 12 พื้นที่ใน 6 จังหวัด โดยประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การขาดแคลนน้ำ และการกัดเซาะชายฝั่ง 

ภาคใต้ ได้แก่ พะตง ปาดังเบซาร์ ควนลัง และบ่อยาง จ.สงขลา, โตนดด้วน จ.พัทลุง และละงู จ.สตูล

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น, สระใคร หนองคาย จ.หนองคาย, หนองสำโรง สามพร้าว จ.อุดรธานี.