3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567

3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567

เข้าสู่ปี 2567 ผมขอชวนทุกคนมาติดตาม ประเด็น ESG ที่เราควรสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG 2.การจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ และ 3.เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

สำหรับ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG เราเห็นกฎเกณฑ์ที่ประเทศต่างๆ เริ่มบังคับใช้ รวมถึงประกาศว่าจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ปีนี้และเร็วๆ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เพิ่มความเข้มข้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย

เช่น สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ยกเว้นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทใดเข้าข่ายนี้ ต้องรายงานข้อมูลภายใต้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (European Sustainability Reporting Standards : ESRS) ดังนั้นปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานตามมาตรฐาน ESRS เผยแพร่ในปี 2568

ขณะที่ สหรัฐ นอกจากกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM มาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเริ่มบังคับใช้ปี 2568 กับอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่นในปี 2570 ยังมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. การเปิดข้อมูลสภาพภูมิอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California’s New Climate Disclosure Rules) 2 ฉบับ คือ SB 253 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบขององค์กรต่อข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ และ SB 261 กฎหมายว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้อง แม้ พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้ปี 2568 แต่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2567 แต่ก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปลายปี เพราะหากเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ESG ได้

ทั้งนี้ มีอีกหลายประเทศเตรียมออกกฎหมายและมาตรฐานการรายงานคล้ายๆ กัน ซึ่งการรายงานที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยให้ผู้ลงทุนเห็นว่า หุ้นหรือตราสารหนี้ที่ลงทุนโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวม สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร

ประเด็นต่อมา การจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ เป็นอีกแนวโน้มสำคัญ ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ก็เริ่มให้ความสำคัญ มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรือกิจการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือหุ้นของบริษัทที่การปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจ Morningstar ที่ระบุว่า เจ้าของสินทรัพย์ 67% เชื่อว่า ESG สำคัญต่อนโยบายลงทุนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ประเด็นนี้จะกดดันให้บริษัทที่จะระดมทุนเพิ่ม ต้องพยายามปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ มิฉะนั้น อาจระดมทุนยากขึ้น

ประเด็นสุดท้าย เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน นานาประเทศและองค์กรทั่วโลก ให้ความสำคัญประเด็น ESG โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม สอดรับเป้าหมายที่โลกต้องเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกทำได้เร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่คาดว่ายังมาแรง จะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เป็นต้น

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ล้วนสำคัญกับการลงทุน มาพร้อมโอกาสและความท้าทาย ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน ในปี 2567 นี้ นักลงทุนคงได้เห็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ESG และ Climate ที่เรานำมาเป็นทางเลือกลงทุนเพิ่มเติมแน่นอนครับ